วิศวเกษตร มทร.ธัญบุรี ออกแบบและสร้างเครื่องตะบันน้ำ ประหยัดพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน

06 Jun 2016
2 หนุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมดินและน้ำ ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี นายพงษ์เทพ ด้วงทอง และนายพรหมรินทร์ เงาภู่ทอง โดยมีอาจารย์วีระพงษ์ ครูส่ง เป็นอาจารย์คอยให้คำปรึกษา ออกแบบและสร้างเครื่องตะบันน้ำ เพื่อลดการใช้พลังงานในระบบให้น้ำแบบไมโคร
วิศวเกษตร มทร.ธัญบุรี ออกแบบและสร้างเครื่องตะบันน้ำ ประหยัดพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน

เจ้าของผลงาน เล่าว่า ออกแบบและสร้างเครื่องตะบันน้ำ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เครื่องตะบันน้ำในระบบให้น้ำแบบไมโคร (Micro Irrigation System) ส่งน้ำขึ้นไปเก็บไว้ในถังสูงแล้วปล่อยลงมาให้กับระบบให้น้ำแบบไมโคร แล้วส่งน้ำเข้าไปในระบบให้น้ำแบบไมโครโดยตรง ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน ซึ่งใช้งบประมาณในการสร้างประมาณ 600 บาท สำหรับอุปกรณ์และเครื่องประกอบด้วย 1.ท่อ PVC 2.ข้อต่อ PVC ต่างๆ 3.เช็ควาล์วแบบลิ้น 4.ฟุตวาล์ว 5.วาล์วเปิด-ปิด 6.ถังบรรจุน้ำ 7.มาตรวัดน้ำ 8.สายยาง 9.กาวทาท่อ 10.เทปพันเกลียว 11.กรรไกรตัดท่อ หรือเลื่อย 12.ตลับเมตร 13.ฐานรองถังน้ำ 14.เครื่องมือวัดแรงดัน

ขั้นตอนการดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ออกแบบและสร้างเครื่องตะบันน้ำที่มีขนาดเล็ก ต้นทุนต่ำ สามารถส่งน้ำขึ้นไปในที่สูงได้อย่างน้อย 5 เมตร จากที่ระดับความสูงของน้ำทางด้านเข้าไม่เกิน 2 เมตร ส่วนที่ 2 ทำการทดสอบหาค่าอัตราการไหลที่ความสูงของระดับน้ำ ทางด้านเข้าที่ 3 ระดับ ทางด้านออกที่ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับน้ำทางด้านเข้าที่ 2.00 , 2.25 และ 2.50 เมตรทางด้านออกที่ 5.00, 5.50 และ 6.00 เมตร โดยผลจากการทสอบพบว่า ช่วงที่เครื่องตะบันน้ำเริ่มทำงานเท่ากับความสูงของระดับน้ำทางด้านเข้าบวกกับ 75 % ของความสูงของระดับน้ำทางด้านเข้า ระดับน้ำทางด้านออกที่สูงขึ้น อัตราการไหลของน้ำทางด้านเข้าและทางด้านออกลดลง เครื่องตะบันน้ำทางด้านเข้าที่ขนาด 1 นิ้ว สามารถส่งน้ำขึ้นไปยังที่สูงมากกว่า 6 เมตร ได้ จากความสูงของน้ำทางด้านเข้าที่ 2 เมตร แรงดันสูงสุดที่เครื่องตะบันน้ำสามารถทำได้เท่ากับ 1.7 บาร์ สามารถนำไปใช้ในระบบให้น้ำแบบไมโครได้โดยตรงหรือนำไปเก็บไว้ในถังสูงแล้วนำมาใช้ในภายหลังได้

สำหรับข้อจำกัดของเครื่องตะบันน้ำเครื่องนี้ หากต้องการส่งน้ำขึ้นไปในพื้นที่ที่อยู่สูงมากและต้องการปริมาณน้ำที่มากขึ้นในระยะเวลาเท่าเดิม การสร้างเครื่องตะบันน้ำให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น หรือเพิ่มจำนวนของเครื่องตะบันน้ำ ควรติดตั้งเครื่องตะบันน้ำให้มีความมั่นคงและอยู่ในพื้นที่ที่อัตราการไหลของน้ำมาก หากในบางพื้นที่ที่อัตราการไหลของน้ำน้อยให้สร้างฝายน้ำล้นเพื่อช่วยเพิ่มอัตราการไหลของน้ำแทน และเครื่องตะบันน้ำที่ผลิตขึ้นควรใช้กับแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ควรนำไปใช้กับน้ำปะปาที่ส่งให้ตามบ้านเรือนหรือหอพัก เพราะจะเป็นการสูญเสียน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์ ถือเป็นนวัตกรรมชาวบ้านที่สามารถนำมาปรับใช้ได้สำหรับชาวเกษตรกร หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นายพงษ์เทพ ด้วงทอง โทร.081-5411297 และอาจารย์วีระพงษ์ ครูส่ง โทร.081-3024182

HTML::image( HTML::image( HTML::image(