กรมป่าไม้ ผุดแนวคิด วิถีคน วีถีป่า “รวมพลังสร้างฝ่ายประชารัฐ” แก้ปัญหาภัยแล้ง

02 Jun 2016
ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 กรมป่าไม้ ชูนโยบาย "พลิกฟื้นผืนป่าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ภายใต้แนวคิด วิถีคน วีถีป่า "รวมพลังสร้างฝายประชารัฐ" เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ฟื้นฟูสภาพป่าอย่างยั่งยืน ณ ป่าชุมชนบ้านแก่งทุ่ง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เพื่อสอดคล้องกับนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ตามแนวทาง "ประชารัฐ" อันจะเป็นการ "คืนความสุข" และแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ให้กับคนในชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศ และการวางรากฐานการพัฒนาในอนาคต นอกจากนี้การดำเนินการแบบ "ประชารัฐ" จะช่วยสร้างความเข้มแข็งในระดับชุมชนและท้องถิ่น ให้สามารถยืนบนลำแข้งของตนเองได้ด้วย
กรมป่าไม้ ผุดแนวคิด วิถีคน วีถีป่า “รวมพลังสร้างฝ่ายประชารัฐ” แก้ปัญหาภัยแล้ง

นายประลอง ดำรงค์ไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยหรือภาวะน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนและความแห้งแล้งหรือภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง รวมทั้งสภาวะโลกร้อน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งการบุกรุกทำลายป่า บริเวณต้นน้ำลำธาร รวมถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เหมาะสมนั้น เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ระบบนิเวศต้นน้ำเสื่อมโทรม ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์) จึงได้มอบหมายให้กรมป่าไม้ ฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยวิธีการหนึ่งที่สำคัญและได้ผลดีคือการสร้าง "ฝาย" ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญ ของการอยู่รอดของป่าไม้คือ "น้ำ" ที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ขาดไม่ได้ และทรงแนะนำให้ทำฝายกั้นน้ำหรือเรียกว่า "check dam" เป็นเครื่องมือที่จะใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่ได้ผล ประกอบกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เกี่ยวกับการสร้างฝายประชารัฐ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งส่งเสริมการสร้าง "ฝายชาวบ้าน ฝายประชารัฐ " เพื่อเตรียมรองรับน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงและเพื่อชะลอความแรงการไหลของน้ำ ลดความรุนแรงของการชะล้างพังทลายของดิน และกักเก็บไว้เป็นแหล่งน้ำ โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวบรวมชาวบ้านมาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อทำฝาย แต่ไม่ต้องเสียเงินมากมาย ใช้วัสดุ อุปกรณ์ ที่หาได้ในชุมชน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งร่วมกัน

รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อสร้างความชุ่มชื้น และให้ประชาชนที่ดูแลรักษาป่ามีน้ำใช้ตลอดปี จึงร่วมกับชุมชน และภาคเอกชน จัดสร้างฝายประชารัฐ ในพื้นที่ ป่าชุมชน ทั่วประเทศ ที่มีลักษณะพื้นที่ที่จะสามารถสร้างฝายประชารัฐกว่า 4,000 ป่าชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ในการบริหารจัดการ ดูแล รักษา และการใช้ประโยชน์ ภายใต้หลักความยั่งยืน.โดยมีภาครัฐและภาคเอกชน ให้การสนับสนุน ซึ่งทำให้คนอยู่ร่วมกับป่า อย่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ทรัพยากรป่าไม้ มีความอุดมสมบูรณ์ และชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนายสมคิด ตาสี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.บ่อโพธิ์ กล่าวว่า ป่าชุมชนบ้านแก่งทุ่ง หมู่ที่ 4 ต.บ่อโพธิ์ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก มีพื้นที่ จำนวน 4,684 ไร่ 3 งาน 79 ตารางวา โดยในปี พ.ศ. 2550 กรมป่าไม้ ได้เข้ามาส่งเสริมและให้ความรู้ชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ พร้อมจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ตามระเบียบของกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 และในปี พ.ศ. 2556 กรมป่าไม้ได้จัดงบเงินอุดหนุนให้ชุมชนจำนวน 190,000 บาท เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จัดทำแนวเขตป่าชุมชน ปลูกต้นไม้เพิ่ม ตลอดจนสร้างฝายผสมผสาน เพื่อการชะลอน้ำ มีการจัดทำประปาภูเขาเพื่อนำน้ำมาใช้ ในการอุปโภคและบริโภคของครัวเรือน 2 หมู่บ้าน คือบ้านแก่งทุ่ง และบ้านป่าปอบิด ปัจจุบันได้มีการสร้างฝ่ายถาวรเพื่อกักเก็บน้ำได้ถึง 2.5 ล้านลูกบากศ์เมตร และวางท่อส่งน้ำเพื่อนำมาใช้ในการเกษตร เป็น ระยะทาง 16.5 กิโลเมตร ประชาชนจาก 8 หมู่บ้านได้รับประโยชน์จากการนำน้ำมาใช้ในการเกษตร จำนวนกว่า 1,100 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,500 ไร่

ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวต่อว่า ป่าชุมชนแห่งนี้มีสภาพสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำและแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของหมู่บ้าน น้ำในลำธารจะไหลอยู่ตลอดไม่ว่าจะเข้าสู่ฤดูไหนก็ตาม คนในหมู่บ้านจะมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี กรมป่าไม้จึงเข้ามาช่วยเหลือในการสร้างฝ่ายประชารัฐ เพื่อเป็นแหล่งเก็บหาอาหารของชาวบ้าน จึงเป็นพื้นที่เหมาะสมในการพัฒนาฝ่ายให้ป่าไม้และลำธารมีความสมบูรณ์ขึ้น และเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้สอย สนองความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีพ การดำเนินงานป่าชุมชนเป็นการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีส่วนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และคนในชุมชน ตามแนวทางที่กรมป่าไม้กำหนด ด้วยวิธี เช่น การควบคุม ไฟป่า ดูแลป่า รักษาลำธาร หรือ บำรุง ทั้งนี้เพื่อให้ป่าไม้นั้นสมบูรณ์ขึ้น ทั้งยังเป็นแหล่งซับน้ำของคนในชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ภายใต้หลักการของความยั่งยืน