กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันกระบวนการผลิตนมโรงเรียนมีคุณภาพมาตรฐานตลอดสายการผลิต แจงเหตุนมบูด 50 กล่อง เพราะระบบจัดเก็บไม่ได้มาตรฐานและอากาศร้อนจัด เร่งให้ข้อแนะนำการจัดเก็บเรียงนมที่มีคุณภาพมาตรฐานให้กับโรงเรียน

06 Jun 2016
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพมาตรฐานของนมโรงเรียน โดยได้มอบหมายให้ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) ดำเนินการวางแผนงานและโครงการสำหรับปีการศึกษา 2559 โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นทางผลิตจนถึงปลายทาง โดยพิจารณาตั้งแต่โรงงานการผลิต มาตรฐานการขนส่งจนถึงโรงเรียน โดยในระบบการผลิต ได้ให้ความสำคัญตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงโคนมต้องได้มาตรฐานระดับ GAP เพื่อส่งเสริมอาหารโคนมให้ได้คุณภาพมาตรฐาน เพื่อผลิตน้ำนมให้ได้คุณภาพดี ส่วนโรงงานผลิตนมต้องได้มาตรฐานตาม GMP กำหนด และระบบการขนส่งนมก็ต้องได้คุณภาพมาตรฐานด้วย

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า โรงเรียนอนุบาลอุดมพันธ์ จังหวัดร้อยเอ็ด มีนมกล่อง ยู เอช ที ขนาด 200 ซีซี จำนวน 259 หีบ (จำนวน 9,320 กล่อง) บูดเสียนั้น นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า ตามสิทธิพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียนเทอม 2/2558 โรงเรียนอนุบาลอุดมพันธ์ เป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของ อ.ส.ค. ในช่วงเดือน ม.ค.59 – ปิดภาคเรียน โดย อ.ส.ค. มอบอำนาจให้บริษัททุ่งกุลาแดรี่ฟูดส์ จำกัด เป็นผู้รับจ้างขนส่งมอบนมโรงเรียน ที่มีวันหมดอายุ วันที่ 26 ธ.ค.59 จำนวน 3,700 หีบ เพื่อส่งมอบให้โรงเรียนในเขตพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยบริษัทฯ ได้ส่งนมโรงเรียนให้กับโรงเรียนอนุบาลอุดมพันธ์ เป็นนม ยู เอช ที ซึ่งไม่เคยพบปัญหา แต่ในช่วงก่อนปิดภาคเรียน ได้ส่งนม ยู เอช ที ให้กับโรงเรียนดังกล่าวเพื่อให้เด็กนักเรียนไว้ดื่มในช่วงปิดภาคเรียน โดยทางโรงเรียนได้แจกนมให้เด็กนักเรียนคนละ 1 หีบ เพื่อนำกลับบ้าน และยังมีนมเหลืออีก จำนวน 148 หีบ ทางโรงเรียนเห็นว่าคงเหลือจำนวนน้อย จึงเก็บสำรองไว้ให้นักเรียนได้ดื่มในสัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียนที่ /2559 และก่อนเปิดเทอมได้ตรวจสอบนมที่เหลือมาแจกเด็กนักเรียน พบว่า มีนมโรงเรียนที่เก็บไว้บูดเสีย จำนวน 50 กล่อง

ทาง อ.ส.ค. ได้มอบหมายให้หัวหน้าสำนักงาน อ.ส.ค.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าพบผู้อำนวยการโรงเรียนอุดมพันธ์ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ในวันที่ 22 พ.ค.59 พบว่า น้ำนมที่ทำการผลิต คือ วันที่ 26 ธ.ค.58 และวันหมดอายุ วันที่ 26 ธ.ค.59 ซึ่งได้ผลิตทั้ง 6 สายการผลิต ทั้งนมพาณิชย์ และนมโรงเรียน โดยเครื่อง A จำนวน 5,873 หีบ เครื่อง Bจำนวน 6,366 หีบ รวม 2 เครื่อง จำนวนทั้งสิ้น 12,239 หีบ ส่วนเครื่องบรรจุ C D E และ F ผลิตนมพาณิชย์ ไทย-เดนมาร์ค ขนาดบรรจุ 200 C.C.

จากการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายของโรงงานนม อ.ส.ค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากบ่มตามระยะเวลา 7 วัน พบว่า นมในทุกสายการผลิตมีคุณภาพปกติ ทั้งนมพาณิชย์ และนมโรงเรียน จึงส่งมอบให้กับลูกค้าตามขั้นตอนที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่มีข่าว อ.ส.ค.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังได้ทวนคุณภาพนมที่เก็บไว้เพื่อทดสอบอายุผลิตภัณฑ์ (Shelf Life) โดยทำการตรวจสอบวันที่ 23 พ.ค.59 พบว่า ทุกสายการผลิตมีคุณภาพปกติ อีกทั้งผลิตภัณฑ์นมพาณิชย์ที่ผลิตในล็อตเดียวกัน ที่ได้ส่งมอบให้ลูกค้าก็ไม่มีการร้องเรียนจากผู้บริโภค ส่วนนมโรงเรียนได้ส่งมอบให้ผู้รับจ้างขนส่งของ อ.ส.ค. จำนวน 4 ราย รวมจำนวน 12,239 หีบ พบปัญหาเฉพาะที่โรงเรียนอนุบาลอุดมพันธ์ ที่เก็บนมสำรองไว้ให้เด็กในช่วงเปิดเทอม ซึ่งอาจเป็นเพราะสภาพอากาศที่ร้อนมากในช่วงปิดเทอม และจัดเก็บไว้นานเกิน 2 เดือน รวมทั้งมีสภาพการกดทับจากการเรียงซ้อนที่เกินมาตรฐานกำหนด ทำให้มีสัตว์พาหะ เช่น มด สามารถเข้าไปกัดและทำลายได้

"นมทุกสายการผลิตของโรงงานนม อ.ส.ค. มีคุณภาพปกติ ทั้งนมพาณิชย์ และนมโรงเรียน ส่วนที่นมเสีย จำนวน 50 กล่อง คาดว่า สาเหตุมาจากการจัดเก็บที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานในสภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเดือน เม.ย.- พ.ค.59 โดยจัดเก็บไว้ในอาคารที่มีหลังคาต่ำ และมีการเรียงกดทับซ้อนที่เกินมาตรฐานกำหนด อย่างไรก็ตาม ทางผู้อำนวยการโรงเรียน ยืนยันว่า ไม่มีเด็กนักเรียนท้องเสีย เนื่องจากมีการตรวจสอบก่อนทุกครั้งที่แจกนมให้เด็กนักเรียนดื่ม และ อ.ส.ค.ได้นำนมไปเปลี่ยนให้โรงเรียนอนุบาลอุดมพันธ์ จำนวน 50 หีบแล้ว พร้อมทั้งได้ให้ข้อแนะนำด้านการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อนให้เด็กดื่ม รวมทั้งการจัดเรียงตามหลักเกณฑ์มาตรฐานนมโรงเรียน โดยให้จัดวางบนไม้พาเลทรองนม จากเดิมที่วางบนพื้นซีเมนต์ และให้เรียงสูงได้ไม่เกิน 8 ชั้น ซึ่งทางโรงเรียนได้รับทราบและพอใจต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว" นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าว