สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ยันสนับสนุนการแก้ปัญหาโรคอ้วน แต่ข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนฯ เลือกปฏิบัติและขาดความชอบธรรม

01 Jun 2016
สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ยืนยันพร้อมร่วมมือทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แต่เห็นว่ามาตรการภาษีตามมติสภาขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศขาดความชอบธรรมเนื่องจากกระบวนการทั้งหมดถูกผลักดันโดยคนกลุ่มเดียว และอุตสาหกรรมไม่ได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ หากรัฐบาลนำไปปฏิบัติจริง ก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องในกระบวนการปฏิรูประเทศและทำลายความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในภาพรวม

นายวีระ อัครพุทธิพร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า "ตามที่ได้มีผู้ออกมาให้ความเห็นผ่านสื่อมวลชน ขอให้เราหยุดคัดค้านข้อเสนอการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นั้น สมาคมฯ ขอย้ำว่าว่าเราตระหนักดีว่าปัญหาสุขภาพที่เกิดจากภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ตลอดจนโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ต้องได้รับการดูแลแก้ไขอย่างเร่งด่วน และพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันจัดการแก้ไขปัญหานี้อย่างสร้างสรรค์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือข้อเท็จจริงที่ว่ามตินี้ถูกผลักดันโดยคนกลุ่มเดียวที่มีอคติต่ออุตสาหกรรม บางคนก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ควรจะต้องวางตัวเป็นกลางและรับฟังเสียงทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม แต่กลับปิดกั้นไม่ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม กว่าอุตสาหกรรมจะทราบเรื่อง สปท.ก็มีมติออกมาแล้ว สมาคมฯ ไม่ได้คัดค้านการแก้ปัญหาอย่างที่คนบางกลุ่มพยายามจะกล่าวหา แต่เราขอความเป็นธรรมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและการปฏิรูปประเทศไม่ควรเป็นเช่นนี้ ทุกฝ่ายควรได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม โปร่งใสและเป็นธรรม"

"เราไม่เคยคัดค้านว่าเรื่องโรคอ้วน หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนอย่างโรคเบาหวาน ไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งที่เราเรียกร้องก็คือข้อเท็จจริงที่ว่าปัญหาโรคอ้วนเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และพลังงานที่คนบริโภคจนเกินพอดีจนทำให้อ้วนนั้นมาจากอาหารและเครื่องดื่มได้ทุกประเภท แม้แต่เครื่องดื่มเองก็ไม่ได้มีแต่เครื่องดื่มพร้อมดื่มซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมเราเท่านั้น ยังมีเครื่องดื่มที่ผลิตและชงขายตามร้านอาหารและแผงลอยทั่วไปที่ถือเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญในประเทศไทย แต่มาตรการนี้กลับมุ่งที่จะกล่าวโทษและควบคุมจัดการกับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มพร้อมดื่มเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ หน่วยงานทางสาธารณสุขก็ระบุเองว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน เป็นโรควิถีชีวิต (lifestyle disease) คือ เกิดจากการมีวิถีชีวิตที่ไม่เหมาะสม บริโภคไม่สมดุล ออกกำลังกายไม่เพียงพอ แต่มาตรการนี้กลับปฏิบัติราวกับว่าผลิตภัณฑ์ของเราเป็นสาเหตุหลักอยู่อย่างเดียว ข้อมูลต่างๆ ที่เอามาใช้สนับสนุน ก็มีแต่ข้อมูลที่เป็นโทษกับเรา มิหนำซ้ำเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องวางตัวเป็นกลางกลับเข้าไปร่วมผลักดันและปิดกั้นเราจากกระบวนการเสียด้วย หากรัฐบาลยอมรับกระบวนการนี้ นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดแล้ว จะเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการปฏิรูปประเทศ ทำลายความเชื่อมั่นของภาคเอกชนในการประกอบธุรกิจและการลงทุน ตลอดจนส่งเสริมพฤติกรรมที่ไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่ภาครัฐอีกด้วย แต่ขอยืนยันว่าเราไม่เคยคัดค้านการแก้ปัญหาและพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่าย" นายวีระกล่าว

นายวีระ อธิบายต่อไปว่าเนื่องจากสมาคมฯ ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ สิ่งที่ทำได้คือการรวบรวมข้อมูลเท่าที่พอหาได้จากแหล่งสาธารณะ เพื่อทำความเข้าใจถึงหลักการและเหตุผลของมาตรการนี้ "แต่สิ่งที่เราพบคือข้อมูลที่ถูกนำมาใช้จำนวนมากเป็นข้อมูลด้านเดียว และบางเรื่องก็มีข้อสงสัย เช่น ปริมาณการบริโภคน้ำตาลของคนไทยที่มีการระบุว่าอยู่ที่ 36 กิโลกรัมต่อคนต่อปีนั้น จากการคำนวณคร่าวๆ พบว่าน่าจะเป็นการเอาปริมาณการบริโภคในประเทศ (โควต้า ก.) มาหารจำนวนประชากรแบบหยาบๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็เท่ากับว่าตัวเลขนี้ ยังไม่ได้นับรวมการบริโภคของประชากรแฝงและนักท่องเที่ยวอีกปีละหลายล้านคน ตลอดจนสินค้าของไทยที่กระจายออกไปตามทางชายแดนเพื่อนบ้าน ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลขจะต้องออกมาสูงเกินความเป็นจริง นอกจากนี้ ข้อมูลที่เราเคยนำเสนอไปหลายอย่าง เช่น สัดส่วนพลังงานที่มาจากการบริโภคเครื่องดื่มของคนไทยอยู่เพียงประมาณร้อยละ 2 หรือ ในประเทศออสเตรเลีย พบว่ามีคนอ้วนมากขึ้น ทั้งที่มีการบริโภคน้ำตาลลดลงอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาเลย หรืออย่างกรณีมาตรการภาษีในประเทศเม็กซิโก ขณะนี้สื่อและวงการวิชาการต่างประเทศยังถกเถียงกันอยู่ว่าประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ เพราะผ่านมาสองปีพบว่ามาตรการภาษีส่งผลต่อปริมาณพลังงานที่คนบริโภคในภาพรวมน้อยมาก แต่เอกสารที่เราพบสรุปเลยว่าเม็กซิโกประสบความสำเร็จ" นายวีระกล่าวเสริม

"มาตรการภาษีเป็นมาตรการที่มีผลกว้างขวาง ไม่จำกัดเฉพาะแต่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่าง น้ำตาล บรรจุภัณฑ์ โลจิสติกส์ และผู้บริโภคที่จะต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น สมาคมฯ จึงหวังว่ารัฐบาลและทุกภาคส่วนจะให้ความสำคัญกับการทบทวนมติดังกล่าว พร้อมทั้งเปิดพื้นที่และให้โอกาสกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างครบถ้วน เพื่อให้การแก้ปัญหานี้เป็นไปอย่างรอบคอบและเป็นธรรม โดยในส่วนของสมาคมฯ ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้คัดค้านการแก้ปัญหาโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทุกวันนี้ผู้ผลิตก็นำเสนอผลิตภัณฑ์สูตรลดหรือปราศจากน้ำตาลเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคมากมาย หลายรายก็สนับสนุนกิจกรรมและโครงการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เราพร้อมทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด รอบด้าน และยั่งยืนอย่างแท้จริง" นายวีระ กล่าวสรุป