ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ สาขาวิชาการจัดการเกษตรอินทรีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า "ข้าว" ถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนไทยนับแต่อดีต อีกทั้งสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก โดยในครึ่งปีแรก หรือช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2559 ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวสารได้จำนวนกว่า 4.71 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 7.38 หมื่นล้าน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 11.42% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา (ข้อมูลจาก กระทรวงพาณิชย์) โดยสามารถคว้าตำแหน่งผู้นำส่งออกข้าวเป็นอันดับที่ 1 ของโลกและอาเซียน แต่ในขณะเดียวกัน เกษตรกรไทยในหลายพื้นที่ กลับต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากไปกับการจัดการต่าง ๆ เพื่อบำรุงดินและต้นข้าว เพื่อให้ออกรวงสวยและมีน้ำหนัก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จึงได้คิดค้นและพัฒนา "นวัตกรรมพยากรณ์โรคต้นข้าวในนาข้าว" ขึ้น เพื่อเป็นการลดความสูญเสียดังกล่าว ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการจัดการด้านเกษตรอินทรีย์และวิทยาการคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน
สำหรับนวัตกรรมพยากรณ์โรคต้นข้าวในนาข้าว เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 อุปกรณ์ คือ "ชุดเซนเซอร์เก็บข้อมูลสภาพอากาศในนาข้าว" อันได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน และ "โปรแกรมTU-Rice Disease Forecaster" โปรแกรมเฉพาะที่จะช่วยเกษตรกรวิเคราะห์แนวโน้มการเกิด 5 โรคสำคัญจากปัจจัยแวดล้อมได้อย่างแม่นยำ คือ โรคไหม้ โรคใบขีดโปร่งแสง โรคขอบใบแห้ง โรคใบจุดสีน้ำตาล และโรคเมล็ดด่าง พร้อมทั้งแสดงคำแนะนำแนวทางการป้องกันและกำจัดโรคแบบทันทีผ่านสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ การทำงานของนวัตกรรมดังกล่าว เริ่มจากชุดเซนเซอร์ทำการเก็บข้อมูลสภาพอากาศในนาข้าวแบบ Real-timeบริเวณแปลงนาในระยะ 1 กิโลเมตร จากนั้นระบบจะส่งข้อมูลผ่านสัญญาณไร้สายไปยังโปรแกรมเฉพาะ และเตือนให้เกษตรกรเตรียมเฝ้าระวังการเกิดโรคสำคัญกับต้นข้าวล่วงหน้า พร้อมแนะนำแนวทางป้องกันกำจัดโรค ที่มีราคาถูก ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็วไปยังสมาร์ทโฟนของเกษตรในทันที
ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวนับเป็นการช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตข้าว ลดปริมาณการใช้สารเคมีเพื่อการป้องกันและกำจัดโรคพืชของเกษตรกร และลดโอกาสของการสูญเสียผลผลิตข้าวจากโรคพืช ตลอดจนยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นแนวทางในการพยากรณ์โรคของพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อลดหรือป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี สำหรับนวัตกรรมพยากรณ์โรคต้นข้าว คณะผู้วิจัยได้นำร่องใช้จริงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ณ ผืนนาของเกษตรกรในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดอ่างทอง ซึ่งผลปรากฏว่ามีความแม่นยำสูงถึง 75-90% และขณะนี้อยู่ในช่วงของการพัฒนาโปรแกรมเฉพาะให้มีความแม่นยำสูงขึ้น และมีประสิทธิภาพในการพยากรณ์โรคอื่น ๆ ของข้าวได้ ตลอดจนตั้งเป้าขยายพื้นที่ทดสอบไปยังภาคต่าง ๆ ให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ
อย่างไรก็ดี นวัตกรรมเครื่องพยากรณ์โรคต้นข้าวในนาข้าว ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ด้านการเกษตร (Class K) ในงานประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 44 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ นอกจากนวัตกรรมดังกล่าวแล้ว คณะผู้วิจัย ยังมีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับข้าวจำนวนมาก อันจะเอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรในการลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายไปกับการใช้สารเคมีเพื่อบำรุงต้นข้าวให้แข็งแรง และการกำจัดฟางข้าวภายหลังการเก็บเกี่ยว อันได้แก่ "นวัตกรรมผงเร่งโต" ชีวผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากแบคทีเรียบาซิลลัส สายพันธุ์พิเศษ TU Orga1 ในรูปของผงละลายน้ำที่ช่วยบำรุงให้พืชสมบูรณ์แข็งแรง กระตุ้นการสร้างฮอร์โมนพืช สามารถควบคุมและป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในพืช "นวัตกรรมย่อยสลายเศษพืชและฟางข้าว" นวัตกรรมย่อยสลายเศษซากพืช ชนิดน้ำที่ต้องผสมน้ำในอัตราที่เหมาะสม เพื่อหมักฟางข้าวก่อนไถกลบ มีคุณสมบัติช่วยย่อยสลายเศษซากพืช บำรุงดินให้พร้อมต่อการเติบโตของต้นข้าว โดยไม่ทิ้งสารพิษตกค้าง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มธาตุอาหารที่จำเป็นกับต้นข้าว นอกจากนี้สามารถใช้ฉีดพ่นต้นพืช เพื่อควบคุมโรคและกระตุ้นภูมิคุ้มกันพืชให้ต้านทานต่อโรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคขอบใบแห้ง โรคใบขีดสีน้ำตาล และโรคเมล็ดด่าง ฯลฯ
"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทยปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 สอดรับตามแนวคิด "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง"
สำหรับเกษตรกร นักวิชาการ ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจนวัตกรรมพยากรณ์โรคต้นข้าวในนาข้าว หรือนวัตกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 0-2564-4491 และ 0-2564-4495 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ http://www.sci.tu.ac.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit