9 ปีผ่านไป จากป่าเสื่อมโทรมเขาหัวโล้น ชุมชนเขายายดาและภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันพัฒนา ป่าต้นน้ำด้วยจิตสำนึกและเครื่องมือต่างๆ โดยเฉพาะฝายชะลอน้ำ ทำให้ถึงวันนี้ พื้นที่เขายายดาได้กลายเป็นแหล่งต้นน้ำที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทุกสรรพชีวิต และพร้อมที่จะเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้แก่สาธารณชนทั่วไปในรูปของแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อันเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำอย่างครอบคลุมทั้งระบบ ที่สอดประสานอย่างกลมกลืนไปกับวิถีของชุมชน
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2559 เอสซีจี ชุมชนเขายายดา และภาคีเครือข่าย จึงได้ร่วมใจกัน จัดงานเปิดตัว "สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา" ขึ้น ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยหินดาด อันเป็นพื้นที่ต้นน้ำของชุมชนเขายายดา โดยมีหน่วยงานและประชาชนหลายภาคส่วนให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็น จำนวนมาก อาทิ ชุมชนฝายลำปาง ชุมชนฝายกาญจนบุรี ชุมชนฝายสระบุรี ชมรมจรรยาบรรณ หอการค้าไทย ชุมชนมาบตาพุด กลุ่มแฟนเพจ "SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต" สื่อมวลชน และพี่น้องชาว เอสซีจี เป็นต้น
กิจกรรมในช่วงเช้า เอสซีจีและชุมชนเขายายดาชวนผู้ร่วมงานทุกท่านลงมือสร้างฝายชะลอน้ำจำนวน 15 ฝายบริเวณน้ำตกเขายายดา โดยมีแกนนำชุมชนเขายายดาเป็นผู้ให้ความรู้ และแนะนำเทคนิคการสร้างฝาย แม้จะมีสายฝนหล่นสายนับแต่เช้ามืด แต่บรรยากาศของการทำฝายก็เป็นไปด้วยความกระตือรือร้นสนุกสนานและอบอวลไปด้วยรอยยิ้มของคนสร้างฝายทุกคน
เข้าสู่ช่วงบ่าย หลังจากรับชมการแสดงของน้องๆ เยาวชนจากโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จ พระศรีนครินทร์ จังหวัดระยอง ในชื่อชุดการแสดง "หัตถศิลป์ ถิ่นระยอง" แล้ว คุณชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ เอสซีจี รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต พื้นที่เขายายดา ก็ได้ขึ้นกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงาน ก่อนที่ คุณสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง จะขึ้นกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานทุกท่านในฐานะเจ้าบ้าน และ คุณอาสา สารสิน ประธานคณะกรรมการกิจการเพื่อสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ให้เกียรติเป็นประธานขึ้นกล่าวเปิดงาน
"ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่ชุมชนเขายายดาได้ร่วมโครงการเอสซีจี รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต เห็นผลชัดเจนว่า ฝายชะลอน้ำช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับเขายายดาได้อย่างมาก ช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ดูแล สวนผลไม้ซึ่งเป็นอาชีพหลักได้อย่างทั่วถึง ยังผลให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น นอกจากนี้ ชุมชนยังตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาพื้นที่ป่าและแหล่งน้ำของบ้านเกิด ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้และเกิดมี องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับเยาวชนและผู้ที่สนใจ ให้เข้ามาเรียนรู้ระบบนิเวศและวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์ของชุมชนรอบเขายายดา อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน" คุณอาสา กล่าว
ก่อนที่คุณชลณัฐ จะกล่าวว่า "เอสซีจี เคมิคอลส์ เราให้ความสำคัญกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจการ โดยส่งเสริมชุมชนโดยรอบสู่การเป็นชุมชนเชิงนิเวศ โดยมีโครงการเอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต เป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยส่งเสริมชุมชนให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน และมีวิถีชีวิตบนความพอเพียง โดยพื้นที่เขายายดานั้น ชุมชนได้ร่วมกับสถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกและเอสซีจี สร้างฝายชะลอน้ำแบบผสมผสานรอบเขายายดามาตั้งแต่ปี 2550 โดยเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมและดำเนินการเอง ส่งผลให้สภาพป่าเริ่มฟื้นตัว มีผลผลิตทางการเกษตรดีขึ้น จนปัจจุบันมีการสร้างฝายไปแล้วกว่า 5,400 ฝาย และพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้แก่ชุมชนอื่นๆ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา แหล่งเรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งใหม่ขึ้นในวันนี้"
ถัดจากนั้นเป็น การปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "การบริหารจัดการน้ำ จากภูผาสู่มหานที กับวิถีชุมชนยั่งยืน" โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งนอกเหนือจากการบรรยายถึงวิธีการบริหารจัดการน้ำตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยใช้เครื่องมือต่างๆ นับแต่ภูเขา ต้นน้ำ ผ่านพื้นที่ราบชุมชนและเรือกสวน ไปยังปลายน้ำ ออกสู่ท้องทะเลแล้ว ดร.สุเมธ ยังได้บรรยายถึงความรู้สึกที่มีต่อพื้นที่เขายายดา ในฐานะที่ได้ร่วมโครงการมาตั้งแต่เมื่อ 9 ปีก่อน
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสรับสั่งว่า น้ำคือชีวิต ทุกภาคส่วนต่างต้องใช้น้ำ ถ้าไม่มีน้ำแล้วชีวิตจะอยู่ไม่ได้ เมื่อ 9 ปีก่อน เอสซีจีตัดสินใจตอบแทนชุมชนและแผ่นดินโดยเลือกพื้นที่เขายายดา ตอนนั้นคนที่มาร่วมกันทำก็ยังไม่เข้าใจ และยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าจะทำได้ แต่ผลสะท้อนมันเกิดขึ้นแล้ว ผ่านมา 9 ปีชุมชนทำได้ 5,400 ฝาย มีคนในพื้นที่เข้าร่วม 600-700 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพอเรารู้รักสามัคคี ทำอะไรก็สำเร็จ มาถึงปี 2555 ผมกลับมาที่นี่อีกครั้งหนึ่ง ความเขียวชอุ่มด้านบนและความชุ่มชื้นด้านล่างพื้นดินเริ่มเกิดขึ้น ชั้นน้ำใต้ดินแผ่ขยายออกไปไกลมาก มาถึงวันนี้คุณภาพชีวิตของคนก็ดีขึ้นด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงในแง่ดีหมด น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ภูเขาเขียวชอุ่ม น้ำข้างล่างใส แสดงว่าป่าข้างบนสมบูรณ์แล้ว นี่คือความสำเร็จ" ดร.สุเมธ กล่าว
ระยะเวลา 9 ปี ชุมชนเขายายดา เอสซีจี และเครือข่ายทำอะไร จึงสามารถเปลี่ยนป่าเสื่อมโทรมเขาหัวโล้น ให้กลายมาเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ และยกระดับขึ้นมาเป็นสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา ได้ผู้เข้าร่วมงานได้พบคำตอบข้างต้นจากช่วงของ การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ "กว่าจะเป็น...แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเขายายดา" โดยผู้รับผิดชอบโครงการ ชุมชน และภาคีที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ต้นทาง ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยบอกเล่าเส้นทางของการพัฒนาที่ผ่านมา จนมาถึง ณ วันนี้
เขายายดามีพื้นที่ทั้งสิ้น 28,937 ไร่ ในอดีตถือเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์จนเปรียบได้กับซูเปอร์มาเก็ตของชุมชน แต่หลังจากมีการสัมปทานป่าไม้ เขายายดาได้ถูกบุกรุกเข้าแผ้วถางทำลายจนความอุดมสมบูรณ์เสื่อมถอยลง ป่าที่เคยเขียวขจีถูกหักโค่น สายน้ำก็เหือดแห้ง เดือดร้อนถึงชุมชนที่ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงเกษตรกรและชาวสวนที่ขาดแคลนน้ำถึงขั้นต้องซื้อน้ำจากภายนอกเพื่อมาใช้ทำการเกษตร
ดร.พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล ที่ปรึกษาโครงการ แหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศเขายายดา บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เล่าถึงการเข้ามาของเอสซีจี ที่เริ่มจากการชวนชุมชน 10 หมู่บ้าน ใน 6 ตำบลของอำเภอตะพง อันได้แก่ ตำบลนาตาขวัญ ตำบลบ้านแลง ตำบลตะพง ตำบลเพ ตำบลกะเฉด และตำบลสำนักทอง มาร่วมแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ ด้วยการสร้างฝายเพื่อกักเก็บน้ำและฟื้นฟูป่าด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่ม รวมไปถึงการสร้างคนไปพร้อมๆ กัน ด้วยการหนุนเสริมให้คนในชุมชนเกิดความรักความสามัคคี เกิดจิตสำนึก มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นเรื่องการอนุรักษ์ และมีกระบวนการอันนำไปสู่การสร้างทักษะการคิดแก้ไขปัญหาในชุมชนบนฐานของการพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ ซึ่งนำมาสู่การมุ่งสร้างเศรษฐกิจชุมชน โดยการสร้างมูลค่าจากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ในรูปของการท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสาน เช่น การเปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ การสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ การจัดตั้งกองทุนชุมชน รวมไปถึงการสร้างกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการเข้าถึงและดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม
"เราคิดบนฐานที่ว่า ชุมชนจะต้องอยู่ด้วยตัวเองได้ เราจึงทำหลายๆ เรื่องนอกจากเรื่องฝายและป่า เช่น ชวนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาช่วยสร้างนักวิจัยชุมชน ให้ชุมชนสามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงปัจจัยปัญหาเพื่อแก้ไขได้ มีกองทุน มีการส่งต่อให้เยาวชน เริ่มจากการให้เด็กเข้ามาเรียนรู้ แล้วสนุกไปพร้อมๆ กับได้ความรู้ เราจึงพัฒนาเป็นหลักสูตร ผลักดันเข้าสู่โรงเรียน 2 ระดับ คือ ระดับประถมมีการเรียนการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียนวัดยายดา กับระดับมัธยมคือโรงเรียนวัดตะพงนอก รวมไปถึงการเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีออกสู่สาธารณะ โดยการถอดบทเรียนจากการทำงานร่วมกับชุมชน เปิดเป็นสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา" ดร.พงษ์ศักดิ์ กล่าว
โดยในกระบวนการพัฒนานั้น ได้มีภาคีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกับชุมชนเขายายดาและเอสซีจี หนึ่งในนั้นคือ สถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่เป็นภาคีด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่า ต้นน้ำตลอดมา
คุณประเดิมชัย แสงคู่วงษ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมและพัฒนาชุมชนต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในฐานะผู้แทนสถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก กล่าวว่า "การฟื้นฟูป่าต้นน้ำเป็นสิ่งที่เราทำกันมาไม่น้อยกว่า 60 ปี เรามีศาสตร์ต่างๆ ในการจัดการให้ป่าต้นน้ำที่เสื่อมสภาพจากการถูกทำลายฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วล้วนเป็นศาสตร์ของพระเจ้าอยู่หัว ทั้งการเก็บน้ำไว้ในดินโดยใช้ฝายชะลอน้ำ และการเก็บดินไว้กับที่โดยใช้หญ้าแฝก ซึ่งด้วยการมีส่วนร่วมของทั้งชุมชนและภาคีเครือข่าย ถึงตอนนี้ป่าเขายายดาจึงเขียวชอุ่มขึ้น น้ำใสสะอาด เป็นสิ่งที่พิสูจน์ชัดว่า พวกเราทำกันมาถูกทางแล้ว"
อีกหนึ่งภาคส่วนที่ร่วมขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ก็คือ จังหวัดระยอง โดย คุณสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองเป็น 1 ใน 11 จังหวัดนำร่องที่รัฐบาลกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันพัฒนาสู่ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศภายในปี 2561 การที่เอสซีจีเข้ามาร่วมกับชุมชนเขายายดา พัฒนาพื้นที่จนสามารถยกระดับขึ้นเป็นสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งใหม่ของจังหวัดระยอง จึงถือเป็นความร่วมมือที่ช่วยส่งเสริมเป้าหมายของจังหวัดได้อย่างดียิ่ง
"เทือกเขายายดาในวันนี้ เป็นผลจากการปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนเขายายดาน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงมาพัฒนาบ้านเกิด โดยใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนและเครือข่าย ผมขอชื่นชมพี่น้องชุมชนรอบเขายายดาที่ร่วมมือร่วมใจกันจนสามารถยกระดับพื้นที่ขึ้นเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของจังหวัดระยอง ที่จะนำไปสู่การสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนและภาพรวมของจังหวัด ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์ความรู้ของชุมชนจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านที่ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชุมชนและท้องถิ่นอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี"เหนืออื่นใด สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา จะไม่สามารถถือกำเนิดขึ้นได้เลย หากปราศจากภาคส่วนที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ คนในชุมชนที่ลุกขึ้นมากอบกู้ผืนป่าและสายน้ำในบ้านเกิดของตนเอง
คุณบุญชื่น โพธิ์แก้ว เจ้าของสวนยายดา (เจ๊บุญชื่น) กล่าวว่า "เอสซีจีเข้ามาสนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นและพลิกชีวิตโดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้ ทั้งการอนุรักษ์ป่าและน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของเกษตรกร การมีป่าต้นน้ำ มีน้ำ มีค่ามหาศาลต่อคนในชุมชน หรือการปลูกพืชแบบผสมผสาน อย่างที่สวนมีสโลแกนการปลูกพืชว่า ปลูกไว้อย่างรกรุงรัง แต่ได้สตางค์ทุกต้น คือปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก เหลือจึงแบ่งขายและปันให้เพื่อนบ้าน พร้อมทั้งพัฒนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เราก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งเกิดจาก ความร่วมมือกัน" คุณบุญชื่น กล่าว
ผู้ใหญ่นิมิต สกุลพงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 และแกนนำนักสร้างฝาย ช่วยยืนยันสำทับถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่เน้นการพึ่งพาตนเอง จนทำให้ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ป่าและน้ำเช่นทุกวันนี้
"เราทำฝายกันมา 9 ปี ไม่เคยทิ้งหายไปไหน การทำมีทั้งสร้างและซ่อม ทั้งสร้างถาวรและแบบธรรมชาติที่ใช้กรวดหินดินทราย วัสดุจากธรรมชาติ มีการติดตามประเมินผล มีการใช้สื่อหอกระจายข่าวในการสร้างจิตสำนึกแก่ชุมชนอย่างต่อเนื่องทุกวัน จากเดิมช่วงแรกๆ ที่ชุมชนก็ไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ ถึงวันนี้ ทุกคนต่างเห็นผลที่เกิดขึ้นกันแล้ว" ผู้ใหญ่นิมิต กล่าว
เช่นเดียวกับ คุณวิลัย โพธิ์แก้ว แกนนำชุมชนนักสร้างฝาย ที่ยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ที่กลับคืนมาสู่ชุมชน เหมือนเมื่อครั้งอดีตกาล"จากป่าเสื่อมโทรม เอสซีจีมาร่วมกับชุมชน สร้างฝายทั้งบนเขาและรอบเขา ทำให้แม้หน้าแล้งก็ยังมีความชุ่มชื้น ชาวสวนก็ไม่ขาดน้ำ ป่ากลายเป็นบ้านให้สัตว์ป่านับ 100 ชนิด ทั้งเก้ง เสือ กระรอก นก เรียกว่าประโยชน์เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ 2 หมื่นไร่ของเขายายดา และทุกคนก็มีความสุข" คุณวิลัย กล่าว
เวลาล่วงผ่านมาถึงกิจกรรมสุดท้ายของวัน นั่นคือ การเปิดแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศป่าต้นน้ำ ณ สถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยผู้บริหารเอสซีจี และแขกผู้มีเกียรติได้ร่วมกันเปิดแหล่งเรียนรู้ซึ่งถือเป็นสถานีย่อยที่ 1 ของสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา อย่างเป็นทางการ พร้อมร่วมกันปลูกต้นยางนาและแฝก เป็นอันสิ้นสุดกิจกรรมการเปิดสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา ในวันนี้อนึ่ง สถานีรักษ์น้ำ เขายายดา ประกอบด้วยสถานีย่อย 8 สถานี ได้แก่
1. สถานีห้องเรียนต้นน้ำ สถานีเรียนรู้เชิงนิเวศ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติสุดท้าทายและได้ความรู้ ภายในสถานีวิจัยต้นน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก
2. สถานีฝายชะลอน้ำกู้วิกฤติ ร่วมเรียนรู้การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำที่ช่วยสร้างความสมบูรณ์ให้กับผืนป่าในพื้นที่ของ 6 ตำบล 10 หมู่บ้าน
3. สถานีสวนเกษตรผสมผสาน เยี่ยมชมสวนเกษตรกรของชุมชน ทั้งพืชผักผลไม้ที่ปลูกบนฐานคิด "ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เหลือแล้วจึงนำไปขาย" ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
4. สถานีบ้านอบอุ่นที่เขายายดา แวะพักค้างคืนที่โฮมสเตย์เพื่อเรียนรู้วิถีชุมชนที่อบอุ่นและเป็นกันเอง พร้อมสัมผัสกับธรรมชาติท่ามกลางเขายายดาที่นับได้ว่าเป็นปอดของจังหวัดระยอง
5. สถานีเส้นทางปั่น...กินลมชมธรรมชาติ เพลิดเพลินและออกกำลังกายไปกับเส้นทางจักรยานปั่นชมธรรมชาติรอบเขายายดา ซึ่งเป็นโปรแกรมร่วมกับการพักค้างคืนที่โฮมสเตย์
6. สถานีนักคิด นักวิจัยชุมชน ศึกษาเรียนรู้การทำงานวิจัยท้องถิ่นของนักวิจัยชาวบ้าน เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรดิน น้ำ และป่าในพื้นที่ โดยใช้ประวัติศาสตร์ชุมชนเป็นตัวกำหนดโจทย์วิจัย ผสมผสานกับการใช้ความรู้และประสบการณ์ของคนในพื้นที่ ช่วยกันวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่พบ โดยเฉพาะงานวิจัยเด่นเรื่อง "การจัดการทรัพยากรน้ำในสวนผลไม้"
7. สถานีรู้คิด ร่วมทำเพื่อชุมชนสีเขียว ร่วมศึกษาต้นแบบกองทุนเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ที่ส่งเสริมให้สมาชิกของชุมชนใช้สำหรับดูแลฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน
8. สถานีหนังสือเรียน ตำราจากธรรมชาติ ศึกษาการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง "แหล่งเรียนรู้เขายายดา" สำหรับใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนในพื้นที่เขายายดา เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนหวงแหนทรัพยากรดิน น้ำ และป่า เสริมความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชน
ตลอดเวลา 9 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่เขายายดามากมาย แต่ภาพที่ชัดเจนที่สุด ณ เวลานี้ คือ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติหวนกลับคืนมาสู่ผืนป่า สายน้ำกลับคืนสู่ลำเนาคุณภาพชีวิตที่ดีได้เกิดขึ้นในทุกบ้าน เช่นเดียวกับรอยยิ้มที่กลับมาเบ่งบานบนใบหน้าของทุกคนในชุมชนเป็นความสุขที่เกิดจากความรู้รักสามัคคีและการทำงานหนัก ด้วยจิตสำนึกของการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และถึงวันนี้ ชาวชุมชนเขายายดาและเอสซีจีพร้อมแล้วที่ส่งมอบความสุขให้แก่ทุกคนในประเทศ ด้วยสถานีรักษ์น้ำ เขายายดา แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งความสุขของทุกคน
"วันนี้คนในชุมชนมีความสุข เราจึงอยากมอบความรู้และความสุขนี้ให้กับชุมชนอื่นๆ พี่น้องในชุมชนของเราทุกคนพร้อมต้อนรับทุกท่านที่มาเยือนด้วยความเต็มใจค่ะ" คุณบุญชื่น กล่าวด้วยรอยยิ้ม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit