“เยาวชน” ไม่ทอดทิ้งผู้สูงวัย

16 Jun 2016
“เยาวชน” ไม่ทอดทิ้งผู้สูงวัย

"หนูเคยได้ไปดูพระบิณฑบาต ได้ไปเห็นสังคม (จ.สุพรรณบุรี) บรรยากาศ ผู้คนใจดียิ้มแย้ม ที่นั่น(จ.ขอนแก่น) ดีมาก เราอยากให้สังคมที่เราอยู่มีบรรยากาศแบบนั้นบ้าง หนูก็เลยรู้สึกว่าอยากจะรู้จักชุมชนของตัวเองให้มากขึ้น เพื่อช่วยชุมชนได้"

น้องลิน หรือ นางสาวสุกัญญา เกตุแก้ว อายุ 20 ปี เรียนอยู่ปี 2 คณะวิทยาศาสตร์ เอกเทคโนโลยีสารสนเทศ มรภ.จันทรเกษม หนึ่งในแกนนำเยาวชนรุ่นแรกของอบต.หนองอียอ เล่าถึงแรงบันดาลใจภายหลังจากการเข้าค่ายพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชน (ค่าย 10 วัน) ที่ อบต.หนองสาหร่าย จ.สุพรรณบุรี และเข้าค่ายพัฒนาภาวะผู้นำของเยาวชนแกนนำต่อเนื่อง21 วัน จากสถาบันยุวโพธิชน ที่ศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน ตำบลหว้าทอง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2557 ให้ฟัง นี่คือจุดเริ่มต้นในการรวมพลังกลุ่มเยาวชนกว่า 10 คน กลับมาทำอะไรเพื่อชุมชนตนเอง ที่อบต.หนองอียอ อ.สนม จ.สุรินทร์

ลิน เล่าว่า เมื่อกลับมาเธอกับเพื่อนๆ หารือกันว่าอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือชุมชนของตนเอง จึงได้ไปปรึกษากับ พี่สมเกียรติ(สมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองอียอ หนึ่งในทีมนักถักทอชุมชน รุ่น 1) พี่ สมเกียรติจึงชักชวนมาทำโครงการร่วมกับอบต. จึงต้องออกสำรวจชุมชนเพื่อให้รู้จักบ้านตนเองจริงๆ เสียก่อน อาทิ หมู่บ้านหนองอียอ บ้านอาเลา บ้านโนนสุข ลินเล่าว่า "ระหว่างเดินสำรวจบ้านโนนสุข หมู่ที่ 9 ที่มี 60 หลังคาเรือน เราเดินกันเกือบถึงท้ายหมู่บ้าน ไปเห็นบ้านยายสา แกอยู่คนเดียว ซึ่งบ้านยายแกอยู่ลึกมาก แต่อยู่ห่างบ้านหนูไปประมาณ 200 -300 เมตรเอง ก่อนหน้านี้หนูไม่เคยรู้จักเลย หนูก็เป็นเด็กคนหนี่ง ที่ไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวเท่าไหร่ หนูก็เลยคุยกับเพี่อนๆ ว่าทำไมเราถึงไม่ทำเรื่องผู้สูงอายุบ้าง ไม่อยากดูแลเขาบ้างหรือ" เมื่อคิดได้แบบนี้แล้ว กลุ่มเยาวชน จึงได้กลับมาเพื่อการทำอะไรเพื่อชุมชนออกมาได้ 3 โครงงาน ได้แก่ 1.โครงงานดูแลผู้สูงวัย ไม่ทอดทิ้ง (ค.ส.ว.) 2.โครงงานปลูกผักปลอดสารพิษ และ 3.โครงงานปั้นดินให้เป็นดาว ให้ทำหน้าที่ "ยุวกระบวนกร" พาน้องๆ เรียนรู้และสร้างเครือข่ายแกนนำเยาวชนจากรุ่นสู่รุ่น สรรหาแกนนำเยาวชนในตำบลหนองอียอ

โครงการไม่ทอดทิ้ง คนสูงวัย (ค.ส.ว.) ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2557 โดยกลุ่มแกนนำเยาวชนรุ่น 1 มีผู้รับผิดชอบหลัก ได้แก่ ลิน , อ้อม (น.ส.อรุณี จินดารัตน์),เหมียว (น.ส. นพมาศ แสวงสุข) และนัท (น.ส.ภานุมาศ พรมตวง) ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนับโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จากแนวคิด จะดูแลผู้สูงวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้และไม่มีคนดูแล เมื่อไปสำรวจ ทั้ง 11 หมู่บ้าน พบว่ามีประมาณ 10 กว่าคน และสรุปมีผู้สูงวัยเข้าเกณฑ์ต้องได้รับการช่วยเหลือมีทั้งสิ้น 6 คน ได้แก่ 1.ยายสา มากมูล (ปัจจุบันเสียชีวิต) บ้านหนองอียอ 2.ยายพร งามสง่า (ตาบอด) บ้านหนองอียอ 3.ยายขวัญใจ ศรีขลา (ตาบอด) บ้านหนองอียอ 4.ยายสา (ปัจจุบันเสียชีวิต) บ้านโนนสุข และสองสามีภรรยา ตาเบ้า(ปัจจุบันเสียชีวิต) ยายคล้าย ดึกรัมย์ บ้านอาเลา

หลังจากได้กลุ่มเป้าหมายแล้ว ลิน เล่าว่า ทีมได้หารือกันจะต้องทำอะไรบ้าง จึงได้ข้อสรุปว่าจะทำเป็นสองลักษณะคือ อย่างเป็นทางการ กลุ่มเยาวชนจะลงไปเยี่ยมแต่ละบ้านเดือนละ 3-4 ครั้ง พร้อมกับพี่ๆ อบต.หนองอียอ ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ใหญ่ใจดี ลงไปมอบสิ่งของและดูแลความเป็นอยู่ และอย่างไม่เป็นทางการ แกนนำเยาวชนที่อยู่ในหมู่บ้านนั้นๆ จะเข้าไปดูแลอีก อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง โดยเยาวชนได้ของบประมาณสนับสนุนจากอบต.ในการจัดซื้ออาหาร เครื่องใช้ที่จำเป็น แต่เมื่อไม่พอก็ขอรับบริจาคจากผู้ใหญ่บ้าน และ ผู้ใหญ่ใจดีในชุมชน อาทิ ข้าวสาร เสื้อผ้า ที่นอน นอกจากไปบริจาคสิ่งของจำเป็นแล้ว เยาวชนกลุ่มนี้ยังได้ดูแลความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นอีกด้วย ทั้งซักเสื้อผ้า เครื่องนอน เปลี่ยนมุ้งให้ใหม่ ทำความสะอาดบ้าน ห้องน้ำ ตัดเล็บ ตำหมากให้ทาน นั่งคุยเป็นเพื่อน โอบกอด สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่ทำให้ไม่มีใครบอก แต่มาจาก "ใจ" ที่อยากดูแลเสมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง

"ที่หนูไปดูแลประจำคือตาเบ้ากับยายคล้ายค่ะ สภาพความอยู่แกแย่มาก คือบ้านที่อยู่เป็นบ้านที่เป็นอิฐก่อขึ้นมาแล้วต้องเอาเชือกมาผูกกับขื่อบ้านเพื่อไม่ให้บ้านล้ม ตอนแรกที่ไปเห็นน่าสงสารมาก มุ้งก็เก่า ที่นอนก็มีแต่ฝุ่น ยายก็เป็นหอบ ตาก็เป็นอัมพาต อยู่ด้วยกัน 2 คน ลูกหลานก็ไม่อยู่ ไปอยู่กรุงเทพฯ ไม่สามารถมาดูแลตากับยายได้"

"แกก็เล่าถึงปัญหาความทุกข์ยากให้ฟัง ร้องไห้บ่นถึงลูกหลานไม่ค่อยกลับมา พอหนูไปเห็นสภาพบ้านแก ก็ถามพี่สมเกียรติว่าเราจะสามารถสร้างบ้านให้แกอยู่ได้ไหม เราพอจะมีงบอะไรของอบต.ที่จะช่วยได้หรือเปล่า พี่สมเกียรติก็บอกว่าจะลองหางบประมาณจากหน่วยงานให้ หนูมาเรียนกรุงเทพไม่รู้ข่าวเลย นานๆ ทีก็กลับไปเยี่ยม ล่าสุดเมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภา ที่พวกหนูได้กลับไปเยี่ยมแก ก็เพิ่งรู้ว่าตาเบ้า แกเสียแล้ว ส่วนยายคล้ายได้อยู่บ้านหลังใหม่ มีหน่วยงานใจดี คือเหล่ากาชาดจังหวัดสุรินทร์สร้างให้ เป็นบ้านปูนชั้นเดียวค่ะ หนูรู้สึกภูมิใจที่ทำให้ยายมีบ้านอยู่แต่ เสียดายว่าตาแกเสียไปก่อน ตอนนี้ยายอยู่คนเดียวก็เลยต้องดูแลกันใกล้ชิดหน่อยกลัวแกจะเหงาค่ะยายก็บอกว่ารู้สึกดีที่มีคนมาดูแลแก" พอชุมชนเห็นน้องๆ เยาวชนมาช่วยดูแลผู้สูงอายุ ทั้งชุมชนก็เริ่มตื่นตัว พอเด็กๆ ไม่ได้ไป ยายก็บอกว่ามีเพื่อนบ้านแวะมาเยี่ยม มาดูแลบ้าง

"เราก็ไม่ต้องทำก็ได้นะคะ จริงๆ เขาก็ไม่ใช่ญาติเราใช่ไหมค่ะ แต่หนูก็รู้สึกอยากทำอะไรบ้าง อยากมีส่วนร่วมกับชุมชนทุกอย่าง วันนี้หนูรู้สึกภูมิใจ ที่อย่างน้อย เราก็มีส่วนที่จะทำให้ชุมชน ช่วยดูแลผู้สูงอายุ อย่างน้อยเราช่วยเป็นกำลังใจ ให้เขารู้สึกมีชีวิต รู้สึกดีจนถึงวินาทีสุดท้ายค่ะอยากฝากบอกเพื่อนๆ อยากให้สนใจปู่ย่าตายายมากกว่านี้ มากกว่าที่เราจะต้องเอาเวลามาเล่นเฟสบุ้ค เล่นไลน์ เอาเวลาไปดูแลท่านให้มากกว่านี้ เพราะว่าคนแก่ไม่ต้องการอะไรมากกว่าไปกว่าลูกหลานที่จะไปถามสารทุกข์สุขดิบ"

เช่นเดียวกันกับ อ้อม หรือ นางสาวอรุณี จินดารัตน์ อายุ 20 ปี เรียนอยู่ปี 2 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.ราชภัฏสุรินทร์ หนึ่งในแกนนำ ได้กลับมาเยี่ยมยายคล้ายพร้อมกัน สะท้อนว่า "พอทำไปแล้วรู้สึกว่ามีความสุขที่ทำให้คนอื่น ได้เห็นรอยยิ้มของผู้สูงอายุ อยากให้เยาวชนเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ไม่อยากให้โดนทอดทิ้ง และถ้ามีใครทำโครงการแบบนี้ก็อยากจะสนับสนุนให้ทำ"

แม้ทั้งคู่จะต้องเรียนต่อในมหาวิทยาลัยแต่โครงการยังดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง เพราะอบต.หนองอียอ วางรากฐานงานด้านเยาวชนไว้อย่างแข็งแรง ได้พัฒนาแกนนำเยาวชนจากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นแรกถึงรุ่นล่าสุด รุ่นที่ 7 โดยมีเขียว-สุริยา ดวงศรี ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงแกนนำเยาวชน คอยประสานและอำนวยความสะดวกให้เกิดความยั่งยืน

การที่"เยาวชนหนองอียอ" ได้มองเห็น "คุณค่า" ของ "ผู้สูงวัย" ในชุมชนตนเอง เพราะมีผู้ใหญ่เปิดพื้นที่และโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ คิดเอง ทำเอง จนค่อยๆ ปลุก "จิตสำนึกรักชุมชน" ให้หยั่งรากลึกเกิดขึ้นภายในก้นบึงของจิตใจ จนท้ายสุด ได้กลายเป็นการสร้างฐานกำลังสำคัญให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง และนี่คือตัวอย่างของการใช้ "พลังเยาวชน" ได้อย่างสร้างสรรค์.

HTML::image( HTML::image( HTML::image(