พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2560 เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 445 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 87 ราย ผู้บาดเจ็บ 465 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 37.53 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 33.03 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.06 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.94 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.53 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.30 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 29.66 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 47.04 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,036 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,314 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 686,004 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี 113,728 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 31,721 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 31,053 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (25 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี (25 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (23 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 5 วัน (29 ธ.ค.59 – 2 ม.ค.60) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,157 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 367 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,342 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (129 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี (31 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (137 คน) ทั้งนี้ จากข้อมูลปริมาณรถของศูนย์ปฏิบัติการคมนาคม พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2559 – 2 มกราคม 2560 มีปริมาณรถบนท้องถนนทั้งขาเข้าและขาออกกรุงเทพฯ จำนวน 4,527,540 คัน เมื่อเทียบกับช่วงปกติมีปริมาณรถ 3,477,216 คัน เพิ่มขึ้น จำนวน 1,050,324 คัน คิดเป็นร้อยละ 30.21 จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของวันหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ทำให้การจราจรในบางเส้นทางเริ่มติดขัด ประกอบกับความอ่อนล้าของผู้ขับขี่เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จึงได้สั่งกำชับจังหวัดให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการจราจร ปรับย้ายและเพิ่มจำนวนจุดตรวจ จุดบริการ และจุดอำนวยความสะดวกบนเส้นทางสายหลัก โดยเฉพาะเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพฯ และเชื่อมต่อจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะเส้นทางตรงระยะทางยาวที่สามารถทำความเร็วได้ เพื่อคุมเข้มการขับรถเร็ว การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย และพฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย พร้อมเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจ เพื่อประเมินความพร้อมในการขับรถของผู้ขับขี่ พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง รถตู้โดยสาร และรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสาร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุใหญ่ ทั้งนี้ ในการดำเนินงานให้มุ่งเน้นการดูแลความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ควบคู่กับการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง โดยเปิดช่องทางพิเศษเพิ่มเติม และปรับสัญญาณไฟให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจร ที่สำคัญ ให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการดำเนินมาตรการยึดรถผู้ที่เมาแล้วขับอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชนในทุกเส้นทาง
นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้จังหวัด และอำเภอใช้กลไกของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2560 ในการดูแลความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะการดำเนินมาตรการ "1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย" เพื่อส่งเสริมการสร้างวินัยจราจร พร้อมเพิ่มจำนวนจุดพักรถ จุดบริการบนเส้นทางสายหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและให้บริการข้อมูลสภาพเส้นทาง และบริการตรวจสอบสภาพรถ ซึ่งจะช่วยชะลอความเร็วในการขับรถ โดยเฉพาะจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ให้ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก ถอดบทเรียน เพื่อค้นหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุที่จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการและกลยุทธ์ในการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 5 วันที่ผ่านมา สถานการณ์อุบัติเหตุยังน่าเป็นห่วง จำนวนอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับสูง นายกรัฐมนตรีห่วงใยความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน จึงได้สั่งการให้ ศปถ.ประสานจังหวัดและทุกภาคส่วนดำเนินมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง เน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ โดยร่วมกันกำหนดมาตรการและวางกลยุทธ์ในการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ นอกจากนี้ วันนี้ประชาชนต่างเร่งทยอยเดินทางกลับ โดยส่วนใหญ่มักขับรถด้วยความเร็วสูง แต่ด้วยปริมาณการจราจรที่ติดขัด ทำให้ผู้ขับขี่มักขับแซงในระยะกระชั้นชิด ขับบนไหล่ทาง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัดกวดขันผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ เพิ่มจุดตรวจ จุดพักรถบนเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพฯ กำชับจุดตรวจเรียกตรวจเพื่อประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ รถตู้โดยสาร รถทัวร์ท่องเที่ยว เพื่อป้องกันการหลับใน ท้ายนี้ ฝากเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถ โดยเฉพาะเส้นทางที่มีร้านค้าริมทาง พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็ว หากมีอาการง่วงนอน ให้จอดพักรถตามจุดบริการ สถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้ทุกการเดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย