ปภ.รายงานสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย พร้อมประสานจังหวัดเตรียมรับมือภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสมในระยะนี้

12 Jul 2016
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2559 มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ลดลงเหลือจำนวน 4 จังหวัด พร้อมประสานจังหวัดและหน่วยงานทุกภาคส่วนวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม สอดคล้องกับปริมาณฝน โดยมิให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน รวมถึงประสานให้จังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมรับมืออุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ระยะนี้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลายลง โดยมีฝนตกบริเวณพื้นที่เหนือเขื่อน ทำให้น้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มมากขึ้น แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ไม่สูงมากนัก ซึ่งเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวม 31,178 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ ปัจจุบัน (ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2559) มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ลดลงเหลือ 4 จังหวัด 22 อำเภอ 102 ตำบล 969 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 1.29 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็นจังหวัดที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 2 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร 2 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และกำแพงเพชร อย่างไรก็ตามจากการติดตามสภาพอากาศ ประเทศไทยมีแนวโน้มเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 รัฐบาลห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับปริมาณฝน โดยมิให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน เพื่อให้เพียงพอต่อการจัดสรรน้ำสนับสนุนทุกกิจกรรมการใช้น้ำอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่

นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนปีนี้ พบว่า มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าปกติ ทำให้พื้นที่เสี่ยงภัยมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม จากภาวะฝนตกหนักสะสม จึงขอให้จังหวัดเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน บริเวณชายฝั่งทะเล และพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสม พร้อมตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ท่อและทางระบายน้ำในเขตเมืองไม่ให้มีสิ่งอุดตัน สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อาทิ น้ำตก ชายฝั่งทะเล หากอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยให้พิจารณาแก้ไขและสั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวชั่วคราว กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที หากมีความจำเป็นให้พิจารณาสั่งการอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยในทันที สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที ชาวเรือควรระมัดระวังในการเดินเรือเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะ ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th