วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เผยระบบนิเวศทางเศรษฐกิจในปี 2560 ของวงการธุรกิจอาหารและการเกษตรไทย เอื้อต่อผู้ประกอบการและผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจอาหารมากขึ้น มีโอกาสประสบความสำเร็จในธุรกิจเพิ่มขึ้น พร้อมชี้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารยุคใหม่ต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมใน 3 ด้าน คือ 1) เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (Productivity) 2) พัฒนาด้านความปลอดภัย (Safety) 3) ผลิตอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ (Healthy & Wellness) ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมสนับสนุนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ในฐานะพันธมิตรหลักทางวิชาการด้านการจัดการธุรกิจอาหาร เตรียมเปิดโครงการ Food Tech StartUp ในอนาคตอันใกล้ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านธุรกิจอาหาร และเตรียมความพร้อมนักสร้างสรรค์นวัตกรรมธุรกิจอาหารเพื่อแข่งขันในเวทีระดับโลก
ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดงานสัมมนา SIE Seminar ตอนที่ 7 "FOOD TECH 4.0 ปั้นให้ปัง ดังแบบก้าวกระโดด"เมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคารมิว วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th
นายกิตติชัย ราชมหา ประธานสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า สถานการณ์การเลื่อนอันดับการส่งออกอาหารโลกของประเทศไทยขึ้นสู่อันดับที่ 13 ของโลก ถือเป็นสัญญาณที่ดีของประเทศไทย และจากสถานการณ์ดังกล่าว สามารถมองเป็นโอกาสสำคัญของเหล่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทุกขนาด ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ที่สามารถใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยผู้ประกอบการธุรกิจอาหารต้องตื่นตัวกับการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ เนื่องจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับตัวผลิตภัณฑ์และธุรกิจ อันจะนำไปสู่การแก้ไขข้อบกพร่องของประเทศไทย ที่มีการส่งออกวัตถุดิบอาหารจำนวนมาก แต่มีมูลค่าน้อย ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในเรื่องตัวเลขภาพรวมรายได้การส่งออกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นายกิตติชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจของวงการธุรกิจอาหารและการเกษตรในประเทศไทยมีการพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก มีกระแสสังคมในเรื่องการผลักดันให้ผู้ผลิตกลายเป็นผู้ประกอบการเองโดยไม่ผ่านมือพ่อค้าคนกลาง ประกอบกับแรงสนับสนุนจากการรวมกลุ่มของหน่วยงานภาครัฐ อาทิ โครงการ "เมืองนวัตกรรมอาหาร" (Food Innopolis) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่พร้อมทำหน้าที่เป็น "พี่เลี้ยง" หรือที่ปรึกษาในด้านการประกอบธุรกิจด้านอาหารและการเกษตรอย่างครบวงจร ทำให้ในปัจจุบันถือเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจอาหาร ที่จะมีโอกาสในการประสบความสำเร็จด้านธุรกิจเพิ่มขึ้น
นายกิตติชัย กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม เทรนด์ธุรกิจอาหารต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเติบโตทั้งห่วงโซ่คุณค่า (value chain) โดยผู้ประกอบการธุรกิจอาหารยุคใหม่ต้องรู้จักประยุกต์ใช้นวัตกรรมเข้าสู่ธุรกิจ โดยเน้นหลักที่การพัฒนา 3 หัวใจสำคัญของธุรกิจอาหารในยุคปัจจุบัน คือ
1) เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (Productivity) นวัตกรรมสามารถใช้เพื่อพัฒนาภาคการผลิต โดยเฉพาะในธุรกิจต้นน้ำ เช่น ผลิตผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ ให้มีปริมาณมากขึ้น รองรับกับการเติบโตของจำนวนผู้บริโภคทั่วโลก ตลอดจนลดอัตราการสูญเสียจากปัจจัยต่างๆ เช่น ปัญหาทางสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change)
2) พัฒนาด้านความปลอดภัย (Safety) ประเด็นด้านความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดในธุรกิจอาหาร ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยพัฒนาและควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยในทุกกระบวนการผลิตอาหาร
3) ผลิตอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ (Healthy & Wellness) อาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy & Functional Food) เป็นเทรนด์ระดับโลกที่ผู้บริโภคทุกประเทศให้ความสนใจเป็นอันดับ 1 โดยในปัจจุบันหัวใจหลักที่ใช้เป็นตัวตัดสินในตลาดธุรกิจอาหาร คือ การคิดค้นและพัฒนาอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอาหารสุขภาพเพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย (Aging Society)
ทั้งนี้ ภายในช่วงต้นปี 2560 นี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พร้อมด้วยสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะพันธมิตรหลักด้านวิชาการ การบริหารจัดการธุรกิจอาหาร (food business management) เตรียมพร้อมจัดโครงการ Food Tech Startup เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพธุรกิจอาหาร นำเสนอไอเดียธุรกิจต่อนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการสตาร์ทอัพไทยแลนด์ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านธุรกิจอาหาร และเตรียมความพร้อมนักสร้างสรรค์นวัตกรรมธุรกิจอาหารเพื่อแข่งขันในเวทีระดับโลก หรือ Global Food Innovation Contest ของทาง Global Entrepreneurial Network (GEN) ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหารของประเทศไทย เพิ่มศักยภาพด้านการสร้างมูลค่าอาหารด้วยนวัตกรรมให้กับประเทศ เพื่อความสำเร็จในการเป็นแหล่งอาหารของโลกอย่างเต็มรูปแบบ นายกิตติชัย กล่าวต่อ
อย่างไรก็ดี สาขาการจัดการธุรกิจอาหาร ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาโทด้านการบริหารจัดการธุรกิจอาหารแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่รวบรวมนักศึกษาจากบุคลากรในธุรกิจอาหารทุกระดับ ทั้งผู้ริเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพธุรกิจอาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารขนาดกลางและขนาดย่อม และพนักงานระดับบริหารขององค์กรด้านอาหารขนาดใหญ่ ทำให้สาขาดังกล่าวนี้สามารถเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญด้านการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทย นายกิตติชัย กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ผศ.ดร. อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า เดิมประเทศไทยเคยติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่ส่งออกอาหารมากที่สุดของโลก แต่ปัจจุบันอันดับได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัญหาที่ว่าประเทศไทยส่งออกวัตถุดิบอาหารจำนวนมาก แต่มูลค่าน้อย ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศที่มีการเพิ่มมูลค่าเข้าสู่อาหารด้วยกรรมวิธีและนวัตกรรมต่างๆ ด้วยปัญหาต่างๆ เหล่านี้ "เมืองนวัตกรรมอาหาร" (Food Innopolis) จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ที่มีความได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารโลก ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมเข้าสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อเสริมแกร่งศักยภาพในการแข่งขันระดับเวทีโลก
โครงการ "เมืองนวัตกรรมอาหาร" หรือ Food Innopolis เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนา 2 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง 35 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทุกระดับให้ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ผ่านการบริการให้คำปรึกษาด้านต่างๆ อาทิ การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อการพัฒนาด้านศึกษาวิจัย (Networking for Research and Development) และการต่อยอดธุรกิจเพื่อตีตลาดต่างประเทศ (Business Accelerator) ผศ.ดร. อัครวิทย์ กล่าวเสริม
ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดงานสัมมนา SIE Seminar ตอนที่ 7 "FOOD TECH 4.0 ปั้นให้ปัง ดังแบบก้าวกระโดด"เมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคารมิว วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th