มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง รัฐกับนโยบายจัดการศึกษาเรียนฟรี 15 ปี

30 Jun 2016
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง รัฐกับนโยบายจัดการศึกษาเรียนฟรี 15 ปี :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,104 ตัวอย่างจากจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายขั้น (Stratified Multi-Stage Sampling) จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 17- 22 มิถุนายน 2559 ผลการสำรวจ พบว่า

เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนถึงการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าตัวอย่างร้อยละ 51.6 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 34.6 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 11.1 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 2.4 ติดตามเป็นบางวัน และร้อยละ 0.3 ระบุไม่ได้ติดตามเลย ทั้งนี้แกนนำชุมชนประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 33.0 ระบุติดตามข้อมูลข่าวสารกรณี หัวหน้าคสช.ได้ประกาศใช้มาตรา 44 ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี 15 ปีมาอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 58.2 ระบุติดตามบ้าง และร้อยละ 8.8 ระบุไม่ได้ติดตามข่าวเรื่องนี้เลย

โดยเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็น กรณีการประกาศใช้นโยบายเรียนฟรี 15 ปีของ คสช.ในขณะนี้นั้น เหมาะสมกับสถานการณ์ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาของประเทศที่เป็นอยู่หรือไม่ พบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่คือร้อยละ 92.5 ระบุมีความเหมาะสม โดยมีเพียงร้อยละ 7.5 เท่านั้นที่ระบุไม่เหมาะสม และเกือบร้อยละร้อย (ร้อยละ97.5 ) ระบุคิดว่านโยบายเรียนฟรีจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของพ่อแม่ผู้ปกครองลงได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับนโยบายเรียนฟรี 15 ปีในประเด็นสำคัญต่างๆ นั้น ผลการสำรวจพบว่า ในประเด็น "ความเท่าเทียมกันในการได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้" ร้อยละ 26.2 ระบุรู้สึกกังวล ในขณะที่ร้อยละ 73.8 ไม่รู้สึกกังวล ประเด็น "การได้รับโอกาสของนักเรียนยากจนในพื้นที่ห่างไกล" ร้อยละ 35.3 ระบุรู้สึกกังวล ในขณะที่ร้อยละ 64.7 ไม่รู้สึกกังวล ประเด็น "คุณภาพของการจัดการศึกษา" ร้อยละ 34.3 ระบุรู้สึกกังวล ในขณะที่ร้อยละ 65.7 ไม่รู้สึกกังวล นอกจากนี้ในประเด็น "ความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายนี้" พบว่า ร้อยละ 34.1 ระบุรู้สึกกังวล ในขณะที่ร้อยละ 65.9 ไม่รู้สึกกังวล ประเด็น "ความโปร่งใสในการจัดสรรงบประมาณ" พบว่า ร้อยละ 38.5 ระบุรู้สึกกังวล ในขณะที่ร้อยละ 61.5 ไม่รู้สึกกังวล และสำหรับประเด็น "การตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบาย" พบว่า ร้อยละ 28.3 ระบุรู้สึกกังวล ในขณะที่ร้อยละ 71.7 ไม่รู้สึกกังวล

เช่นเดียวกันกับเมื่อสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนถึงความเชื่อมั่นกรณีนโยบายเรียนฟรี 15 ปีจะช่วยลดปัญหาการเรียกเก็บค่าแป๊ะเจี๊ยะ ส่วยโรงเรียน หรือค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นๆ ได้นั้น พบว่า ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 90.7 ) เชื่อมั่นว่าจะช่วยลดปัญหานี้ได้ โดยพบว่ามีเพียงร้อยละ 9.3 ที่ระบุไม่เชื่อว่าจะลดปัญหานี้ลงได้

ประเด็นสำคัญสุดท้าย เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึง ความเชื่อมั่นกรณีนโยบายเรียนฟรี 15 ปีจะช่วยยกระดับคุณภาพของระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้นได้หรือไม่นั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 96.0 ระบุเชื่อมั่นว่าจะเป็นเช่นนั่น ในขณะที่ร้อยละ 4.0 ระบุไม่เชื่อมั่น

คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม

ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 88.9 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 11.1 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 4.3 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 26.1 ระบุอายุ 40-49 ปีและร้อยละ 69.6 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้น ไป ทั้งนี้ เมื่อ พิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 32.8 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 45.5 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 5.7 สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. และร้อยละ 16.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ

ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 71.5 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 15.6 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ 12.9 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 14.4 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 18.9 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,001–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 25.5 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 41.2 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามรายภูมิภาคพบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 33.8 อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือร้อยละ 25.5 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ร้อยละ 18.4 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ร้อยละ 13.5 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะที่ร้อยละ 8.8 ระบุอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ