ทั้งนี้ คุณภาพก๊าซฯ จากแหล่ง เจดีเอ เอ-18 ในช่วงแรกมีปริมาณ CO2 ไม่เกินร้อยละ 18 ดังนั้น กฟผ. และ ปตท .จึงเห็นชอบร่วมกันที่จะใช้ก๊าซฯ โดยไม่ผ่านโรงแยกก๊าซฯ และไม่ลงทุนติดตั้งหน่วยแยกCO2 ตั้งแต่ต้น เพื่อชะลอภาระต้นทุนของผู้ใช้ไฟฟ้า โดย ปตท. ได้ใช้ข้อมูลที่ดีที่สุดในขณะนั้น ประมาณการคุณภาพก๊าซฯ ให้ กฟผ. เพื่อใช้ในการออกแบบและประมูลโรงไฟฟ้า รวมทั้งมีการตกลงกำหนดแนวทางการดำเนินการไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระหว่างกันว่า หากในอนาคตคุณภาพก๊าซฯ เปลี่ยนแปลงไปตามที่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าไว้ จะมีการติดตั้งหน่วยแยก CO2 ในภายหลัง
ปัจจุบัน เมื่อพบว่าคุณภาพก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าจะนะมีแนวโน้มปริมาณ CO2 เพิ่มสูงขึ้น กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปตท. และ กฟผ. ได้หารือร่วมกัน และกำหนดแนวทางในการปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้สามารถรับก๊าซฯ ที่มีปริมาณ CO2 สูงขึ้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าและใช้ระยะเวลาดำเนินการสั้นกว่าการติดตั้งหน่วยแยก CO2 ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและก่อให้เกิดต้นทุนต่อประเทศต่ำที่สุด เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน
"การนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย มาใช้งานตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่งคงด้านพลังงาน แม้ว่าคุณภาพก๊าซฯในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปแต่ก็สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า รวมทั้งปัจจุบัน กระทรวงพลังงานได้ให้ความอนุเคราะห์ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด จึงเป็นที่มั่นใจได้ว่าการจัดการคุณภาพก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายน้อยที่สุด" นายวุฒิกรกล่าวเสริมในตอนท้าย