อาสาพัฒนาชุมชนคือ อาสาสมัครที่มาจากคนในท้องถิ่นนั้นๆเอง แต่มีจิตใจเสียสละมีความสมัครใจ อาสาเข้ามาปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมในด้านการพัฒนาชุมชน ได้แก่ อาสาพัฒนาชุมชน (อช.) คือ อาสาพัฒนาชุมชนที่ได้รับคัดเลือกจากเวทีประชาคมหมู่บ้านให้ปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครในหมู่บ้านหนึ่ง เรียกชื่อย่อว่า "อช." มีจำนวนอย่างน้อยหมู่บ้านละ 4 คน โดยให้มีจำนวนหญิงชายในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) คือ อาสาพัฒนาชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกจากเวทีประชาคมอาสาพัฒนาชุมชน เพื่อให้ปฏิบัติงานอาสาสมัครในฐานะผู้นำของอาสาพัฒนาชุมชนในตำบลหนึ่ง เรียกชื่อย่อว่า "ผู้นำ อช."มีจำนวน 2 คน (ชาย 1 คน หญิง 1 คน)
แล้วอาสาพัฒนาชุมชนเกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2512 การดำเนินโครงการพัฒนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนได้มีการทดลองดำเนินการในจังหวัดสกลนครและกาฬสินธุ์ รวม 100 คน
จนกระทั่งมีการขยายการดำเนินงานโครงการพัฒนาผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนออกไปทุกจังหวัด และเริ่มให้มีการคัดเลือกอาสาพัฒนาชุมชนที่เป็นสตรีเพิ่มขึ้น หมู่บ้านละ 1 คน รวมเป็น อช. หมู่บ้านละ 2 คน ครบทุกหมู่บ้านส่งเสริมให้มีการจัดตั้งชมรมอาสาพัฒนาชุมชน และจัดตั้งสมาคมผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนไทย
ต่อมามีการใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการอาสาพัฒนาชุมชน พ.ศ. 2547 เพิ่มจำนวน อช. หมู่บ้านละไม่น้อยกว่า 4 คน และ ผู้นำ อช. ตำบลละ 2 คน โดยคำนึงถึงจำนวนสัดส่วนชายหญิง ใกล้เคียงกัน โดยภารกิจของผู้นำ อช.มีมากมายตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูลจปฐ / กชช. 2ค ร่วมเป็นผู้จัดเก็บข้อมูล จปฐ. / กชช. 2ค รวมทั้งการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ กำหนดเป็นแผนงาน/กิจกรรม บรรจุในแผนชุมชน ประเมินผล เปรียบเทียบการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและภาพรวมของหมู่บ้านในแต่ละปี ซึ่งการจัดทำแผนชุมชน ร่วมมือกับผู้นำชุมชนในหมู่บ้าน จะมีการจัดเวทีประชาคม เพื่อวิเคราะห์ ข้อมูล ปัญหา และกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาตามความต้องการของชุมชน อีกทั้งการจัดการศูนย์เรียนรู้ชุมชน ที่มีการร่วมจัดเวทีประชาคมเพื่อเผยแพร่ความรู้ ปราชญ์ชาวบ้านในด้านต่างๆ ให้ประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียงเข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และอีกภารกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของคนในชุมชน โดยยึดหลักการพึ่งตนเอง และการส่งเสริมวิถีประชาธิปไตย เป็นแบบอย่างที่ดีในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งทุกครั้ง และร่วมกิจกรรมรณรงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องประชาธิปไตยในหมู่บ้าน/ตำบล ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด แนะนำให้ความรู้แก้เพื่อนบ้านเพื่อให้เข้าใจถึงโทษและภัยของยาเสพติด รวมทั้งร่วมกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ตำบล
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นแกนหลักในการวางแผนและจัดกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน/ตำบลรวมไปถึงการพัฒนาเด็ก/เยาวชน และอื่น ๆ
จะเห็นได้ว่างานของ อช. และผู้นำอช. แม้จะเป็นเพียงอาสาสมัครที่เข้ามาทำงานพัฒนาชุมชมในลักษณะเงาของพัฒนากร แต่ก็ทำเพื่อสังคมด้วยใจรักเรื่องค่าตอบแทนยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะสังคมดีมีความสงบสุขเป็นการตอบแทนที่มีค่ากว่าเงินทอง และนั่นคือการตอบแทนมาตุภูมิอย่างแท้จริง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit