ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทองคำในเดือนกรกฎาคม 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7.77 จุด หรือเพิ่มขึ้น 12.83% อยู่ที่ระดับ 68.34 จุด สูงกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งสอดคล้องกันทั้งนักลงทุนและกลุ่มผู้ค้า โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากค่าเงินบาทที่ยังมีทิศทางอ่อนค่าและแรงซื้อเก็งกำไรที่ยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยลบจากทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มแข็งค่า ทั้งนี้ จากแบบสอบถามเรื่องความต้องการซื้อทองคำในช่วง 1 เดือนข้างหน้าพบว่าสัดส่วนผู้ที่คิดจะซื้อทองคำในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 41.03% ขณะที่สัดส่วนผู้ที่ไม่คิดจะซื้อทองคำในเดือนนี้เพิ่มขึ้นมาที่ 30.40% ของกลุ่มตัวอย่าง เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะ 3 เดือนข้างหน้าที่ยังสะท้อนมุมมองเชิงบวก จากการปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.86 จุดมาอยู่ที่ระดับ 62.21 จุด
สำหรับบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 6 ตัวอย่าง มองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,340-1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,200-1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนราคาราคาทองคำในประเทศเดือนกรกฎาคม 2559 จะยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อ โดยแบ่งเป็นผู้ค้า 4 รายมองราคาเฉลี่ยทองคำในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนที่เหลือมองราคาทองเฉลี่ยใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายน โดยกลุ่มตัวอย่างคาดว่าราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5%)ให้ราคาสูงสุดที่ 22,000-24,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 20,000-22,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยทองคำยังได้จัดทำแบบสำรวจกรอบราคาทองคำในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 จากผู้ประกอบการรายใหญ่และตัวแทนซื้อขายอนุพันธ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับทองคำ 6 รายพบว่า ราคาทองคำในตลาดโลกเฉลี่ยครึ่งหลังอยู่ที่ประมาณ 1,314 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ค่าเฉลี่ยสูงสุด 1,498 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ค่าเฉลี่ยต่ำสุด 1,183 ดอลลาร์-สหรัฐฯ ต่อออนซ์ กรอบค่าเงินบาท ค่าเฉลี่ยครึ่งปีหลัง 35.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าเฉลี่ยสูงสุด 36.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าเฉลี่ยต่ำสุด 34.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนราคาทองคำในประเทศค่าเฉลี่ยราคาครึ่งหลังปี 2559 เท่ากับ 22,313 บาทต่อบาททองคำ ค่าเฉลี่ยสูงสุด 24,242 บาทต่อบาททองคำ ค่าเฉลี่ยต่ำสุด 20,383 บาทต่อบาททองคำ
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยทองคำยังเก็บข้อมูลต้นทุนหน้าเหมืองจาก 9 บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ในปี 2558 เพื่อดูแนวโน้มต้นทุนหน้าเหมืองพบว่า ในช่วงปี 2558 ต้นทุนรวมในการประกอบธุรกิจเหมืองทองลดลงมาอยู่ที่ระดับ 868.58 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ จากต้นทุนรวม (All-In Sustaining Cost) เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในปี 2557 ที่อยู่ประมาณ 959 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ เช่นเดียวต้นทุนเฉพาะการผลิตทองคำ (Cash Cost) เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักปรับลดลงเล็กน้อยจาก 676.49 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ในปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 631 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ในปี 2558 สะท้อนถึงความพยายามปรับตัวของเหมืองทองคำเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มราคาทองคำที่เป็นเชิงลบอีกด้วย