เซเว่น อีเลฟเว่น จับมือ 4 ภาคีใหญ่ สร้างยุวชนคน คิดถุ๊ง คิดถุง

01 Jun 2016
ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร่วมกับภาคีเครือข่าย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมูลนิธิโลกสีเขียว พร้อมด้วยเครือข่ายเยาวชนพัฒนาศักยภาพ(Youth for next step) ผนึกกำลัง สร้างเครือข่ายเยาวชนไทยลดใช้ถุงพลาสติก ในโครงการคิดถุ๊ง คิดถุง ซีซั่น 5 พร้อมประกาศแคมเปญ "ยุวชนคน คิดถุ๊ง คิดถุง" เปิดเวทีประกวดเฟ้นหาไอเดียยุวชนไทยสร้างโครงการรณรงค์ ลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงผ้าแทน
เซเว่น อีเลฟเว่น จับมือ 4 ภาคีใหญ่ สร้างยุวชนคน คิดถุ๊ง คิดถุง

นายบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซีพี ออลล์ กล่าวถึงนโยบายลดใช้ถุงพลาสติกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเซเว่น อีเลฟเว่นได้ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากถุงพลาสติก และได้ลงนามความร่วมมือบันทึกข้อตกลงลดถุงพลาสติก ลดโลกร้อน ตั้งแต่เมื่อ 9 ปี ที่ผ่านมา และได้จัดกิจกรรมณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมจึงเล็งเห็นว่าเยาวชน น่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ ที่สามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างพฤติกรรมใหม่เรื่องการลดใช้ถุงพลาสติกให้เกิดขึ้นได้ในสังคม จึงได้ขยายผลผ่านเครือข่ายเยาวชนไทย ลดใช้ถุงพลาสติก ภายใต้โครงการ คิดถุ๊ง คิดถุง ซีซั่น 5

"สิ่งเหล่านี้เป็นที่มาของการรณรงค์ แคมเปญ "สร้างยุวชน คนคิดถุ๊ง คิดถุง" 1 โรงเรียน 1 โปรเจค ที่ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมูลนิธิโลกสีเขียว ถือเป็นความร่วมมือ 4 ภาคส่วน รัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ในประเทศไทย และยังมีเครือข่ายเยาวชนพัฒนาศักยภาพ (YOUTH FOR NEXT STEP) ร่วมสร้างพลังเครือข่ายฯ เยาวชนให้ทำกิจกรรม เก่ง ดี มีจิตอาสา เพื่อลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติก เพราะเยาวชนไทย มีศักยภาพและความสามารถคิดสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆในการรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติก เซเว่น อีเลฟเว่นจึงต้องการสนับสนุนให้น้องๆ เยาวชนได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่" นายบัญญัติ กล่าว

ดร.พิธาน พื้นทอง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ปัจจุบันของนโยบายรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องขยะ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. ได้รับนโยบายด้านการสร้างจิตสำนึกและการสร้างวินัยให้กับเยาวชนด้านการจัดการขยะสู่การปฏิบัติในโรงเรียนและชุมชน เช่นกัน โดยได้นำกิจกรรมการคัดแยกขยะไปบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ในสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สาระวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ลักษณะการจัดกิจกรรมในเรื่องของการลดปริมาณขยะในโรงเรียนให้เป็นศูนย์ (โรงเรียนปลอดขยะ ZERO WASTE) โดยใช้กระบวนการ 1A3R ซึ่งสอดคล้องกับการจัดกิจกรรมของโครงการ คิดถ๊ง คิดถุง ของ ซีพี ออลล์ ที่ให้ความสำคัญในการตัดสินใจ ด้านการลดใช้ถุงพลาสติก หรือเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้านสิ่งแวดล้อม จะทำให้เยาวชนทุกคนเก่ง มีความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจนำเรื่องการคัดแยกขยะ ลดใช้ถุง รู้จักแบ่งปัน การแบ่งปันการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ใส่ใจว่า ถ้าใช้ถุงพลาสติก 1 ใบ แล้วทุกคนใช้คนละ 1 ใบ ต่อ 1วัน ถ้า 30 วัน ใช้ 5,000,000 กว่าคน โลกของเราจะเต็มไปด้วยถุงพลาสติกที่เป็นขยะกองโต แล้วขยะเหล่านั้นจะอยู่ที่ไหน ทรัพยากรธรรมชาติถูกนำไปใช้เพิ่มขึ้นมากมาย แต่ถ้าเรากล้าตัดสินใจที่จะเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติกมาเป็นถุงผ้า

ด้าน นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รักษาการแทนรองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้ประชาชนในชาติดำรงชีวิตอย่างมีความสุขบนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติที่มี ประกอบกับวิกฤตปัญหาขยะที่เกิดขึ้นและต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปนั้น หากพิจารณาอย่างถ่องแท้จะเห็นว่าต้นเหตุแห่งปัญหา คือ "คน" ดังนั้นการแก้ไขปัญหาในการจัดการขยะที่ยั่งยืน คือ การสร้างวินัยให้กับคนในชาติ โดยบูรณาการการสื่อสาร เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างความตระหนัก ในการรักษาความสะอาดของของบ้านเมืองและการจัดการขยะครบวงจร เริ่มตั้งแต่การทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางการลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงลดการใช้ถุงพลาสติกและโฟม

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการผลักดันให้การจัดการขยะมูลฝอยเป็น "วาระแห่งชาติ" โดยได้จัดทำแผนที่นำทาง (Roadmap) การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย เพื่อให้เกิดการดำเนินงานในทิศทางเดียวกัน และหนุนเสริมการดำเนินงานซึ่งกันและกัน โดยได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยทำโครงการ "เมืองสะอาด คนในชาติมีสุข" เพื่อร่วมสร้างวินัยให้กับคนในชาติในการรักษาความสะอาดของบ้านเมืองตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและความตระหนักในการรักษาความสะอาดของบ้านเมือง และการจัดการขยะ โดยเฉพาะ "เด็กไทย" หรือเยาวชนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า การปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ตั้งแต่ยังเป็นเยาวชนนี้ จะเป็นคุณธรรมที่ติดตัวพวกเขาไปจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อีกทั้งได้ร่วมกับภาคีความร่วมมือภาคธุรกิจเอกชนรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกและโฟม เพื่อร่วมสร้างวินัยคนในชาติอย่างยั่งยืน โดยขอความร่วมมือในการงดให้ถุงพลาสติกกับลูกค้าตามโครงการ "รวมพลังสร้างวินัย ลดใช้ถุงพลาสติก" โดยในปัจจุบันได้ขอความร่วมมือในการงดให้ถุงพลาสติกกับลูกค้า "ทุกวันพุธ" ปัจจุบันสามารถลดถุงพลาสติกลงได้ 43 ล้านใบ เฉลี่ยลดถุงพลาสติก เดือนละ 5,375,000 ใบ และได้ตั้งเป้ารณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกให้ได้ 88 ล้านใบ "88 ล้านใบ ถวายพ่อ" เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 88 พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๙

ส่วน นางสาวนิตยา วงษ์สวัสดิ์ ผู้จัดการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่าในฐานะผู้แทนองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด รู้สึกยินดีที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้ เพราะเห็นว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศเราขณะนี้ต้องการความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่ายต้องช่วยกันลงมือทำให้เกิดรูปธรรมอย่างจริงจัง ลดใช้ถุงพลาสติกนับเป็นกิจกรรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะล้นเมือง ปัญหามลพิษจากการกำจัด ท่อน้ำอุดตัน สารพิษสะสมในดิน ผลกระทบที่เกิดขึ้นทุกส่วนที่จะเชื่อมโยงคืนกลับสู่คน ดังนั้นการที่มีกิจกรรมรณรงค์นี้ขึ้นมาก็จะช่วยให้สังคมได้รับรู้ผลกระทบที่จะเกิดจากการใช้ถุงพลาสติก และเกิดความตระหนักที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ โดยเริ่มต้นที่ตัวเราด้วยการลดใช้ถุงพลาสติกเพื่อประโยชน์ทั้งกับตัวเราและสังคมวงกว้างต่อไป

ขณะที่ น้องเพชร –นายจตุเมธ เถื่อนหมื่นไวย ประธานเครือข่ายเยาวชนพัฒนาศักยภาพ (Youth for next step) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่สร้างสรรค์กิจกรรมดี ๆ เพื่อปลูกฝังเยาวชนให้เป็นคนเก่ง ดี และมีจิตอาสา เป็นตัวแทนเยาวชนที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น กล่าวว่าอยากเห็นสังคมในอุดมคติ จึงคิดว่าแค่ "อยาก" อย่างเดียวคงไม่ได้ช่วยอะไรได้ ภาระหน้าที่นี้ไม่ใช่ของใคร แต่เป็นของพวกเราทุกคนในสังคม ไม่จำเป็นต้องรอให้ใครเริ่ม เราเริ่มได้ที่ตัวเราค่อยๆ ทำค่อยๆ ก้าวไป ทำให้เป็นต้นแบบ วันหนึ่งกระแสเล็กๆ ของเยาวชน อาจเติบโตจนเปลี่ยนแปลงกระแสสังคมได้

สำหรับการรณรงค์เชิญชวนยุวชน คนคิดถุ๊ง คิดถุง 1 โรงเรียน 1 โปรเจค จะเปิดรับสมัครโครงการรณรงค์ ที่จะสามารถปลุกกระแสพกถุงผ้า ลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติกของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งกติกาง่าย ๆ โดยสร้างสรรค์โครงการจากไอเดียของน้อง ๆ ทำได้จริงทั้งในโรงเรียนและชุมชน สามารถสร้าง "ยุวชนคน คิดถุ๊ง คิดถุง " "พกถุงผ้าก่อนออกจากบ้าน" จะเน้นย้ำประโยคนี้ในการรณรงค์ ให้ผู้บริโภคไม่ว่าจะไปซื้อสินค้าที่ไหน ไม่ต้องใช้ถุงพลาสติก หรือใช้ถุงพลาสติกให้น้อยที่สุด สามารถส่งผลงานได้ ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2559 นี้

โดยรอบแรก จะคัดเลือกเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ 50 โรงเรียน เพื่อมอบทุนให้เยาวชนนำไปทำกิจกรรมในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม

จากนั้นในรอบที่สอง จะคัดเลือกโรงเรียนที่มีผลงานโดดเด่น 4 แห่งเพื่อเป็นต้นแบบในรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก โดยทางภาคีเครือข่ายจะมอบรางวัลเป็นโล่เกียรติยศ และไปจัดกิจกรรมขยายผลในพื้นที่ ในช่วงเดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน 2559

ในการร่วมรณรงค์ขอภาคีเครือข่ายมุ่งหวังให้คนไทยลดใช้ถุงพลาสติก นับเป็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้มีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งในอนาคตหากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ หรือองค์กรไม่แสวงหากำไรสนใจจะเข้ามาร่วมขยายผลในเรื่องนี้ทางภาคีเครือข่ายก็ยินดีให้ความร่วมมือ