นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมและกล่าวต้อนรับสมาชิกผู้แทนธนาคารออมสินจากประเทศต่างๆ จาก 80 ประเทศที่เดินทางมาเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหาร (Board of Directors) และการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2016 (General Assembly) ครั้งที่ 23 ซึ่งธนาคารออมสิน ได้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ที่กรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน -1 กรกฎาคม 2559 รวมเป็นระยะเวลา 3 วัน ว่า การจัดการประชุมสถาบันธนาคารออมสินโลก หรือ WSBI (World Saving and Retail Banking Institute) ในครั้งนี้เป็นการความร่วมมือจากประเทศสมาชิกในความพยายามที่จะยืนยันและให้คำมั่นถึงเรื่องบทบาททางการเงินที่จะขยายการดำเนินธุรกิจธนาคารรายย่อยออกไปสู่ชุมชนในชนบท อันเป็นไฮไลท์ที่สำคัญ อีกทั้งรวมไปถึงการส่งเสริมความเข้าใจ แบ่งปันมุมมองและเรื่องราวต่างๆ ที่จะยกขึ้นมาถกกันที่ประชุม
สำหรับหัวข้อที่กำหนดขอบเขตในการประชุมครั้งนี้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของประเทศไทยในปัจจุบัน อีกทั้งขอบเขตและขนาดทางการเงินของประเทศไทยซึ่งจะรวมไปถึง การเพิ่มขอบข่ายของการทำธุรกรรมของ"แบงก์ดิจิตอล"ที่มีการเพิ่มขึ้นมากมาย, ฟินเทค, สตาร์ทอัพ และการทำธุรกรรมทางอิเลคโทรนิคส์หรือ อีเพย์เม้นท์ ซึ่งภาคธนาคารและการเงินเองจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหรือปรับตัวรับไปสู่การเปลี่ยนในยุคดิจิตอล
ทั้งนี้เทรนด์ของการขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีนั้น กำลังจะเข้ามามีบทบาทอย่างเต็มรูปแบบในไม่ช้า ทำนองเดียวกันกับที่ธนาคารออมสินเองก็จะต้องปรับเปลี่ยนยกระดับให้ทันกับการปฏิวัติไปสู่ยุคของดิจิตอล โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นธนาคารดิจิตอล ซึ่งเป็นความท้าทายของธนาคารทั้งในปัจจุบันและอนาคต
"เราเชื่อว่า ดิจิตอล เทคโนโลยี จะสามารถช่วยพัฒนาให้มีความทันสมัยทุกที่ ทุกเวลา และเป็นช่องทางในการที่จะให้บริการลูกค้าได้รับความสะดวก รวมถึงประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ" นายชาติชายกล่าว
อย่างไรก็ดี 103 ปี ของการดำเนินงานของธนาคารออมสินที่ผ่านมา ธนาคารมีความมุ่งมั่นในการปรับปรุงเรื่องการเงินจากเรื่องของเด็กๆ ไปสู่ประชาชนคนไทยทุกคน โดยเข้าถึงทุกหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งธนาคารเองได้มุ่งเน้นไปในเรื่องของความยั่งยืนและการดำเนินการที่สมดุลเพื่อเสริมสร้างคุณค่าขององค์กรและสังคม
"เราวางลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลาง ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมและการบริการจะต้องมีการปรับปรุงเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าของเราให้ดีที่สุด"
นายชาติชายยังได้กล่าวในตอนท้ายว่า การนำสิ่งต่างๆ ทั้งหมดที่หยิบยกมานั้นหวังว่า จะเป็นการนำโอกาสและความท้าทายที่จะทำงานร่วมกันในกระบวนการเส้นทางของการเพิ่มขยายธนาคารรายย่อยต่อไป ขณะเดียวกันการสร้างความมั่นใจและสร้างเสริมเตรียมพร้อมในโลกการเงินจึงเป็นความท้าทายในอนาคตอันใกล้นี้
ทางด้านนายประภาส คงเอียด กรรมการธนาคารออมสิน ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการเปิดการประชุมงาน "ออมสินโลก" ในโอกาสเดียวกันนี้ว่า ที่ผ่านมา 103 ปีนับแต่มีการก่อตั้งธนาคารออมสินมาในปี พ.ศ. 2456 เราได้มีการกำหนดบทบาทและมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและกลยุทธ์โดยมุ่งเน้นในการสนับสนุนลูกค้ารายย่อย อีกทั้งปลูกฝังนิสัยการออมให้ลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก
ทั้งนี้ เราได้มีการเปิดตัวสินค้าและนวัตกรรมที่หลากหลายรวมทั้งการบริการอย่างเต็มรูปแบบเพื่อสนองตอบความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า ซึ่งเรายังมีการขยายขอบข่ายสาขาและหน่วยบริการให้ครอบคลุมไปทุกภาคส่วนของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่บริการของธนาคารพาณิชย์ยังเข้าไปไม่ถึง ซึ่งเป็นการยกระดับหลังจากมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยเป็นการสร้างหลักประกันและสร้างความมั่นใจ ให้กับประชาชนในทุกชุมชนทุกแห่งของประเทศ ให้มีความเท่าเทียมและเพียงพอต่อการเข้าถึงในสิ่งอำนวยความสะดวกของการให้บริการทางเงิน ที่ปัจจุบันธนาคารออมสินมีสาขาที่ให้บริการอยู่ทั่วประเทศทั้งหมด 1,045 สาขา
นายประภาสได้กล่าวอีกว่า ในด้านต่างประเทศนั้น ธนาคารออมสิน ก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์อันดีที่มีกับธนาคารออมสินต่างๆ ทั่วโลก โดยได้เข้าเป็นสมาชิกของสถาบันธนาคารออมสินโลก หรือ WSBI (World Saving and Retail Banking Institute) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 และนอกจากนี้ธนาคารออมสินของไทย ยังเคยถูกใช้เป็นที่ตั้งของที่ทำการ WSBI ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2516-2520 เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานและส่งเสริมความร่วมมือกันของธนาคารสมาชิกในภูมิภาคนี้ สำหรับวัตถุประสงค์การจัดประชุมครั้งนี้ นายประภาสกล่าวว่า นอกจากจะเป็นเวทีสำหรับสมาชิกได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ และทิศทางการดำเนินการ รวมถึงการสนับสนุนและขยายจำนวนสมาชิกของ WSBI เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการยืนยันถึงความพร้อมของ WSBI ในการดำเนินการพัฒนาให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างยั่งยืน ของสหประชาชาติที่ได้กำหนดไว้ โดยคาดว่า ผลของการประชุมในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือในกันการส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดลำดับความสำคัญของแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่าง WSBI และสมาชิก อีกทั้งเป็นการส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในทุกภูมิภาค รวมไปถึงการผลักดันโครงการและแผนงานการส่งเสริมให้พลเมืองของประเทศต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้อย่างทั่วถึง และสะดวกมากขึ้น สุดท้ายก็จะเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่าง WSBI และสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในการที่จะพัฒนาสำหรับการเชื่อมโยงระบบการเงินและการธนาคารให้เป็นสากล นายประภาส กล่าวในที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit