ดร.เบญจรงค์ วังคะฮาด ผู้จัดการฝ่ายดูแลติดตามผลิตภัณฑ์ บริษัท ซินเจนทา ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาปุ๋ยเพื่อการเกษตรนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับ ศูนย์พัฒนาปุ๋ยเพื่อการเกษตรInternational Fertilizer Development Center หรือ IFDC และ United States Agency for International Development หรือ USAID เกิดขึ้นในความตระหนักว่า สาธารณรัฐเมียนมา ถือเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย คือราว 678,500 ตารางกิโลเมตร และเป็นพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 18% ของพื้นที่ทั้งหมด มีประชากรประมาณ 54 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่ยังดำรงชีวิตเกี่ยวพันกับภาคการเกษตร แต่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้กำลังการผลิตด้านการเกษตรของเมียนมาไม่ประสบความสำเร็จจากการสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรนักเป็นเพราะ การเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิต ระบบการชลประทาน เมล็ดพันธุ์ ตลอดจนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารอารักขาพืช เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตในการเพาะปลูก
โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่ออบรมการใช้สารอารักขาพืชให้แก่เกษตรกรอย่างปลอดภัย ตั้งแต่การเลือกซื้อ การจัดเก็บ การใช้ ไปจนถึงการจัดการกับบรรจุภัณฑ์ โดยมีซินเจนทาเป็นวิทยากรหลัก เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สารอารักขาพืชและเมล็ดพันธุ์แก่ผู้ค้าปลีกธุรกิจผลิตภัณฑ์เกษตรในเมียนมา เพราะธรรมชาติของการให้ความรู้แก่เกษตรกรในเมียนมา ร้านค้าปลีกยังเป็นแหล่งข้อมูลเกษตรกรนั่นเอง
ก่อนการจัดหลักสูตรอบรม ทีมซินเจนทาได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหา และความต้องการของเกษตรกรในเมียนมา เนื่องจากพื้นที่การเกษตรของเมียนมา ยังถือเป็นพื้นที่ใหม่ ที่ต้องรวบรวมข้อมูลพืชที่เพาะปลูก ลักษณะภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมของเกษตรกร โดยพื้นที่นำร่องหลักคือเมืองย่างกุ้ง และรัฐฉาน "หลังการสำรวจพื้นที่พบว่าเกษตรกรของเมียนมา ขาดความเข้าใจ เกี่ยวกับการเลือกเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ โรคพืช และแมลงศัตรูพืช การใช้สารอารักขาพืชที่ถูกต้อง การจัดเก็บ และการจัดการกับบรรจุภัณฑ์หลังการใช้ รวมถึงการสวมอุปกรณ์ป้องกันขณะฉีดพ่นหรือใช้สาร โดยตั้งเป้าอบรมผู้ประกอบการในย่างกุ้ง จำนวน 180 ร้าน และที่รัฐฉาน 300 ร้าน โดยในพื้นที่เขตย่างกุ้งนั้นเป็นพื้นที่สำคัญในการเพาะปลูกข้าว ส่วนในพื้นที่รัฐฉานเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ ซึ่งมีข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ" ดร.เบญจรงค์กล่าว
นางโอมายี ผู้ค้าปลีกจากเมืองชเวยอง ตั้งอยู่ตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐฉาน ได้พูดถึงทิศทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารอารักขาพืช เมล็ดพันธุ์และอุปกรณ์การเกษตรในพื้นที่ว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะพบปัญหาจากโรคพืชและแมลง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและอากาศในพื้นที่รัฐฉาน ไม่ค่อยแน่นอน บางครั้งฤดูฝนมาล่าช้า หรือตกลงมาช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตจึงทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหายการอบรมครั้งนี้ ทำให้เธอเข้าใจว่าการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพการเพาะปลูก การดูแลที่เข้าใจสภาพปัญหาของโรคและแมลงศัตรูพืช จะช่วยให้ผลผลิตสูงขึ้น และเธอเชื่อว่าความรู้ที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้จะช่วยให้เกษตรกรเข้าใจการดูแลผลผลิตของตนมากขึ้น
จากนโยบายการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับการลงทุนของบริษัทข้ามชาติในทุกมิติของรัฐบาล เมียนมา จึงมียอดจำหน่ายสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยี อุปกรณ์การเกษตร และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากประเทศเข้าไปจำหน่ายต่อเนื่อง โดยเมียนมาร์ มีสินค้าค้าส่งออกสำคัญคือข้าวเช่นเดียวกับไทย ข้าวโพด ผัก ยางพารา และไม้เนื้อแข็งส่งออก แต่ปัญหาสำคัญยังเป็นเรื่องของการเข้าถึง ตลาดกลางจัดจำหน่ายสินค้า ระบบชลประทาน การเข้าถึงองค์ความรู้เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบการผลิตของภาคการเกษตร การจัดอบรมในลักษณะดังกล่าวจึงถือเป็นการเข้าถึงตัวเกษตรกร การอบรมครั้งนี้จึงเป็นการเตรียมความพร้อมเบื้องต้นให้กับเกษตรกรในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้แก่ภูมิภาคนั่นเอง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit