ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ศิลปะและการแสดงให้แก่ผู้คนในวงการศิลปะและ การแสดงอย่างทรงคุณค่าแล้วยังช่วยต่อยอดการพัฒนาศึกษาด้านศิลปะการแสดงให้แก่นักเรียน นิสิตนักศึกษาและนักแสดงทั้งไทยและต่างชาติ จนนำไปสู่การได้มีอาชีพนักแสดงในแวดวงบันเทิงอย่างที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ใฝ่ฝันก็เป็นได้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ระวิวรรณ วรรณวิไชย คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว กล่าวว่า "ปีที่ 6 นี้เราอยากให้ตอบโจทย์ความเป็นอาเซียนให้มากที่สุดจากการที่เรามีเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมที่ได้ไปศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะการแสดงจากประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยที่จะดูศิลปะการแสดง นาฎศิลป์ทั้งไทยและสากลของสถาบันการศึกษาภายในประเทศที่มีความผูกพันกัน เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนคราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รวมไปถึงการแสดงที่ตื่นเต้น สนุกสนาน น่าดูน่าชมครบเครื่องจากอิตาลี เม็กซิกัน ออสเตรเลีย และการแสดงชุดพิเศษ 'สายใยซิ่นไหม' ซึ่งเป็นชุดการแสดงที่เราสร้างสรรค์ใหม่ ใช้ผู้รำเป็นนิสิตที่เรียนสาขานาฎศิลป์ไทย ท่ารำสื่อถึงอากัปกิริยาการสาวไหม การทอผ้าไหมของชาวบ้านในชุมชนที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงส่งเสริมสนับสนุนให้มีการทอผ้า เราต้องการที่จะเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านในเรื่องที่ท่านทรงโปรโมทผ้าไหมไทยให้ชาวต่างชาติรู้จักและชื่นชอบเพราะเป็นของดีของไทย ผนวกกับเมื่อมาประดิษฐ์ท่ารำ ใช้เส้นฝ้ายดิบมาสื่อก็ยิ่งทำให้การแสดงชุดนี้งดงาม เข้าใจได้ง่าย และสะท้อนวัฒนธรรมไทย เอกลักษณ์ไทยในแบบนาฎศิลป์ดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีการแสดงชุด 'ศูรปนักขาหึง' และการแสดงชุด Lady of Siam ที่ให้ทั้งอรรถรสของนาฎศิลป์ดั้งเดิมและสมัยใหม่ แต่ก็เชื่อว่าการแสดงจากทุกประเทศทุกเครือข่ายนั้นได้นำการแสดงชุดที่ดีที่สุด สวยงามที่สุดและทรงคุณค่ามากมาที่จะทำให้เห็นว่าศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรมและเครื่องดนตรี ดีด สี ตี เป่า ผสมผสานกันอย่าไพเราะเพราะพริ้งและส่งให้การแสดงนั้นๆ งดงามยิ่งใหญ่สมการรอคอยมากเพียงใด สิ่งเหล่านี้อยากให้เป็นแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่ที่อยากจะมีอาชีพเป็นนักแสดงได้ดูชมศิลปะการแสดงร่วมสมัยหรือที่เป็นแบบดั้งเดิมของนาฏศิลป์ เพราะตลอดเวลา 23 ปีของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว ก็ได้สั่งสมชื่อเสียงด้านการผลิตนักแสดงมืออาชีพและทุกสาขาไปสู่การรับใช้สังคมจนเป็นที่ประจักษ์กันดีทั่วไป"
มหกรรมการแสดงศิลปะและดนตรีที่มีคุณค่าและทรงพลังครั้งนี้ มีกิจกรรมหลากหลายจากทุกเครือข่ายสถาบันและโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ทุกเพศทุกวัย ที่ต่างพากันมาร่วม workshop กันอย่างสนุกสนาน ทั้งการอบรมทฤษฎี ปฏิบัติจริงกับนาฎศิลป์อาเซียน Mexican folk dance ดนตรีอาเซียน (วงกาเมลัน) ดนตรีชนเผ่ากะเหรี่ยง เครื่องดนตรีอังกะลุงและการวาดภาพสีน้ำ เป็นต้น ส่วนไฮไลท์ของการแสดงที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดระดับภูมิภาคที่คัดสรรมาสู่สายตาของผู้ชมมีด้วยกันถึง 8 ประเทศ 10 สถาบันการศึกษาไทย ได้แก่ การแสดงนาฎศิลป์ไทยชุด "สายใยซิ่นไหม" จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในชื่อของผ้าไหมศิลปาชีพ ท่วงท่าลีลาการร่ายรำฟ้อนของนักแสดง นิสิตสาขานาฎศิลป์ไทย-สากลทั้งอ่อนช้อยและงดงามอย่างยิ่ง ขณะที่การแสดงจากอินโดนีเซียในชุด "Modern Gamelan Music" ที่ตื่นตาตื่นใจในท่วงท่าการร่ายรำทั้งดุดันและอ่อนช้อย เข้มแข็งและอ่อนหวานผนวกกับสีสันและความอลังการของเครื่องดนตรีกาเมลันแบบดั้งเดิม ตลอดจนการแสดงจากสถาบันต่างๆ ได้แก่ ชุด อาศิรวาท จาก มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สิริพระชนมายุ 60 พรรษา การแสดงชุด Indonesian Angklung Enserrble Golet Mannis จากอินโดนีเซีย เป็นการร้องรำผสมผสานเครื่องดนตรีอังกะลุงผ่านการสร้างสรรค์บทเพลงโดเรมีในเวอร์ชั่นร่วมสมัย การแสดงชุด เภรีเอกราช จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วนศ.อ่างทอง / ชุดThingyan yein จากเมียนมาร์ การแสดงชุด ไภษัชยคุรุสักการะ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา / ชุด จันทเสนบุรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ /ชุด เมโลดี้ออฟอีสาน จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม /ชุด กัมโพชบุรีศรีอุตระ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ /ชุด รำกลองยาว จากมหาวิทยาลัยบูรพา/ ชุด HOMO จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา รวมถึงชุดการแสดงจากต่างประเทศที่ยกคณะใหญ่มาร่วม อาทิ Mexico Fiesta จากเม็กซิโก การแสดง Institut Teknologi Bandung จากอินโดนีเซีย การแสดงชุด Orkestra Muzlk Bambu Kinabalu จากมาเลเซีย / ชุด G Dayจากออสเตรเลีย/ ชุด Traditional Italian Flag Procession of Fivizzano จากอิตาลี ซึ่งแต่ละการแสดงล้วนตื่นตาตื่นใจเรียดเสียงปรบมือเกรียวกราวเพราะทุกสถาบันทุกชาตินำการแสดงชุดยิ่งใหญ่มาประชันโชว์กันอย่างเต็มความสามารถ
ด้านการแสดงชุดพิเศษจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในชุด "รจนาทรงเครื่อง" สื่อถึงคุณค่านาฏศิลป์แบบดั้งเดิม อาจารย์ ดร.พัชรินทร์ สันติอัชวรรณ ผู้แสดงเป็นรจนาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดใจว่า "ทุกปีเป็นผู้ควบคุมการแสดง แต่ปีนี้รับหน้าที่เป็นผู้แสดงรำเป็นนางรจนาเองเพราะได้รับการถ่ายทอดเป็นคนแรกจาก รศ.ผุสดี หลิมสกุล ศาสตราภิชาน ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ท่านคิดประดิษฐ์ชุดการแสดงและให้แสดงเป็นครั้งแรกต่อสาธารณชนที่งานนี้ค่ะ ในส่วนของงานสร้างสรรค์ การแสดงชุดนี้ถือเป็นประเภทรำเดี่ยวมาตรฐาน เป็นงานสร้างสรรค์แขนงหนึ่งซึ่งปัจจุบันผู้ที่จะสร้างสรรค์ในชุดรำเดี่ยวมาตรฐาน จะต้องเป็นผู้ที่เคยแสดงเป็นศิลปินมาก่อน เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในบทนั้นๆ แล้วก็จะต้องเป็นผู้ที่เข้าถึงและรู้ลักษณะตามท้องเรื่องของตัวละคร จึงจะประดิษฐ์ท่ารำได้ และอย่างรจนา จะต้องมีการเสี่ยงพวงมาลัยเลือกคู่ ฉากรจนาทรงเครื่องเป็นฉากที่เติมจากละครนอกเรื่องสังข์ทอง ก็คือเมื่อรจนาจะแต่งตัวหรือทรงเครื่องไปเลือกคู่ ต้องใช้มาลัยเป็นสื่อ มาลัยคือสัญลักษณ์ของตัวรจนา ก็นำมาลัยนี้มาเป็นสื่อกลางให้คนดูเข้าใจว่าการแสดงชุดนี้ คือนางรจนา เพราะว่าตัวนางในละครรำส่วนใหญ่ ก็จะแต่งตัวคล้ายๆ กัน สีลักษณะเครื่องแต่งกายเหมือนกัน แล้วที่นี้อะไรที่จะเป็นตัวบ่งบอกก็คือ มาลัย ก็จะเป็นตัวชี้เลยว่าเป็นรจนาคนเดียว ซึ่งงานสร้างสรรค์ประเภทนี้ต้องอาศัยคนที่เชี่ยวชาญและก็ต้องรู้กรอบจารีตประเพณีของรำไทย เพราะมิฉะนั้นอาจจะผิดมาตรฐานได้บ้าง หรือว่าท่าไม่สื่อความหมาย หรือว่าไม่เหมาะสมกับการที่จะทำเป็นรำประเภทมาตรฐาน จึงอยากให้ตรงตามแนวคิดของงานการแสดงอาเซียนที่เราอยากให้ฝรั่งต่างชาติรวมทั้งคนไทย ทุกรุ่นได้ดูศิลปะแบบดั้งเดิมบ้างเหมือนเวลาที่เราไปต่างประเทศ เราก็อยากดูสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมหรือ original ของเขา เขาก็อยากดู original ของเรา ดังนั้นชุดนี้เป็นชุดหนึ่งที่จะประชาสัมพันธ์ให้เขาทราบถึงกระบวนการรำทรงเครื่องของโบราณ แม้จะเป็นการเรียงร้อยท่ารำใหม่บ้าง แต่ว่าแบบแผนการแสดงนี่ยังคงยึดตามจารีตโบราณ ซึ่งจะทำให้เขาได้รับทั้งความใหม่และความเก่าแก่ของรำไทยไปพร้อมกัน เช่นเดียวกับที่ได้สอนให้กับนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ"
งานนี้เรียกได้ว่าอลังการสมกับการรอคอยและเป็นการเปิดโอกาสให้กับคน รุ่นใหม่ได้เพลิดเพลิน เรียนรู้ไปกับการแสดงที่ทรงคุณค่า ทรงพลังและสร้างแรงบันดาลใจ การันตีระดับภูมิภาคอาเซียน และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ แน่นอนว่าบรรดาคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบและใฝ่ฝันจะเป็นนักแสดงมืออาชีพที่ได้มีโอกาสมาชมการแสดงชุดสุดยอดจากนานาประเทศในงานนี้ ก็คงได้รับแรงบันดาลใจให้กับไปมุ่งมั่นสานฝัน หมั่นฝึกฝนฝึกปรือทักษะการแสดงทั้งรูปแบบนาฎศิลป์ไทย-สากล ร่วมสมัยและการเล่นเครื่องดนตรีดีดสีตีเป่าให้เชี่ยวชาญ เพื่อที่ว่าอนาคตเราอาจมีนักแสดง ครูศิลปะ นักดนตรีที่เก่งกล้าระดับโลกจากเวทีนี้เพื่อมอบให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลัง สมคำกล่าวของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บรมครูด้านศิลปะ "ชีวิตนั้นสั้น แต่ศิลปะยืนยาว"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit