ที่ปรึกษาและศัลยแพทย์
หลายคนคิดว่าโรคข้อเข่าเสื่อมมักเกิดกับผู้สูงอายุแต่ความจริงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่คนอายุมากย่อมเสื่อมสูงกว่าตามระยะเวลาการใช้งาน หรืออาจบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ รวมทั้งเกิดจากโรค เช่น เก๊าท์ รูมาตอยด์ สะเก็ดเงิน ข้อยึดติดแข็ง ซึ่งเป็นกรรมพันธุ์ ตลอดจนการแบกหามของที่มีน้ำหนักมากเป็นประจำ หรืออยู่ในท่าที่ต้องนั่งกับพื้น หรือในท่าที่ต้องงอพับเข่ามากๆ ท่าเหล่านี้ล้วนทำให้ข้อเสื่อมได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพที่ต้องแบก หาม เช่น ผู้ใช้แรงงาน หรืออาชีพที่ต้องนั่งกับพื้นหรือต้องนั่งยองๆ เป็นเวลานาน หรือนักกีฬาที่ได้รับการบาดเจ็บแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีอีกปัจจัยสำคัญนั่นคือน้ำหนักตัวที่มากเกินไปก็จะทำให้ข้อเข่าสึกเร็วได้เช่นกัน
นายแพทย์กีรติ เจริญชลวานิช ที่ปรึกษาและศัลยแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพไชน่าทาวน์ กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคข้อเข่าเสื่อมว่ากำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น พฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบัน บวกกับสังคมอุดมคนชราที่คนสูงอายุเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมเพิ่มจำนวนมากขึ้น จากสถิติของมูลนิธิโรคข้อในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพบว่า คนไทย 1 ใน 3 มักจะป่วยด้วยโรคข้อ โดยเฉพาะโรคข้อเข่าเสื่อม โดยคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปี พบว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม 1% อายุน้อยกว่า 40 ปี พบ 10% และอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป พบมากถึง 50% ของประชากร โรคข้อเสื่อมนั้นเป็นโรคที่เกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนที่บริเวณผิวข้อ ขาดความราบเรียบ มีความขรุขระ ทำให้เกิดอาการเจ็บ ผิดรูปร่างเดิมไป หน้าที่ของข้อต่อที่เคยขยับได้ดีก็ขยับได้ลดลง มีการติดขัด เจ็บ ไม่สามารถรองรับน้ำหนัก หรือว่าใช้งานในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ในอดีตพบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบเร็วขึ้นอายุประมาณ 45-50 ปี เนื่องจากมีปัจจัยส่งเสริม เช่น การใช้งานร่างกายที่ยืนยาวมากขึ้นและภาวะอ้วน ทำให้ข้อเข่าแบกรับน้ำหนักมากเกิน โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนมากกว่าผู้ชาย และมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นจากเดิม 60 กว่าปี เป็น 70 กว่าปี จึงทำให้อุบัติการณ์ของโรคพบในผู้หญิงมากขึ้น
เมื่อแพทย์พิจารณาว่าควรรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมักจะมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเสมอ ซึ่งข้อบ่งชี้นั้นจะบอกถึงความรุนแรงของข้อเข่าที่สึกกร่อนในระยะสุดท้าย ภาพถ่ายรังสีของผู้ป่วยจะแสดงความเสื่อม หรือสึกหรอของกระดูก หรือผิดรูปร่างบริเวณข้ออย่างชัดเจน หรือผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานจนไม่สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้ ผ่านการรักษาวิธีอื่นๆ แล้วอาการไม่ดีขึ้น รวมทั้ง มีการอาการผิดรูปหรือหน้าที่ของเข่านั้นเสียหายมาก
"การเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีทั้งเปลี่ยนบางส่วนและเปลี่ยนทั้งหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับความสึกกร่อนของตัวข้อ ความแข็งแรงของเอ็น กล้ามเนื้อ ความแข็งแรงของข้อต่อที่ยังอยู่ ถ้าเสียบางส่วนการผ่าตัดข้อเทียมบางส่วนก็จะเหมาะสม สำหรับผู้ป่วยที่ข้อเข่าสึกกร่อนมากจนเสียไปมากกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ของผิวข้อ ก็จะต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งหมด"
สิ่งสำคัญในการผ่านตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คือ ความปลอดภัย โดยขึ้นอยู่กับสมรรถภาพ ความแข็งแรงของร่างกาย ไม่ใช่จำนวนอายุ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ด้วยการตรวจเช็คร่างกายและผลปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็น ความแข็งแรงของร่างกายในส่วนของการทำงานของระบบหัวใจ ระบบไหลเวียนเลือด ระบบปอด หรือระบบการขับถ่ายของเสียในส่วนของไต ทุกๆ หน้าที่ของอวัยวะในร่างกายจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด หากมีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงอื่นใดมักจะแนะนำให้ผู้ป่วยรักษา หรือดูแลในเรื่องนั้นให้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงปกติก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัดข้อเข่าเทียม อีกทั้งให้ความรู้ ความเข้าใจกับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรับทราบขั้นตอนในการบริหารกล้ามเนื้อก่อนที่จะผ่าตัด กระบวนการรักษาทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการผ่าตัด เพื่อช่วยลดลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัด โดยทีมกายภาพบำบัดหรือทีมพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยจะต้องดูแลหรือประเมินผู้ป่วยอย่างเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับการกลับมาใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยให้เร็วที่สุด
"แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยลุกขึ้นจากเตียงด้วยตนเองและลงน้ำหนักผ่านขาที่ผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ตามภายใน 24 ชั่วโมง และพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ3-4 วัน โดยวันแรกจะให้หัดลุก ยืน เดิน วันที่สองฝึกเข้าห้องน้ำเพื่อดูแลตนเอง วันที่สามหัดขึ้น-ลง บันได้ให้ได้ก่อนกลับบ้าน ซึ่งภายใน 3-4 วันนี้ผู้ป่วยก็จะสามารถดูแลตนเองได้ เมื่อกลับไปอยู่บ้านจะได้ช่วยเหลือตนเองโดยไม่ต้องพึ่งผู้อื่น"
รศ.นพ. กีรติ กล่าวถึง ข้อเข่าเทียมว่า ข้อเข่าเทียมชนิดที่นำมาใช้เป็นวัสดุที่ทำปฏิกิริยากับร่างกายน้อยมาก ทำให้ร่างกายยอมรับที่จะมีสิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่าข้อเข่าเทียมนี้ได้โดยทำหน้าที่แทนข้อ ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้ทำข้อเข่าเทียมนั้นได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวัสดุที่นำมาใช้ในด้านโลหะผสม ซึ่งส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานของโลหะโคบอลต์ โครเมียม และไทเทเนียม เป็นหลัก ซึ่งจะเป็นโลหะที่ทำปฏิกิริยากับร่างกายน้อยที่สุด ส่วนพลาสติกที่นำมาใช้ทำหน้าที่ข้อต่อก็มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความแข็งแกร่ง ความทนทาน ทำให้อายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมที่ทดสอบในห้องทดลองปัจจุบันสูงได้ถึง 30 ปี โดยไม่มีความเสียหายข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งาน เนื่องจากสิ่งที่ยึดตรึงกับบริเวณข้ออาจจะหลวมหรือทรุดได้ ถ้ากระดูกในภายภาคหน้ามีการหลวม ทรุด หรือว่ามีการใช้งานผิดประเภทมากๆ ปกติผลิตภัณฑ์ข้อเข่าเทียมที่จะนำมาใช้กับมนุษย์จะมีการทดสอบในห้องทดลองแล้วว่าสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งสามารถใช้ได้อย่างน้อย 20 ปี แต่ว่าในความเป็นจริงอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อเข่าเทียมที่ผลิตออกมาจากบริษัทผู้ผลิตเท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกหลายองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดจะต้องใส่ข้ออย่างถูกต้อง ถูกตำแหน่ง และมีความเหมาะสม มีการจัดสมดุลของข้อเทียมและกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อรอบๆ อย่างเหมาะสม จึงจะทำให้สมรรถภาพการใช้ข้อเทียมนั้นเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และมีอายุการใช้งานได้ด้วยเช่นกัน อีกทั้งตัวผู้ป่วยที่ได้รับข้อเข่าเทียมใส่เข้าไปแล้วสามารถดูแล และใช้ข้อเข่าเทียมได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ ไม่ใช้จนเกิดการผิดลักษณะ เช่น ข้อเข่าเทียมจะเกิดการสึกกร่อนได้ง่ายถ้ามีการใช้ในลักษณะที่เกิดแรงกระแทบกับข้อสูง อาทิ การกระโดดบ่อยๆ การนั่งยองๆ เป็นประจำ ฉะนั้น ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแล้ว มักจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมเหล่านี้ เพื่อยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าเทียมให้นานที่สุด โดยเฉลี่ยแล้วในปัจจุบันข้อเข่าเทียมที่ใส่เข้าให้ผู้ป่วย 10 คน เมื่อ 20 ปีผ่านไปยังสามารถใช้งานได้ดีมีอยู่ 8 คน และมี 2 คน ที่อาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมใหม่ ด้วยหลายๆ สาเหตุ เช่น อุบัติเหตุ หกล้มเกิดการแตกหัก ติดเชื้อ หรือเกิดจากการใช้งานผิดประเภท ส่งผลให้เกิดการหลวม หรือทรุดได้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ผู้ป่วยจะหายจากอาการเจ็บปวด มีข้อเข่าที่ตรงและมั่นคงสามารถเดินและใช้งานได้เหมือนหรือใกล้เคียงกับเข่าปกติโดยไม่ต้องใช้ยาอีก กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การดูแลป้องกันสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้เราลดปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยได้ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกายให้เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติเพื่อให้เราห่างไกลจากโรคภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง
โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70
HTML::image(