วสท.ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตเหล็กฯ จัดงาน“เหล็กข้ออ้อยกับงานก่อสร้างยุคประเทศไทย 4.0”

27 Jul 2016
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า จัดงานแถลงข่าว "เหล็กข้ออ้อยกับงานก่อสร้างยุคประเทศไทย 4.0" นำโดย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการพร้อมด้วยรศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.),นายอดิศร สุขพันธุ์ถาวร ผู้แทนสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า และนายธวัชชัย คูณชัยพานิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท งามวงศ์วานการช่าง จำกัด และบริษัท กิจการร่วมค้างามวงศ์วาน จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ในการใช้เหล็กอย่างถูกวิธี เพื่อประสิทธิภาพและความมั่นคงของอาคาร สิ่งปลูกสร้าง คลี่คลายข้อสงสัยของบุคลากร เจ้าของโครงการ และผู้รับเหมาเกี่ยวกับคุณสมบัติของเหล็กข้ออ้อยที่ผลิตผ่านกรรมวิธีทางความร้อน SD40T และ SD50T เผยภาพรวมของไทยมีการผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างปัจจุบันปีละประมาณ 2 ล้านตัน เป็นเหล็กเส้นข้ออ้อย 85 % โดยมีเหล็กที่ผลิตด้วยกระบวนการทางความร้อน คิดเป็น 90 %
วสท.ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตเหล็กฯ จัดงาน“เหล็กข้ออ้อยกับงานก่อสร้างยุคประเทศไทย 4.0”

รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ (Assoc.Prof.Siriwat ChaiChana) เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า เหล็กเป็นวัสดุสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร และสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนความคงทนต่อภัยพิบัติ ขณะที่การพัฒนากำลังก้าวสู่เป้าหมายประเทศไทย 4.0 และการเติบโตขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างและสาธารณูปโภคนั้นเหล็กข้ออ้อยในปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เป็นไปตามมาตรฐานบังคับ มอก. 24-2548 ซึ่งได้รับการปรับปรุงจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต : เหล็กข้ออ้อย ที่ มอก.24-2536 สาระสำคัญประการหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานของเหล็กข้ออ้อยในครั้งนี้ ได้แก่การอนุญาตให้มีการผลิตเหล็กข้ออ้อยโดยผ่านกรรมวิธีทางความร้อน (Heat Treatment Rebar หรือ Tempcored Rebar) โดยกำหนดให้ผู้ผลิตต้องจัดทำเครื่องหมายที่เหล็กข้ออ้อยโดยใช้สัญลักษณ์ "T"ประทับเป็นตัวนูนถาวรบนเนื้อเหล็กตามหลังชั้นคุณภาพที่ผลิตขึ้น ดังนั้นเหล็กข้ออ้อยที่ผลิตด้วยกรรมวิธีนี้ในชั้นคุณภาพ SD40และ SD50 จึงปรากฏสัญลักษณ์ตัวนูนเป็น SD40T และ SD50T ตามลำดับ

ภายหลังจากอนุญาตให้ผลิตเหล็กข้ออ้อยตามมาตรฐานนี้เมื่อปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน ผู้ผลิตส่วนใหญ่ได้ปรับมาใช้วิธีการผลิตเหล็กข้ออ้อยด้วยกรรมวิธีความร้อนทั้งสิ้น ทำให้เหล็กข้ออ้อยการผลิตในชั้นคุณภาพ SD40 และ SD50 ที่ปราศจากตัวนูนอักษร "T" มีปริมาณน้อย การพิจารณาถึงข้อกำหนดในรายการประกอบแบบ (Specification) ที่ระบุชั้นคุณภาพไว้เป็นเพียง SD40และ SD50 จึงเป็นปัญหาด้านการยอมรับจากเจ้าของโครงการ ทั้งส่วนราชการ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ๆ ที่การระบุอักษร "T"เป็นเพียงทำให้ผู้ใช้ทราบถึงกรรมวิธีการผลิตเท่านั้น ไม่ได้เป็นชั้นคุณภาพของเหล็กข้ออ้อยแต่อย่างใด ทั้งนี้มีประเด็นสำหรับการปฏิบัติโดยมีข้อแนะนำบางประการ ประกอบไปด้วย การต่อเหล็กเส้น (Bar Splices) โดยการเชื่อมไฟฟ้า (welding) หรือการทำเกลียว เพื่อทำข้อต่อทางกล (Mechanical Coupler) การดัดโค้ง (Bending) และความทนทานต่อไฟ (Fire Resistance)

รศ.เอนก ศิริพานิชกร (Assoc.Prof.Anek Siripanichgorn) ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และประธานกรรมการวิชาการ คณะที่ 9 (กว.9) สมอ. กล่าวว่า หลักการผลิต และขั้นตอนการผลิตเหล็กข้ออ้อยที่ผ่านกรรมวิธีทางความร้อนนั้น จะเริ่มต้นด้วยกระบวนการรีดร้อนเช่นเดียวกับเหล็กข้ออ้อยปกติ โดยภายหลังจากการรีดร้อนแท่นสุดท้ายที่ทำให้เหล็กข้ออ้อยมีขนาดตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแล้ว เหล็กเส้นดังกล่าวจะผ่านกระบวนการทำให้เย็นโดยการฉีดสเปรย์น้ำ เหล็กเส้นจะเกิดการเย็นตัวเร็วกว่าการเย็นในอากาศปกติ จนได้การเย็นตัวที่เหมาะสมพอแล้วจึงหยุดการฉีดสเปรย์น้ำ โครงสร้างของเหล็กเส้นบริเวณขอบด้านนอกที่โดนน้ำจึงเกิดเปลี่ยนแปลงเป็นเฟสที่มีความแข็งสูง ในขณะที่โครงสร้างบริเวณใจกลางของเหล็กเส้นจะยังคงมีความร้อนอยู่ และยังไม่เกิดการเปลี่ยนเฟส บริเวณแกนกลางของเหล็กเส้นก็จะเริ่มเย็นตัวในบรรยากาศ และแผ่ความร้อนจากด้านในออกมาบริเวณผิวของเหล็กข้ออ้อย ด้วยความร้อนดังกล่าวจึงทำให้เกิดกระบวนการอบคลายความเครียดของโครงสร้างบริเวณขอบของเหล็กเส้นที่มีความแข็ง ในขณะที่โครงสร้างบริเวณแกนกลางของเหล็กเส้นก็จะเย็นตัวจนถึงอุณหภูมิห้อง และท้ายที่สุดจึงได้เหล็กเส้นที่มีสมบัติทางกลตามที่ต้องการ และเรียกเหล็กเส้นที่ผลิตชนิดนี้ว่าเป็น "TEMP-CORE" ซึ่งแสดงถึงกรรมวิธีที่ทำให้เย็นตัวอย่างรวดเร็วบริเวณขอบ และอบคลายความเครียดตกค้างการแผ่ความร้อนจากแกนกลางออกมาด้านนอก จัดเป็นกรรมวิธีทางความร้อน (Heat Treatment) ประเภทหนึ่ง ด้วยกระบวนการผลิตดังที่กล่าวมานี้ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเหล็กเส้นที่มีการเติมธาตุ C และ Mn ที่น้อยกว่าการผลิตเหล็กข้ออ้อยด้วยการปรุงแต่งทางเคมีปรกติ โดยที่เหล็กข้ออ้อยยังมีสมบัติทางกลทั้งในด้านความแข็งแรง และความเหนียวที่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามเหล็กเส้นที่ผลิตจากกรรมวิธีทางความร้อนจะมีความแข็งแรงมากที่ขอบมากกว่าแกนใน จึงควรหลีกเลี่ยงการกลึง หรือลดขนาดเหล็กอย่างมากก่อนนำไปใช้งาน

นายอดิศร สุขพันธุ์ถาวร (Mr.Adisorn Sukapuntavorn) ผู้แทนสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างมีประมาณปีละ 2 ล้านตัน เป็นเหล็กเส้นข้ออ้อย 85 % มีเหล็กที่ผลิตด้วยกระบวนการทางความร้อน คิดเป็น 90 % ที่เหลือเป็นเหล็ก Bar in coil โดยมาตรฐานและกระบวนการนี้ได้ออกมาตั้งแต่ปี 2548 และก็มีการใช้งานเป็นเวลานาน อย่างปลอดภัยและไม่พบปัญหาการนำไปใช้งานจริงแต่อย่างใด กระบวนการผลิตที่แตกต่างระหว่างเหล็กข้ออ้อยเกรด SD40 และ SD40T คือกระบวนการควบคุมการเย็นตัวของเหล็กเส้นในระหว่างการรีดร้อนเท่านั้น โดยเหล็กทั้งสองเกรด คือ SD40 และ SD40T จะมีคุณสมบัติที่ทัดเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติทางกายภาย ทางเคมี ทางกล คุณสมบัติการใช้ที่อุณหภูมิสูง และการเชื่อม นอกจากนี้ ในการนำไปใช้งานก็จะมีการนำตัวอย่างเพื่อใช้ในการทดสอบคุณสมบัติของการใช้งานอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาไม่พบปัญหาคุณภาพที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันของเหล็กทั้งสองชนิด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับระยะเวลาที่มีการใช้งานมานาน รวมถึงใช้การใช้งานกันอย่างแพร่หลายจนมีประมาณมากกกว่า 90 % ของการใช้งาน ทำให้สรุปได้แน่นอนว่าไม่มีปัญหาการใช้งานแต่อย่างใด

นายธวัชชัย คูณชัยพานิชย์ (Mr.Thawatchai Koonchaipranich) กรรมการผู้จัดการ บริษัท งามวงศ์วานการช่าง จำกัด และบริษัท กิจการร่วมค้างามวงศ์วาน จำกัด กล่าวว่า มีการใช้เหล็กข้ออ้อยเกรด SD40 และ SD40T นี้ในการออกแบบอาคารโครงสร้างมาเป็นเวลานานแล้ว โดยไม่มีการจำกัดเงื่อนไขการใช้งานแต่อย่างใด และจากผลการออกแบบและใช้งาน ก็ไม่พบปัญหาแต่อย่างใด ดังนั้นหากมีการจำกัดและกำหนดยกเลิกการใช้งาน เหล็กเกรด SD40T จะสร้างความเดือดร้อนในการขาดแคลนสินค้าเหล็กข้ออ้อย ที่ปัจจุบันผลิตด้วยกระบวนการทางความร้อนเกือบทั้งหมด อย่างไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด

วสท.ขอเสนอแนะวิธีการใช้เหล็กข้ออ้อยที่ผ่านกรรมวิธีทางความร้อน ดังนี้ 1.เหล็กข้ออ้อยที่มีสัญลักษณ์ตัวนูน"T" เป็นเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตที่ผ่านกรรมวิธีทางความร้อนเท่านั้นโดยยังคงมีชั้นคุณภาพตามที่กำหนดไว้ใน มอก. 24-2548 ทุกประการ 2.สมบัติทางกลของเหล็กข้ออ้อยที่ผ่านกรรมวิธีทางความร้อนซึ่งประกอบไปด้วยกำลังดึง ความยืด และการดัดโค้งไม่แตกต่างกับเหล็กข้ออ้อยที่ผลิตจากการปรุงแต่งด้วยธาตุ 3.สมรรถนะในการต่อเหล็กเส้นที่ผ่านกรรมวิธีทางความร้อนไม่มีความแตกต่างกับเหล็กข้ออ้อยที่ผลิตจากการปรุงแต่งด้วยธาตุ ทั้งนี้ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และต้องจัดให้มีการทดสอบกำลังดึงของจุดต่อให้เป็น ไปตามมาตรฐาน และหลักปฏิบัติที่ดี 4.ความทนทานต่อไฟไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และหากนำไปใช้เสริมคอนกรีต และกำหนดระยะหุ้มให้เป็นไปตามมาตรฐาน และกฎหมายจะมีสมรรถนะในการต้านทานไฟที่ดี ไม่แตกต่างกัน5.ในคราวการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตครั้งต่อไป คณะกรรมการวิชาการ คณะที่ 9 จะพิจารณาขอบข่าย และการกำหนดสำหรับเหล็กข้ออ้อยที่ผ่านกรรมวิธีทางความร้อนให้ชัดเจนขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้มีความมั่นใจ และเข้าใจผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้ให้มากยิ่งขึ้น

HTML::image( HTML::image( HTML::image(