อีสานโพลขอนำส่งผลสำรวจเรื่อง "คนอีสานกับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 (ครั้งที่ 3)”

15 Jul 2016
อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "คนอีสานกับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 (ครั้งที่ 3)" ผลสำรวจพบว่า คนอีสานเข้าใจภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้นโดยเฉลี่ย จาก 21.4% เป็น 30.2% และร้อยละ 61.1 จะไปใช้สิทธิ์และมีธงในใจแล้ว

ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นและความเข้าใจของคนอีสานเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เป็นครั้งที่ 3 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 4 กรกฎาคม 2559 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,231 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

อีสานโพลได้สอบถามว่า ท่านเข้าใจเนื้อหาภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับทำประชามติ มากน้อยแค่ไหน โดยให้ตอบเป็นเปอร์เซ็นต์ (%) โดย 0% คือไม่เข้าใจเลย และ 100 % คือเข้าใจอย่างสมบูรณ์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.8 มีความเข้าใจเนื้อหาภาพรวมน้อยกว่า 20% ขณะที่เข้าใจเนื้อหาระหว่าง 20% - 39.9% ร้อยละ 35.7 เข้าใจเนื้อหาระหว่าง 40% - 59.9% ร้อยละ 20.5 เข้าใจเนื้อหาระหว่าง 60% - 79.9% ร้อยละ 9.0 และเข้าใจเนื้อหาระหว่าง 80% - 100% ร้อยละ 5.9 โดยมีความเข้าใจเฉลี่ย 30.2 % ซึ่งกลุ่มตัวอย่างมีความเข้าใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจของเดือนที่แล้ว ซึ่งมีความเข้าใจเพียง 21.4%

ความเข้าใจเนื้อหาภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับทำประชามติ

อีสานโพลสอบถามต่อว่าวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ท่านตั้งใจจะไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หรือไม่/อย่างไร พบว่า มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 61.1 ที่จะไปแน่นอนและตัดสินใจแล้วว่าจะรับหรือไม่รับ (ซึ่งใกล้เคียงกับการสำรวจครั้งที่แล้วที่ร้อยละ 59.8) ขณะที่อีกร้อยละ 38.9 เป็นกลุ่มที่จะไม่ไปใช้สิทธิ์และกลุ่มยังไม่ตัดสินใจ

วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ท่านตั้งใจจะไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หรือไม่/อย่างไร

ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 4% ประกอบด้วย เพศหญิง ร้อยละ 60.4 เพศชาย ร้อยละ 39.6 ส่วนใหญ่อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 32.8 รองลงมาร้อยละ 24.9 มีอายุ 46-55 ปี อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 21.9 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 9.9 อายุ 56-60 ปี ร้อยละ 7.6 และอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 2.8

ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 27.1 รองลงมา มัธยมศึกษาตอนปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ 21.3 มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 20.1 ปริญญาตรี ร้อยละ 19.6

อนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 11.0 และระดับปริญญาโทหรือสูงกว่า ร้อยละ 1.1 ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 38.3 รองลงมารับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.4 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 12.7 รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 10.5 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.2 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 5.3 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 5.0 และ อื่นๆ ร้อยละ 2.7

ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ที่ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 35.4 รองลงมามีรายได้อยู่ระหว่าง 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 32.1 รายได้ 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 15.6 รายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 9.1 รายได้ 20,001-40,000 ร้อยละ 6.5 และรายได้มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 1.2

หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น