สมาชิกอาเซียนได้มอบหมายให้ประเทศไทยหาแนวทางปฏิบัติเพื่อเสนอต่ออาเซียน โดย พล.ต.อ.วุฒิ กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรก และประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ซึ่งที่ประชุมคาดหวังให้ประเทศสมาชิกอาเซียน หาแนวทาง เช่น ออกกฎหมายเพื่อป้องกันปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยประเทศไทยและอีก 6 ประเทศ ประกอบด้วย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และลาว ถูกไซเตส (CITES) ขึ้นบัญชีดำ จับตาปัญหาการลักลอบค้างาช้าง เสือ ไม้พะยูง และปะการัง โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.พังงา และภูเก็ต ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน มลพิษทางบก และนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดสภาวะปะการังฟอกขาว ซึ่งสัปดาห์หน้าได้สั่งให้ผู้เกี่ยวข้องลงไปแก้ไขปัญหาแล้ว
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (LEEO-WEN) กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยได้แก้ไขพระราชบัญญัติเกี่ยวกับงาช้างแล้ว และเพิ่มโทษทัณฑ์การกระทำความผิดที่เกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าตามหลักสากล รวมทั้งเพิ่มการป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรมสัตว์ป่าและพันธุ์พืชจนสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าว และจับกุมอาชญากรรมองค์กรสำคัญได้หลายคดีจนเป็นที่น่าพอใจกับนานาชาติ
ทั้งนี้ หากประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างจริงจัง ในระยะยาวอาจถูกคว่ำบาตร โดย CITES สั่งห้ามประเทศสมาชิกกว่า 176 ประเทศ นำเข้าสินค้าสัตว์และพืชจากไทย เช่น หนังจระเข้ กล้วยไม้ และสัตว์สวยงาม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้สูญเสียรายได้จากการส่งออกปีละประมาณ 5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากความจริงจังในการแก้ไขปัญหาของไทย ก็เชื่อว่าในการประชุมภาคีอนุสัญญาไซเตส ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ คณะกรรมการจะปลดล็อกไทยออกจากบัญชีดำ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit