มหาวิทยาลัยนเรศวรศึกษาการเปลี่ยนแปลงของชุมชนชาวม้ง ณ บ้านใหม่ร่องกล้า นครไทย ประกอบงานวิจัย “การจัดการชุมชนท่องเที่ยวภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืน”

31 May 2016
"ซากุระเมืองไทย" หรือ "นางพญาเสือโคร่ง" ดอกสุดท้าย ณ ภูลมโล ร่วงโรยไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่พวกเราชาวสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร มาเยือนที่นี่ในช่วงเดือน ๖ สัมผัสกับอากาศอันแสนอบอ้าวร้อนระอุ ด้วยภารกิจ "การรวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของชุมชนชาวม้ง บ้านใหม่ร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก" ซึ่งเป็นชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกระแสการท่องเที่ยวภูลมโล เพื่อประกอบงานวิจัย "การจัดการชุมชนท่องเที่ยวภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืน"
มหาวิทยาลัยนเรศวรศึกษาการเปลี่ยนแปลงของชุมชนชาวม้ง ณ บ้านใหม่ร่องกล้า นครไทย  ประกอบงานวิจัย “การจัดการชุมชนท่องเที่ยวภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงการดำเนินงานว่า

"การลงพื้นที่ ณ บ้านใหม่ร่องกล้าครั้งนี้ เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมพื้นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งในหมู่บ้าน ตลอดจนศึกษาผลกระทบจากกระแสท่องเที่ยวภูลมโลในด้านต่าง ๆ โดยอาศัยแนวคิดทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชองชุมชน แนวคิดด้านการท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจของชุมชน"

"ข้อมูลที่ได้จะนำไปประกอบในงานวิจัย 'การจัดการชุมชนท่องเที่ยวภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืน' เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย ในรูปแบบการจัดการร่วมของชุมชนท่องเที่ยวหลายพื้นที่หลายหน่วยงาน บนฐานนิเวศวัฒนธรรมร่วมกัน โดยมีที่ปรึกษาคือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุลีรัตน์ จันทน์เชื้อ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ทีมวิจัยของดร.วารัชต์ มัธยมบุรุษ มหาวิทยาลัยพะเยา อาจารย์มณฑล ศรีสุข มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และพันโท ดร.รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์"

ภารกิจของเราเริ่มต้นด้วยการเดินสำรวจรอบหมู่บ้าน พูดคุย ทักทาย ถ่ายภาพ และการสัมภาษณ์คนในชุมชน เข้าบ้านโน้นออกบ้านนี้ บ้างก็เดินหลงกว่าจะพบคนที่ต้องการ การแบ่งสายกันไปวัด โบสถ์ โรงเรียน โฮมเสตย์ ร้านขายของชำ ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม จากนั้นเริ่มออกนอกหมู่บ้าน พวกเราเดินเท้าไปยังไร่กะหล่ำปลี ระยะทางกว่า ๑ กิโลเมตร เพื่อพบกับคุณป๋อ วชิรวงศ์วรกุล ประธานกรรมการการท่องเที่ยวชุมชนบ้านใหม่ร่องกล้า ซึ่งเป็นชาวม้ง มีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม ที่ทรหดที่สุดก็เห็นจะเป็นการหยิบยืมรถจักรยานยนต์ของชาวบ้าน แบ่งสายกันไต่ขึ้นเขา ฝ่ามวลฝุ่น ดงกรวดหิน เส้นทางอันขรุขระ เต็มไปด้วยหลุม บ่อ มุ่งไปยังรีสอร์ทต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านและครอบคลุมที่สุด

"เมื่อปี ๒๕๕๑ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยมีอาจารย์ชุลีรัตน์ จันทร์เชื้อ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม เข้ามาสำรวจพื้นที่ในหมู่บ้านว่ามีดีอะไร มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรบ้าง ตอนนั้นเริ่มมีการปลูกซากุระกันแล้ว ใช้เวลาเกือบ ๒ ปี ในการศึกษาวิจัย สรุปได้ว่าสามารถจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ๖ โปรแกรมคือ เกษตร ประวัติศาสตร์การต่อสู้สมัยพรรคคอมมิวนิสต์ ประเพณีและวัฒนธรรม ธรรมชาติ สมุนไพร โฮมสเตย์ และเรื่องสุดท้ายที่เราเปิดคือ ภูลมโล ซึ่งเป็นตัวหลักทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามา" คุณป๋อ วชิรวงศ์วรกุล ประธานกรรมการการท่องเที่ยวชุมชนบ้านใหม่ร่องกล้า เล่าถึงจุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวบ้านใหม่ร่องกล้ามีลักษณะพิเศษ คือ เป็นชุมชนที่มีชาวม้งอาศัยอยู่มายาวนาน ในจำนวนกว่า ๑๐๐ หลังคาเรือน มีคนไทยประมาณ ๑๐ – ๒๐ หลังเท่านั้น มีทั้งกลุ่มนับถือผีบรรพบุรุษ กลุ่มนับถือศาสนาพุทธ และกลุ่มนับถือศาสนาคริสต์ ที่นี่จึงมีทั้งวัด โบสถ์ และพิธีกรรม ความเชื่อ อันหลากหลาย ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว แครอท พลับ เผือกหอม ข้าวโพด เป็นต้น

สำหรับการปลูกซากุระหรือนางพญาเสือโคร่งนั้น คุณจู ลีชานนท์ ชาวม้งเล่าว่า

"เมื่อก่อนก็ปลูกแครอท เผือก กะหล่ำปลี พอเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว ส่งลูกเรียนได้ ต่อมาคิดปลูกซากุระ จึงทำโครงการขอพันธุ์มา ทางหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้าก็เสนอให้เราปลูกซากุระบนพื้นที่ของอุทยาน โดยปลูกพืชผักของเราไปด้วย พอซากุระโตก็ให้เราย้ายออก พวกเราก็ปลูกได้ ๓ ปี แล้วมอบคืนให้ทางอุทยานฯ"

เมื่อซากุระเติบโต เบ่งบาน สะพรั่ง ทั่วทั้งภูเขา จึงเริ่มเป็นที่รู้จัก เล่าขาน บอกต่อ จนเกิดเป็นเทศกาลซากุระเมืองไทยบานที่ภูลมโล บนพื้นที่ ๔,๐๐๐ ไร่ ในช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ของทุกปี กลายเป็นกระแสการท่องเที่ยวที่โหมกระหน่ำอย่างรวดเร็ว ชุมชนบ้านใหม่ร่องกล้าจึงเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงชนิดที่ตั้งตัวไม่ทัน ชุมชนต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ

จากอาชีพเกษตรกรรมดั้งเดิมสู่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว

เมื่อถึงฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ ของทุกปี บ้านใหม่ร่องกล้าจะเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ นั่นคือ หันมาประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น รถบริการพานักท่องเที่ยวขึ้นภูลมโล คันละ ๘๐๐ บาท การเปิดบ้านโฮมสเตย์ในอัตรา ๑๘๐ – ๒๐๐ บาทต่อคน การสร้างบ้านพักรีสอร์ท มีตั้งแต่ราคา ๑,๐๐๐ – ๓,๐๐๐ บาท การจำหน่ายพืช ผัก ผลไม้ ที่ปลูกเป็นอาชีพและที่ปลูกเพิ่มเติมในช่วงเทศกาล เช่น สตรอเบอรี, มัลเบอรี่ เป็นต้น รวมถึงเสื้อผ้า ของที่ระลึกต่าง ๆ ตลอดจนร้านขายของชำ ร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ พอหมดฤดูกาลท่องเที่ยวก็กลับมาทำเกษตรกรรมเหมือนเดิม"เรามีการท่องเที่ยวชุมชน บริหารจัดการเอง โดยที่ทางส่วนกลางไม่เข้ามายุ่ง เพียงแต่

ว่าหน่วยงานส่วนกลางเป็นพี่เลี้ยงให้เรา เป็นที่ปรึกษา เช่น เจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อาจารย์จากราชภัฏพิบูลสงคราม มีกรรมการทั้งหมด ๗ คน ผมเป็นประธานกลุ่ม ชื่อว่า ชมรมท่องเที่ยวบ้านใหม่ร่องกล้า" ป๋อ วชิรวงศ์วรกุล กล่าว"พอถึงช่วงเทศกาลเราก็ตั้งร้านขายของหน้าบ้าน มีพืช ผัก ผลไม้ และเราสั่งทำเสื้อยืดสกรีนร่องกล้า หมวก ผ้าพันคอมาจากภูทับเบิก รายได้อยู่ที่ ๒๐,๐๐๐ – ๓,๐๐๐๐ บาทต่อวัน ยังไม่หักต้นทุน เฉพาะต้นทุนก็หมื่นกว่าบาทแล้ว"

"ร้านนี้เป็นร้านที่ ๓ และมีร้านค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ขายให้คนในชุมชนนี่แหละ แต่ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเรื่อย ๆ นะ ไม่ใช่ช่วงเทศกาลก็มี และยังมีคนที่เข้ามาเก็บข้อมูลแบบน้อง ๆ อีก"

คำบอกเล่าของณัฐรดา อินสูง ชาวไทยพุทธ เจ้าของณัฐรดาโฮมสเตย์, ร้านขายของชำ, ร้านอาหารและเครื่องดื่ม, ปลูกผักกาดขาวและกาแฟพันธุ์อาราบิก้า"ชุมชนเดียวนี้มีการปรับตัวมากขึ้น ขึ้นอยู่กับเรื่องของเศรษฐกิจ ทุกคนเริ่มหันมาทำการท่องเที่ยวกันหมด ถ้าหมดช่วงการท่องเที่ยวก็จะไปทำเกษตร หมุนเวียนแบบนี้ทั้งปี ทำให้รายได้ของชาวบ้านมา ๒ ทาง จากเกษตรและการท่องเที่ยว" ผ้า แซ่หว้า ชาวม้ง เจ้าของฮ่องก๋าฮิลล์ โฮมเสตย์และเกษตรกรรม

ขณะเดียวกันด้านการขนส่งพืชผักการเกษตรก็ได้รับผลดีตามไปด้วย

"เมื่อก่อนเราต้องออกไปขายกันเอง หรือไม่ก็ส่งพ่อค้าคนกลาง ที่หล่มสัก หล่มเก่า เพชรบูรณ์ แต่เดี๋ยวนี้เค้ามารับถึงที่ไร่เลย ได้ราคาดีด้วย เคยได้ไร่ละแสนก็มี บางทีก็หมื่น มันไม่แน่นอน ราคามันอยู่ที่ช่วง" ป๋อ วชิรวงศ์วรกุล แน่นอนว่า สิ่งที่ตามมาก็คือ การเข้ามาของนายทุนเพื่อหาผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว เช่น การสร้างบ้านพักหรือรีสอร์ทผิดจากรูปแบบที่ชุมชนกำหนดขึ้น, รถบริการนักท่องเที่ยวที่เข้ามาโดยไม่หักเปอร์เซนต์ให้ชุมชนตามระบบ, การนำสินค้าพื้นเมืองเข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ เป็นต้น

สำหรับปัญหานี้คุณป๋อเล่าถึงวิธีการแก้ไขว่า "ก่อนที่จะทำวิจัยเรื่องการท่องเที่ยวโดยอาจารย์ชุลีรัตน์ ชาวบ้านคิดว่าเป็นไปไม่ได้สำหรับการท่องเที่ยวที่นี้ แต่ว่าเดี่ยวนี้ทุกคนอยากจะเข้ามาอยู่ในวงจรของการท่องเที่ยว ต่างจากเมื่อก่อนไม่สนใจเรื่องการท่องเที่ยว ส่วนปัญหาอีกอย่างที่ยังไม่เห็นชัดเจน คือ เรื่องผลประโยชน์ มาจากที่อื่น เช่น รถมาจากที่อื่นเขาพาไป ที่นี้เราจะขอหรือมาช่วยค่าบำรุงมันก็มีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ส่วนเจ้าของบ้านพักนี่โอเค คุยกันรู้เรื่อง ให้ความร่วมมือดี"เกิดค่านิยมใหม่

เมื่อคนในชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยว จากสังคมชนบทกลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น เช่น จากบ้านที่เคยเป็นแบบเรียบ ง่าย อิงธรรมชาติ กลายเป็นไม้ ปูน กระเบื้อง มีไฟฟ้า เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภาษาพูด ชาวม้งต้องฝึกพูดภาษาไทยเพื่อให้ขายของได้ จะมีก็แต่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่ยังคงพูดภาษาม้งและแต่งกายด้วยชุดม้งในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้จากที่เคยร่ำเรียนกันในชุมชน เรียนจบก็มาทำเกษตรกรรมของครอบครัว เปลี่ยนเป็นการเรียนในตัวเมือง พอจบการศึกษาขั้นสูงก็หันไปประกอบอาชีพอื่น

"เมื่อก่อนเป็นบ้านหลวงสร้างให้ เสาก็มี ๖-๙ ต้น และใช้ไม้สานมาทำเป็นผนัง หลังคา แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปหมดแล้ว การท่องเที่ยวเข้ามาก็ทำให้คนในชุมชนมีเงิน มีเงินก็เริ่มปรับปรุงบ้านเรือนของตนเองให้คงทนขึ้น"

"สภาพเมื่อก่อนชุมชนลำบากมาก ไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อก่อนไฟฟ้าเข้ามาถึงแค่อุทยานภูหินร่องกล้าแค่นั้นเอง ไฟฟ้าเข้ามาได้ไม่นานนี่เอง เพราะการท่องเที่ยวนี่ล่ะ"วิมล ทองแซก ชาวไทยพุทธ เจ้าของร้านขายของชำ เคยประกอบอาชีพเกษตรกรรม

"ส่งลูกไปเรียนในตัวเมืองพิษณุโลก พอเรียนจบก็ไม่กลับมาเลย เหลือคนแก่อยู่สองคน ถ้าไม่ให้เรียนเขาก็ไม่มีความรู้ พอให้เขาเรียนเขาก็มีงานของเขา จะกลับมาเฉพาะช่วงเทศกาล อย่างตอนนี้ก็เหลือคนที่เป็นครู วันที่ ๒๔ นี้ เขาก็ต้องกลับแล้ว คนอื่นเขาไม่มา แต่ครูเขาก็จะกลับมาอยู่กับพ่อแม่สัก ๒-๓ อาทิตย์" จู ลีชานนท์เกิดพื้นที่ทางสังคมในชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

บ้านใหม่ร่องกล้ามีการอนุรักษ์วัฒนธรรมประจำพื้นถิ่นของตนเองโดยผ่านการแสดงให้ นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของตนเอง โดยเฉพาะช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวมีกิจกรรมที่ส่งเสริมความเป็นเอกลักษณ์ เช่น ตลาดเด็กดอย ที่นโยบายเริ่มจากครูโรงเรียนร่องกล้าวิทยาเสนอให้เกิดการอนุรักษ์ประเพณีของชาวม้งให้อยู่อย่างยั่งยืนและสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายใต้ความร่วมมือกับชุมชน นอกจากนี้ชาวบ้านยังตั้งร้านค้าหน้าบ้านของตัวเอง เพื่อขายพืชผัก ผลไม้ สมุนไพร โดยถ้าเป็นชาวม้งก็จะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า เพื่อความเป็นเอกลักษณ์และดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวการจัดงานปีใหม่ม้ง จากแต่เดิมจัดขึ้นเพื่อสืบทอดประเพณีของชาวม้ง ได้มีการปรับรูปแบบเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เช่น การจัดศิลปะการแสดง การจำหน่ายสินค้าพื้นถิ่น การตกแต่งพื้นที่ สถานที่จัดงานให้มีความสวยงาม น่าสนใจ เป็นต้น ซึ่งปีนี้มีการจัดงานปีใหม่ม้งขึ้น เมื่อวันที่ ๑๑ - ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๘

"งานปีใหม่ม้งเป็นจุดศูนย์รวมของคนในหมู่บ้าน ทั้งชาวม้งและไทยพุทธจะไปสังสรรค์ร่วมกัน มีการละเล่น การขายของ การแสดงต่าง ๆ สนุกสนานมาก ก่อนถึงวันงานก็จะไปช่วยกันจัดสถานที่ให้สวยงาม ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วย" ณัฐรดา อินสูงอย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ได้ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เพราะในขณะเดินเก็บข้อมูลก่อนกลับเราพบกับกลุ่มหญิงม้งสูงอายุที่สวมใส่ชุดม้งแบบเต็มยศ นั่งปักผ้าคาดเอวกันอยู่ คุณป้า คุณยายพูดภาษาไทยไม่ได้เลย โชคดีที่มีสาวม้งหนึ่งคนพูดไทยได้ จึงอาสาเป็นล่ามให้ และแน่นอนว่า ล่ามจำเป็นของเราไม่ได้สวมชุดม้ง"คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านซึ่งมีส่วนน้อยไม่ยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น บอกว่าขาดความภาคภูมิใจและรู้สึกว่าตัวเองด้อยพัฒนา เช่น การเข้ามาแจกของ การแนะนำให้เปลี่ยนวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาภายนอกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย อาหาร การรักษาสุขภาพ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ"

เมื่อเราถามถึงผ้าที่กำลังปักอยู่ ล่ามสาวบอกเราว่า "ปักไว้ใส่เอง หรือให้ลูกหลาน ไม่ได้ทำขาย เพราะราคาสูงมาก ใช้เวลาเย็บ เวลาปักเป็นเดือน เวลาเราใส่ขายของ นักท่องเที่ยวถามราคา พอเราบอกไป เขาก็ไม่คิดจะซื้อเลย เพราะราคาสูง"

ปัญหาขยะ รถติด ที่จอดรถไม่เพียงพอ ที่พักไม่เพียงพอ ดูจะเป็นปัญหาพื้นฐานที่ชาวบ้านใหม่ร่องกล้าไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ชุมชนได้แก้ปัญหาโดยขอความร่วมมือจากรถบริการนักท่องเที่ยวเก็บขยะลงมาทิ้งในบริเวณที่จัดไว้ในชุมชน การเดินเรื่องขอขยายช่องทางการเดินรถ รวมถึงขอพื้นที่ว่างจากกรมอุทยานแห่งชาติเปิดพื้นที่ว่างบริเวณทางเข้าหมู่บ้านให้เป็นที่จอดรถ ส่วนเรื่องที่พักนั้นชาวบ้านมีการสร้างเพิ่มเติมและเปิดโฮมสเตย์มากยิ่งขึ้น

วันนี้การเปลี่ยนแปลง ผลกระทบ ปัญหาต่าง ๆ ยังคงเกิดขึ้น ณ บ้านใหม่ร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ให้คนในชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ หาแนวทางรับมือและแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบานปลายเช่นเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวหลาย ๆ แห่ง อย่างน้อย ๆ เราหวังว่างานวิจัย "การจัดการชุมชนท่องเที่ยวภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืน" จักเป็นประโยชน์ต่อชุมชนแห่งนี้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ภูลมโลและบ้านใหม่ร่องกล้า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงวัฒนธรรมอันงดงามและมีคุณค่าอย่างแท้จริง

มหาวิทยาลัยนเรศวรศึกษาการเปลี่ยนแปลงของชุมชนชาวม้ง ณ บ้านใหม่ร่องกล้า นครไทย  ประกอบงานวิจัย “การจัดการชุมชนท่องเที่ยวภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืน” มหาวิทยาลัยนเรศวรศึกษาการเปลี่ยนแปลงของชุมชนชาวม้ง ณ บ้านใหม่ร่องกล้า นครไทย  ประกอบงานวิจัย “การจัดการชุมชนท่องเที่ยวภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืน” มหาวิทยาลัยนเรศวรศึกษาการเปลี่ยนแปลงของชุมชนชาวม้ง ณ บ้านใหม่ร่องกล้า นครไทย  ประกอบงานวิจัย “การจัดการชุมชนท่องเที่ยวภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืน”