ช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะ ลด ละ เลิกสุรา เพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังคำขวัญของนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ปี 2559 "ครอบครัว เยาวชน คนรุ่นใหม่ ห่างไกลสุรา พาชาติเจริญ" ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา 3 เดือน นักดื่มทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่จำนวนมากอาจมีความตั้งใจที่จะหยุดดื่ม และมักพบว่า ส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีการหยุดดื่มแบบหักดิบ จึงทำให้พบผู้ป่วยเกิดอาการถอนพิษสุรา หรือ อาการลงแดง อยู่เสมอๆ เช่น อาการตัวสั่น เครียด ชัก ประสาทหลอน สับสนวุ่นวาย เป็นต้น ดังนั้น หากมีความตั้งใจที่จะงดเหล้าช่วงเข้าพรรษานี้ นักดื่มและผู้ใกล้ชิด จึงต้องเตรียมแผนรับมืออาการที่จะเกิดขึ้นให้ดี โดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรก หากมีอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง หงุดหงิดกระสับกระส่าย ใจสั่น มือสั่น เหงื่อแตก ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยบำบัดอาการ ทั้งนี้ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน นพ.ปริทรรศ ศิลปกิจ นายแพทย์เชี่ยวชาญ รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า สถิติการเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุราของโรงพยาบาลสวนปรุง ซึ่งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจากแอลกอฮอล์ พบว่า ในรอบ 3 ปี (ปี 2556-2558) มีจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดไม่น้อยกว่า 4 พันราย 4,784 ราย 4,307 ราย และ 4,268 ราย ตามลำดับ เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง พบกลุ่มวัยทำงาน อายุ 35-44 ปี มากที่สุด ขณะที่ กลุ่มเยาวชน อายุ 15-19 ปี เป็นช่วงอายุน้อยที่สุดที่พบ โดยพบว่าเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุราเพิ่มขึ้นทุกปี จาก 4 ราย ในปี 2556 เป็น 6 ราย ในปี 2557 และ 9 ราย ในปี 2558 ซึ่ง ผู้ที่มีแนวโน้มจะติดสุรา ที่คาดว่าในที่สุดจะต้องส่งมารักษานั้นยังมีอยู่จำนวนมาก จึงควรร่วมกันสังเกตว่า ผู้ที่ดื่มสุราที่อยู่ใกล้ชิดท่าน เริ่มติดสุราหรือไม่ โดย สังเกตว่ามีอาการ 3 ใน 7 อย่าง ต่อไปนี้ หรือไม่ ได้แก่ 1.ต้องเพิ่มปริมาณการดื่มมากขึ้นจึงจะได้ฤทธิ์เท่าเดิม 2. มีอาการทางร่างกายเมื่อไม่ได้ดื่ม 3. ควบคุมการดื่มไม่ได้ 4. มีความต้องการอยู่เสมอที่จะเลิกดื่มหรือพยายามหลายครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ 5. หมกมุ่นกับการดื่มหรือการหาสุรามาดื่ม 6. มีความบกพร่องในหน้าที่การงานหรือการพักผ่อนหย่อนใจ และ 7. ยังคงดื่มอยู่ทั้ง ๆ ที่มีผลเสียเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งหากพบอาการ 3 ใน 7 อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบขอคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง สำหรับแนวทางการช่วยคนใกล้ชิดในครอบครัวให้เลิกสุรานั้น แนะว่า ไม่ควรชักจูงด้วยวิธีการขู่ ดุด่า หรือยื่นคำขาดโดยเอาความสัมพันธ์มาเป็นเดิมพัน เพราะอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก อาจใช้เทคนิคชักจูง ดังนี้ 1.พูดในเวลาที่เหมาะสม ไม่พูดในช่วงที่เขาเมาอยู่ ที่สำคัญไม่ควรด่าว่า หรือมองด้วยแววตาดุร้าย 2.ไม่เซ้าซี้ แต่แสดงความเป็นห่วงสุขภาพแทน 3.หากผู้ดื่มตั้งใจอยากเลิกหรือบ่นว่าอยากเลิกดื่มสุรา ควรชื่นชมพร้อมกับให้กำลังใจ ให้ความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถทำได้ อยู่เคียงข้าง ให้คำแนะนำวิธีการช่วยเหลือต่าง ๆ และพาพบแพทย์ 4. หากผู้ดื่มไม่ยอมพบแพทย์ แต่จะขอหยุดดื่มด้วยตัวเอง ควรให้ความมั่นใจกับเขาว่าการไปพบหมอเป็นวิธีการที่ปลอดภัย ไม่ทรมาน และมีโอกาสเลิกได้สูง แต่หากเขายังยืนยันที่จะหยุดดื่มด้วยตัวเอง ก็ไม่ควรเซ้าซี้ต่อ ให้เขาลองหยุดดื่มด้วยตัวเองไปก่อน พร้อมกับหาวิธีการหยุดดื่มด้วยตัวเองเพื่อช่วยเหลือเขาต่อไป
การดื่มสุราลดลง ย่อมทำให้สุขภาพดีขึ้น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆก็ลดลงตาม หรือโรคที่เป็นอยู่สามารถควบคุมได้ดีขึ้น ลดปัญหาสังคม ความรุนแรงต่างๆ ลงได้ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการลดปริมาณการดื่มลง ควรลดปริมาณการดื่มให้ต่ำกว่าปริมาณการดื่มสุราที่เคยดื่ม เช่น กำหนด และจำกัดปริมาณที่จะดื่ม ดื่มช้าๆ เพื่อจะได้มีสติในการยั้งคิด ดื่มน้ำเปล่าสลับบ้างในระหว่างที่ดื่มสุรา เพื่อทิ้งช่วงในการดื่มให้ห่างขึ้น ทำกิจกรรมอย่างอื่นทดแทน เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา ทำงานศิลปะ งานอดิเรกต่างๆ ปฏิบัติธรรม หลีกเลี่ยงกลุ่มเพื่อนที่เคยดื่มด้วยกัน พบปะหรือเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนที่ไม่ดื่มแทน หากถูกชักชวนให้ดื่ม ให้ปฏิเสธโดยตรงว่ามีปัญหาสุขภาพ หรือหมอสั่ง ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหลังดื่มสุรา และไม่ควรดื่มสุราเมื่อมีการทานยาทุกชนิด เป็นต้น หากไม่ประสบความสำเร็จในการลดปริมาณการดื่มลง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับความช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ โรงพยาบาลสวนปรุงและภาคีเครือข่ายได้ร่วมมือกันจัดโครงการรณรงค์ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตจากการดื่มสุรา "ชีวิตล้ำเลิศ...ถ้าเลิกสุรา" ตลอดเดือนกรกฎาคม นี้ เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นเตือนให้ประชาชน ผู้ที่ดื่มประจำ และนักดื่มหน้าใหม่ตระหนักถึงผลเสียของการดื่มสุรา เผยแพร่ความรู้แนวทางการเลิกสุราให้สำเร็จ สนับสนุน และให้กำลังใจในผู้ที่ติดสุราให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะเลิกสุราอย่างจริงจังและเข้าถึงการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการลดละเลิกสุราโดยต้นแบบชุมชน องค์กร และเครือข่ายลด ละ เลิกสุรา ในเขตสุขภาพที่ 1 และ 2 หัวข้อการอภิปราย เช่น "แนวทางการลดละเลิกสุราโดยต้นแบบชุมชน" "ทำอย่างไรให้ใจเลิกสุรา" "การจัดการเลิกสุราภาษาวัยรุ่น" ตลอดจนการจัดนิทรรศการชุมชนต้นแบบลด ละ เลิก สุรานพ.ปริทรรศ กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit