ดร. พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนพฤษภาคม 2559 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนพฤษภาคม 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 7.05 จุด หรือเพิ่มขึ้น 14.57% สู่ระดับ 55.45 จุด สูงกว่าระดับ 50 จุดอีกครั้ง สะท้อนทัศนคติต่อราคาทองคำเชิงบวก ซึ่งความเห็นสอดคล้องกันทั้งผู้ค้าทองคำและนักลงทุน โดยปัจจัยหนุนสำคัญอยู่ที่การอ่อนค่าของค่าเงินบาท รวมถึงแรงซื้อเก็งกำไรที่กลับเข้ามาอีกครั้ง หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวลงไปในเดือนที่ผ่านมา ส่วนปัจจัยลบสำคัญอยู่ที่การแข็งค่าของเงินดอลลาร์และแรงขายเก็งกำไร ด้านการตอบแบบสอบถามเรื่องความต้องการซื้อทองคำในช่วง 1 เดือนข้างหน้าพบว่า สัดส่วนผู้ที่คิดจะซื้อทองคำในช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 มีถึง 40.26% ขณะที่สัดส่วนผู้ที่ไม่คิดจะซื้อทองคำในเดือนนี้ลดลงมาอยู่ที่ 27.27% ของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะสามเดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเพิ่มขึ้น 4.33 จุดมาอยู่ที่ระดับ 58.35 จุด ยังสะท้อนมุมมองเชิงบวก
บทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 7 ตัวอย่าง พบว่าผู้ค้าส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในประเทศเดือนพฤษภาคม 2559 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยมีผู้ค้าถึง 5 รายมองทองคำเฉลี่ยทองคำในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม และมีเพียง 2 รายมองราคาทองเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับเดือนเมษายน และไม่มีรายใดเชื่อว่าราคาทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวลดลงในเดือนพฤษภาคม
ทั้งนี้ผู้ค้ามองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,280-1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,200-1,220 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 21,500-22,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 19,500-20,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit