นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวในโอกาสเดินทางไปต้อนรับตัวแทนเยาวชนไทยที่เดินทางกลับจากการไปร่วมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก 2016 The Intel International Science and Engineering Fair 2016 (Intel ISEF) ระหว่างวันที่ 8-13 พฤษภาคม 2559 ที่เมืองฟีนิกซ์ มลรัฐอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนไทยที่สามารถคว้ารางวัลด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลกมาฝากคนไทยได้เป็นผลสำเร็จ ถือเป็นการสร้างชื่อให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ด้วยกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก ซึ่งในทุกปีจะมีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จำนวนกว่า 1,800 คน จาก 77 ประเทศทั่วโลกมาเข้าร่วมกิจกรรมการประกวด ที่แบ่งออกเป็น 15 สาขา เช่น วิศวกรรม พืชวิทยา สัตวศาสตร์คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม พลังงานและการขนส่ง เป็นต้น การที่เราสามารถคว้ารางวัลระดับนี้มาได้ก็เท่ากับเป็นการยืนยันว่าเด็กไทยเก่งวิทยาศาสตร์ไม่แพ้ชาติใดในโลก และหวังว่าเด็กๆ เหล่านี้จะเติบโตเป็นความหวังและพลังสำคัญในนำวิทยาศาสตร์มาการพัฒนาชุมชนของตนและประเทศชาติต่อไป
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ทิพาพร ลิมปเสนีย์ อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมป์ กล่าวในฐานะหน่วยงานที่นำเยาวชนไทยไปร่วมการประกวดแข่งขันในครั้งนี้ว่า สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย อพวช. และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้นำเยาวชนไทยจำนวน 10 ทีม 27 คน ซึ่งคัดเลือกมาจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศไปเข้าร่วมการประกวดในเวทีนี้ ซึ่งเยาวชนของเราสามารถคว้ารางวัลใหญ่มาได้ถึง 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลที่ 2 ด้านสัตวศาสตร์ จากโครงงาน "การศึกษาพฤติกรรมการตอบสนองต่อแรงโน้มถ่วงของหนอนไหม เพื่อผลิตเครื่องมือใช้ควบคุมการพ่นใยไหมในการผลิตแผ่นใยไหม" ซึ่งเป็นผลงานของนางสาวชลันธร ดวงงา และนางสาวรุ้งลาวัลย์ ชาภักดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย และโครงงานเดียวกันนี้ยังสามารถคว้ามาอีกหนึ่งรางวัลใหญ่ คือ รางวัลที่ 1 จากซิกม่าไซน์ (Sigma Xi) องค์กรสนับสนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนของเวทีนี้ นอกจากนี้ ยังมีทีมเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลที่ 3 ในสาขาเดียวกัน
มาได้จากโครงงาน "การศึกษาผลของสารในใบไม้แห้งที่มีผลต่อสมบัติทางเคมีของหวอดจากประยุกต์ใช้สารสกัดจากหวอด" ของนายธัชกร จินตวลากร และนายภูวนาถ เตรียมชาญชัย จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ การที่เยาวชนไทยได้รับ 3 รางวัลดังกล่าวถือว่ายิ่งใหญ่มาก เพราะต้องชิงชัยกับอีกหลายร้อยโครงงานจากทั้ง 77 ประเทศที่ต่างก็หวังว่าจะมีโอกาสได้รับรางวัลในเวทีอันทรงเกียรตินี้เช่นกัน
นางสาวชลันธรฯ เยาวชนผู้คว้ารางวัลระดับโลกมาฝากคนไทยให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า ตนรู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากๆ เพราะไม่คาดฝันว่าจะได้รางวัลนี้มาครอง ด้วยเวทีนี้เป็นการรวบรวมสุดยอดโครงงานวิทยาศาสตร์ของเยาวชนกว่า 77 ประเทศทั่วโลกมาประกวดแข่งขันกัน ทีมของตนจึงไม่กล้าคาดฝัน แต่ก็ได้พยายามอย่างเต็มที่ ทั้งฝึกฝนการนำเสนอและภาษาอังกฤษ รางวัลนี้ทำให้ทีมของตนตลอดจนอาจารย์ที่ปรึกษาภูมิใจมาก ที่สามารถทำให้ชื่อของประเทศไทยถูกเอ่ยขึ้นบนเวทีนี้อีกครั้ง
ส่วนนางสาวรุ้งลาวัลย์ฯ อีกหนึ่งสมาชิกของทีมกล่าวว่า โครงงานนี้เกิดจากความตั้งใจของตนและเพื่อนที่ต้องการจะช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงหม่อนไหมในชุมชน ยืดอายุของหนอนไหม โดยพวกตนได้ทำการสังเกตพฤติกรรมของหนอนไหมเมื่อถูกปล่อยให้เคลื่อนที่บนจ่อที่ตั้งเอียงที่ความชันระดับต่างๆ พบว่า หนอนไหมจะเคลื่อนที่ขึ้นเสมอ และยังสามารถพ่นใยไหมเป็นแผ่นได้ จากนั้นจึงได้ศึกษาระดับความชันและคุณภาพของแผ่นไหมที่ได้ จนได้ค่าที่เหมาะสมที่ทำให้ได้แผ่นใยไหมคุณภาพดี และนำมาออกแบบอุปกรณ์เป็นแผ่นเฟรมไม้ ซึ่งจะช่วยในการกระจายตัวของเส้นใยไหมในการผลิตใยไหม ซึ่งเดิมใช้จ่อแบบแนวราบ และใช้มือในการกระจายตัวหนอนไหม ผลงานนี้จึงเป็นการช่วยลดต้นทุนแรงงานที่ต้องคอยใช้มือกระจายตัวหนอนไหม ที่สำคัญ เมื่อลดการใช้มือสัมผัสหนอนไหมได้ อายุของหนอนไหมก็จะยาวขึ้นจากเดิมที่เคยให้ผลผลิตได้ 2 รุ่น ก็จะเพิ่มเป็น 6 รุ่น ช่วยทำให้เกษตรกรลดต้นทุนและช่วยเพิ่มผลผลิตได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit