ด้าน ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. เตรียมปรับแผนการดำเนินการเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ เช่น ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ได้ดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกร โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการปลูก กรีด เก็บ ให้ได้ผลผลิตและคุณภาพที่เพิ่มขึ้น เป้าหมายระยะ 3 ปี จำนวน 77,000 ราย ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 6,072 ราย ส่วนด้านการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่ายางพารา สืบเนื่องจากมีความต้องการลดการขายยางพาราในรูปวัตถุดิบลง เพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรมากขึ้น จึงมีโครงการเข้ามารองรับ คือ "โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา" เพื่อขยายกำลังการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปเบื้องต้น โดยร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ยื่นกู้จำนวน 209 ราย ได้รับอนุมัติจากธ.ก.ส.แล้วจำนวน 95 ราย วงเงิน 490 ล้านบาท นอกจากนี้ ปัจจุบัน กยท. ได้ศึกษาแนวทางโรงอัดแท่งประชารัฐเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนโรงอัดแท่งในระดับชุมชนมากขึ้น
สำหรับมาตรการเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศ จากโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ยางภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง มีการสรุปความต้องการใช้ยาง ในปี 2559 จำนวน 60,000 ตัน ส่วนปี 2560 มีหน่วยงานเสนอความต้องการใช้ยางเข้ามาขณะนี้ 30,000 ตัน ซึ่งปัจจุบันยางในสต๊อก กยท. มี 2,000 กว่าตัน กำลังดำเนินการจัดส่งให้หน่วยงานที่ยื่นใบสั่งซื้อเข้ามา ภายในเดือน มิ.ย. นี้ และนโยบายรอง ด้านการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรประกอบอาชีพเสริม ได้เร่งดำเนินการ "โครงการผลิตเพื่อเสริมรายได้ในสวนยางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งแผนการดำเนินงานในปี 2559 ได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกพืชแซม และพืชคลุมดินในสวนยางพาราบนพื้นที่เป้าหมาย 80,000 ไร่ ปัจจุบันดำเนินการปลูกพืชแซมแล้วจำนวน 8,900 ไร่ และพืชคลุมดินจำนวน 2,800 ไร่ ดร.ธีธัช กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit