วันพุธที่ 28 ธันวาคม 2559 เวลา15.00-16.30 น. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.โดย สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7)และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี จัดให้มีพิธีลงนามข้อตกลงสนับสนุนงบประมาณจำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการส่งเสริมความสามารถด้านบริหารจัดการของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดสุพรรณบุรีและ 2) โครงการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองโบราณอู่ทองกับประเทศเพื่อนบ้านใน AEC ณ ห้องประชุมสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
นายสมจินต์ ชาญกระบี่ รองผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7) กล่าวว่า เมืองโบราณอู่ทองเป็นต้นกำเนิดประวัติศาสตร์อารยธรรมสมัยทวารวดีที่ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของชาติพันธุ์ที่หลากหลาย อาทิ ไทย จีน ลาวครั่ง แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทอง ต้องการที่จะพลิกฟื้นเมืองโบราณแห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยการสืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับการก่อเกิดชนชาติไทยให้มีความชัดเจนมากขึ้น และเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งดำเนินการเพื่อบริหารจัดการการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวอย่างมีมาตรฐาน โครงการส่งเสริมความสามารถด้านบริหารจัดการของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ อพท. และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ร่วมมือกันในครั้งนี้ อพท.ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 500,000 บาท เพื่อให้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรีดำเนินการสำรวจข้อมูลและจัดเก็บข้อมูลหน่วยงาน องค์กร ชุมชนและหมู่บ้านตลอดจนผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในเมืองโบราณอู่ทอง เพื่อทำการคัดเลือกหน่วยงาน/องค์กร/ชุมชน ที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นกลไกสำคัญของระบบบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวเมืองโบราณอู่ทอง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในการสร้างเครือข่ายให้กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่ง อพท.มั่นใจว่าสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรีจะเป็นแกนกลางในการต่อเชื่อมกับหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรียังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อพท. จำนวน 2,000,000 บาท เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างเมืองโบราณอู่ทองกับเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญในประเทศเพื่อนบ้าน AEC ผ่าน โครงการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองโบราณอู่ทองกับประเทศเพื่อนบ้านใน AEC เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการจัดกิจกรรมการตลาด การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว และกิจกรรมพัฒนาความรู้ความเข้าใจในความสัมพันธ์ทั้งด้านประวัติศาสตร์ อารยธรรมและพระพุทธศาสนาที่เชื่อมโยงเมืองโบราณอู่ทองกับประเทศใน AEC
ทันตแพทย์อนุศักดิ์ คงมาลัย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี ชี้แจงว่า ในวันนี้ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณจาก อพท. จำนวน 2 โครงการ คือ
1. โครงการส่งเสริมความสามารถด้านบริหารจัดการของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดสุพรรณบุรี และ
2. โครงการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองโบราณอู่ทองกับประเทศเพื่อนบ้านใน AEC
ซึ่งภารกิจทั้งหมดสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี จะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก อพท.ทั้ง 2 โครงการนี้
ทันตแพทย์อนุศักดิ์ คงมาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ อพท.เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยวในระดับพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองให้เชื่อมโยงไปสู่จังหวัดสุพรรณบุรีและเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือไปยังประเทศเพื่อนบ้านใน AEC ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรีให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งภายใต้ โครงการส่งเสริมความสามารถด้านบริหารจัดการของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดสุพรรณบุรี หลังจากทำการรวบรวมฐานข้อมูลผู้ประกอบการการท่องเที่ยว รวมทั้งข้อมูลหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว จะมีการคัดเลือกหน่วยงานศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างน้อย 2 ชุมชน/หมู่บ้าน มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชุมชนร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว จำนวน 2 ครั้ง มีการจัดอบรมเพิ่มขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการให้กับบุคลากรในหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว จำนวน 2 ครั้ง
สำหรับ โครงการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองโบราณอู่ทองกับประเทศเพื่อนบ้านใน AECผลสัมฤทธิ์ของโครงการจะได้ผลงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างเมืองโบราณอู่ทองกับเมืองท่องเที่ยวสำคัญในประเทศเพื่อนบ้าน AEC จำนวน 1 เล่มตลอดจนมีการลงพื้นที่สร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเส้นทางการเรียนรู้ AEC และจัดกิจกรรมการตลาด การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวระหว่างกันจำนวน 2 ครั้ง (ในประเทศหรือต่างประเทศ) และจัดกิจกรรมอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อารยธรรม และพระพุทธศาสนาใน AEC ให้กับผู้ประกอบการ ชุมชน องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 ครั้ง