นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัยทุก 3 ปี ของกรมอนามัย พบเด็กมีพัฒนาการล่าช้า ถึง 1 ใน 3 โดยมีปัจจัยเอื้อที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า เช่น การขาดภาวะโภชนาการที่ดีและมีคุณค่า การเลี้ยงดู การใช้สื่อโทรทัศน์ และเทคโนโลยีต่างๆ จึงจำเป็นต้องเร่งค้นหาเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ให้ได้รับการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินงานด้านการคัดกรอง ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก และระบบการส่งต่อเด็กพัฒนาการล่าช้า ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2558 เป็นต้นมา โดยตั้งเป้าหมาย ภายในปี 2561 เด็กไทยแรกเกิด-5 ปี มีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 85 และจากการบูรณาการดำเนินงานร่วมกัน ล่าสุด พบ เด็กปฐมวัยไทยสงสัยล่าช้า ร้อยละ 88.43 กลับมาสมวัยภายหลังได้รับการกระตุ้น ขณะที่เด็กไทย อีกร้อยละ 11.57 ที่ยังคงล่าช้า ได้รับการส่งต่อดูแลอย่างต่อเนื่องด้วยมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ระดมความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสัปดาห์รณรงค์คัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัยอายุ 9, 18, 30, 42 เดือนทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 4– 8 ก.ค. ที่ผ่านมา อีกจำนวน 40,000 คน
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกรมสุขภาพจิตบูรณาการพัฒนาและสนับสนุนคู่มือการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) หรือ คู่มือเล่มขาว สำหรับดูแลเด็ก ช่วงอายุ 9, 18, 30 และ 42 เดือน ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ในการติดตามและส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้ด้วยตนเอง คู่มือกระตุ้นพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยง (DAIM) หรือ คู่มือเล่มเขียว สำหรับดูแลเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อย และเด็กขาดออกซิเจนในช่วงแรกคลอด ตลอดจน พัฒนาเครื่องมือ TEDA4I หรือ คู่มือประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการ โดยจัดอบรมให้กับบุคลากรสาธารณสุขระดับ รพช./รพท./รพศ/สถาบันฯ ทั้ง แพทย์ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด ทั่วประเทศ เพื่อรองรับระบบการส่งต่อ ซึ่งหากพบว่า ไม่สมวัยให้ส่งต่อไปยังระดับ รพช./รพท./รพศ. เพื่อประเมินและส่งเสริมด้วยเครื่องมือ TEDA4I เป็นระยะเวลา 3 เดือน และถ้ายังพบว่ามีพัฒนาการล่าช้าอีก ให้ส่งต่อโรงพยาบาลเฉพาะทางต่อไป ทำให้เกิดเชื่อมโยงทั้งด้านส่งเสริม ป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟูที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ โดยเน้นการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ค้นหาเด็กแรกเกิด – 5 ปี ที่มีพัฒนาการสงสัยล่าช้าหรือล่าช้า ให้ได้รับบริการช่วยเหลือและส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมอย่างมีคุณภาพโดยเร็ว ทั้งด้าน IQ และ EQ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน นพ.สมัย ศิริทองถาวร รักษาการในตำแหน่ง ผอ.สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติม ว่า ในวันนี้ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ชี้แจง และสนับสนุน คู่มือและอุปกรณ์สำหรับการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 โดยส่งมอบให้กับผู้แทนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์สุขภาพจิตและศูนย์อนามัย ในเขตบริการสุขภาพที่ 1 และ 2 รวม 17 แห่ง ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด 13 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์) ผู้รับผิดชอบงานพัฒนาการเด็กและสุขภาพจิตในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/ศูนย์สุขภาพจิต/ศูนย์อนามัย กุมารแพทย์ จิตแพทย์ และผู้รับผิดชอบงานพัฒนาการเด็กและสุขภาพจิต จาก รพ./รพท./รพศ. รวมทั้งสิ้น 150 คน อุปกรณ์และคู่มือที่ส่งมอบ ได้แก่ ชุดอุปกรณ์ DSPM จำนวน 170 ชุด และคู่มือ DSPM จำนวน 6,800 เล่ม สำหรับการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กทั่วไป รวมทั้ง ชุดอุปกรณ์ TEDA4I จำนวน 336 ชุด และ คู่มือ TEDA4I จำนวน 9,200 เล่ม สำหรับช่วยเหลือเด็กที่ยังคงมีปัญหาพัฒนาการล่าช้า พร้อมทั้งมีการชี้แจงบทบาทหน้าที่ วางแผนระบบการส่งต่อ ตลอดจนรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานเฝ้าระวัง ส่งเสริม และช่วยเหลือเด็กปฐมวัยไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ณ วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ในภาคเหนือ เขตสุขภาพที่ 1 และ 2 พบเด็กสงสัยมีพัฒนาการล่าช้า ร้อยละ 13.69 โดยกลับมาสมวัยภายหลังไดัรับการกระตุ้นพัฒนาการ ถึงร้อยละ 92.94 *
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit