บก.ปอศ. บุกจับองค์กรธุรกิจละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ พบครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปี 2558

01 Jul 2016
บก.ปอศ. บุกจับองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและผิดกฎหมาย พบเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในครึ่งปีแรกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) รายงานผลการบุกจับและดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจ 111 แห่ง พบใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ มูลค่าความเสียหายเกือบ 200 ล้านบาท ติดตั้งบนคอมพิวเตอร์จำนวนกว่า 1,100 เครื่อง ส่วนหนึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
บก.ปอศ. บุกจับองค์กรธุรกิจละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ พบครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปี 2558

บก.ปอศ. กำลังเร่งเครื่องปราบปรามองค์กรธุรกิจ เพื่อลดการใช้ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ สาเหตุหนึ่งของการถูกมัลแวร์โจมตี ที่กำลังสร้างความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและความมั่นคงปลอดภัย

จากรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ที่ถูกจับและดำเนินคดีอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง วิศวกรรมและออกแบบ ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และนครปฐม เป็นต้น ราวร้อยละ 86.9 มีคนไทยเป็นเจ้าของ ส่วนที่เหลือชาวต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้น เช่น ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย อเมริกัน อิสราเอล และสวีเดน

"การเข้าตรวจค้น จับ และดำเนินคดี เกิดขึ้นทุกวัน" พ.ต.อ.ปภัชเดช เกตุพันธ์ รองผู้บังคับการ บก.ปอศ. กล่าว "การใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังและกำลังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย ถือเป็นปัญหาที่สำคัญ และเราจำเป็นต้องแก้ปัญหาดังกล่าวผ่านการบังคับใช้กฎหมายไปพร้อมกับการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องความเสี่ยงด้านกฎหมายและความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์หรือของระบบคอมพิวเตอร์ ที่เกิดจากการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ"

บก.ปอศ. มีการตรวจค้น จับ และดำเนินคดีทุกสัปดาห์ตลอดปีนี้

ในบรรดาองค์กรธุรกิจที่ถูกจับและดำเนินคดี มีบริษัทจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างรายใหญ่ ที่มีสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และนครปฐม พบซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 45 เครื่อง นอกจากนี้ ยังพบโรงงานผลิตแบบพิมพ์ไดคัท ของผู้ถือหุ้นชาวไทยและญี่ปุ่นในจังหวัดสมุทรปราการ ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบนเครื่องคอมพิวเตอร์ 41 เครื่อง ซอฟต์แวร์ของบริษัทไมโครซอฟท์ และไทยซอฟท์แวร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ ถูกพบละเมิดลิขสิทธิ์ในบริษัทดังกล่าว

"ความเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์จากการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ อาจทำให้องค์กรธุรกิจเสียหายด้านการเงิน ถูกละเมิดหรือขโมยข้อมูล ชื่อเสียงถูกทำลาย และอื่นๆ" พ.ต.อ.ปภัชเดช กล่าว "ซีอีโอและผู้บริหารควรต้องจัดการอย่างจริงจังเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว เพราะพวกท่านอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญาในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์และความเสียหายอื่นที่ตามมาดังกล่าว"

ขั้นตอนแรกที่สำคัญในลดความเสี่ยงต่อความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ คือ ตรวจสอบการใช้ซอฟต์แวร์ว่ามีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

เร็วๆ นี้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ได้จัดทำโครงการรณรงค์ระดับประเทศประจำปี 2559 หัวข้อ 'Safe Software, Safe Nation' เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขององค์กรธุรกิจให้หันมาใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ไทยเป็นหนึ่งประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่สามารถลดอัตราการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิได้ชัดเจน

ประชาชนรายงานการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในองค์กรธุรกิจเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสผ่านทางสายด่วนที่ 02-714-1010 หรือระบบออนไลน์ จะถูกเก็บเป็นความลับ โดยท่านศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.stop.in.th