ก่อนหยิบจับสินค้าใส่ตะกร้าต้องสืบค้นหาข้อมูลให้รู้ชัด มาจากแหล่งไหน รูปแบบการปลูกเป็นอย่างไร มีวิธีการตรวจสอบไหม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ทางมูลนิธิสังคมสุขใจ หนึ่งในหน่วยงานที่ขับเคลื่อนวิถีเกษตรอินทรีย์ มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ สามพรานโมเดล จึงจัดทริปพิเศษ พาลูกค้าตลาดสุขใจสัญจร ที่สนใจในเรื่องเกษตรอินทรีย์ ทั้งพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ สื่อมวลชน และภาคเอกชนอย่าง บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี และ นครปฐม ไปพบคนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของเกษตรอินทรีย์ ภายใต้กิจกรรม "Shop สุขใจพาเที่ยวสวน" ครั้งที่ 2 ขึ้น เพื่อสัมผัสวิถีชีวิต แนวคิด และการเอาใจใส่ดูแลผลผลิตของเกษตรระบบอินทรีย์
ความพิเศษของทริปนี้ เป็นการขยายเรื่องราวเกษตรอินทรีย์ที่มากกว่าเรื่องของพืชผัก ผลไม้ แต่เป็นการลงไปดูวิธีการเลี้ยงหมูหลุมอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดูการทำสวนเกษตรผสมผสานที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ไปลิ้มรสชาติอาหารอินทรีย์สดจากไร่ ในบรรยากาศกลางสวนด้วยเมนูพิเศษ ทั้งก๋วยเตี๋ยวหมูหลุมอินทรีย์ สลัดอินทรีย์ น้ำปั่นผักอินทรีย์เพื่อสุขภาพ อีกทั้งการเดินทางในครั้งนี้ใช้รถที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด นั่นคือ นิสสัน เอ็กซ์ เทรล ไฮบริด อีกด้วย
นายอรุษ นวราช เลขาธิการมูลนิธิสังคมสุขใจ ในฐานะผู้ริเริ่มและดำเนินโครงการสามพรานโมเดลกล่าวถึงกิจกรรม "Shop สุขใจพาเที่ยวสวน" ว่า เป็นหนึ่งแผนงานที่สำคัญของโครงการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ซึ่งเป็นคนปลายน้ำให้มาเจอกับคนต้นน้ำ ได้เห็นกระบวนการคิด การพัฒนาแปลงปลูก ความเอาใจใส่ของเกษตรกร เห็นแหล่งที่มาอาหารของเขา แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่จากภาพการพูดคุย การซักถามในเชิงลึกของลูกค้า ความสนใจของสื่อมวลชนเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนา ความเพียรพยายามลองผิด ลองถูก ในการพึ่งพาตนเอง หลังลดและเลิกการใช้เคมี มั่นใจว่าจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ทั้งผู้บริโภคและสื่อมวลชน จะเห็นความสำคัญของการเลือกอาหารปลอดภัยมากขึ้น ขณะที่เกษตรกรเองก็จะตระหนักถึงการสะสมองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาต่อไป
กิจกรรมครั้งนี้เป็นการคัดเลือกลูกค้าตลาดสุขใจสัญจร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ที่ร่วมทำแบบสอบถามของโครงการ และได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรก พร้อมเพื่อน 1 คน เข้าร่วมกิจกรรม โดยกำหนดออกเดินทางกันตั้งแต่เช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2559 ด้วยขบวนรถยนต์นิสสัน รุ่น เอ็กซ์ เทรล ไฮบริด มุ่งหน้าสู่จังหวัดราชบุรี ตามเส้นทาง "Shop สุขใจพาเที่ยวสวน" ครั้งที่ 2
มารู้จักหมูหลุมอินทรีย์
จุดหมายแรก แวะกันที่ ศูนย์สร้างสุขเกษตรชนบทตำบลดอนแร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี พูดคุยถึงที่มาที่ไป รวมถึงการขับเคลื่อนโครงการสามพรานโมเดล กับ คุณอรุษ นวราช ก่อนไปทำความรู้จักกับคุณสุพจน์ สิงห์โตศรี เจ้าของฟาร์มหมูหลุมอินทรีย์และผลิตภัณฑ์หมูหลุมอินทรีย์ แบรนด์ G-PORK
จุดนี้หลายคนถึงกับแปลกใจไม่น้อย เพราะไม่คิดว่าฟาร์มหมูขนาดใหญ่ที่เลี้ยงหมูกว่า 300 ตัว แต่กลับไม่มีกลิ่นขี้หมู หรือแมลงวันมากวนใจแม้แต่น้อย ซึ่งได้รับคำอธิบายจาก คุณสุพจน์ ว่า หมูหลุมอินทรีย์ คือ หมูที่เลี้ยงแบบธรรมชาติ ใช้วิธีขุดหลุม รองพื้นคอกด้วยแกลบ ใช้จุลินทรีย์ที่หมักจากวัสดุธรรมชาติราดทับ และใช้ผสมน้ำให้หมูดื่ม เพื่อช่วยขจัดกลิ่น อาหารที่หมูกินก็มีส่วนผสมของวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่น ซึ่งการเลี้ยงแบบนี้ ไม่ต้องมีน้ำเสียจากการล้างคอก ตัดวงจรแมลงวัน ทำให้หมูอารมณ์ดี สร้างภูมิคุ้มกันได้เองโดยไม่ต้องใช้วัคซีนหรือยาปฏิชีวนะใดๆ เนื้อหมูที่ได้มีคุณภาพดี ไม่มีกลิ่นคาว และไม่ส่งกลิ่นรบกวนด้วย ซึ่งต่างจาก การเลี้ยงหมูทั่วไป ที่หมูต้องใช้ชีวิตอยู่ในคอกปูน ต้องทนร้อน แถมยังต้องสูดดมกลิ่น ในโตรเจนของมูลตัวเอง ตลอด 120 วัน ทำให้ปอดเป็นจุด ป่วยง่าย จึงต้องฉีดวัคซีนและยาปฏิชีวนะ
"หมูที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มปิด เมื่อผ่าซากดูจะเจอจุดที่เรียกว่าจุดวิกาฬในตับและปอด สิ่งที่บ่งบอกกลิ่นเหม็น แต่ในหมูหลุมหายไป 6 เท่า หากเทียบกับหมูในระบบฟาร์ม และจะไม่มีจุดวิกาฬ ปอดและตับ จึงใสสะอาด เมื่อหมูคุณภาพดี ก็จะทำให้ขายได้ราคาดีกว่าหมูทั่วไปกิโลละ 20 บาท ขณะที่แกลบรองพื้นกลายเป็นปุ๋ยคอกชั้นดี เพราะมีค่าไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูงกว่าระบบฟาร์มหมูทั่วถึง 4 เท่า สร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย ปัจจุบันผมมีหมู 300 ตัว เลี้ยงในระบบหมูหลุมทั้งหมด โดยผลผลิตที่ได้ส่งขายโรงเรียนปัญโญไทย ตลาดสุขใจ โรงแรม สามพราน ริเวอร์ไซด์ และ ในห้างสรรพสินค้าทั่วไป ภายใต้แบรนด์ G-Pok" คุณสุพจน์ ให้ข้อมูล
พบคนต้นน้ำ @ ไร่รวงข้าว
ออกจากฟาร์มหมูหลุมมุ่งหน้าสู่ไร่รวงข้าว ต. น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ทำความรู้จักกับป้าลำพึง ศรีสาหร่าย หญิงแกร่งร่างเล็กในวัยกว่า 50 ปี ที่กลับใจจากเคมี หันมาพลิกฟื้นผืนดิน 15 ไร่ ที่เคยผ่านการทำเกษตรกรรมเคมีจากเจ้าของเดิม จนทำให้หน้าดินเสีย ให้คืนกลับมาอุดมสมบูรณ์และเขียวขจีไปด้วยสวนป่าและพืชผักนานาพรรณ อาทิ แครอท ไชเท้า คะน้า กวางตุ้ง ผักสลัด มันญี่ปุ่น ต้นหม่อน กล้วย มะม่วง เป็นต้น
ป้าลำพึง หนึ่งในเกษตรกรคนต้นน้ำ ของโครงการฯ เล่าถึงจิตวิญญาณ และความตั้งใจของ คนทำเกษตรอินทรีย์ ให้กับคนปลายน้ำ ฟังว่า คนที่ทำเกษตรอินทรีย์ต้องมีใจรัก ขยัน และอดทน ทนเหนื่อย ทนร้อน เพราะทุกอย่างต้องลงมือทำด้วยตัวเอง ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด อย่างวัชพืชบางชนิดต้องถอนด้วยมือ เพราะเราไม่ใช้สารเคมี น้ำหมัก ปุ๋ยหมักต่างๆ เราก็ทำเองทั้งหมด แต่ป้าก็มีความสุขที่ได้ทำอาชีพนี้ ได้ผลิตอาหารดีๆ ให้คนอื่นได้กิน เราเองก็ได้กินของดีๆด้วย และขอตั้งปณิธานกับตัวเองไว้ว่า จะเกิดสักกี่ชาติก็จะขอเป็นเกษตรกรอินทรีย์ เดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะไม่เอาเปรียบใคร จะไม่ทำให้ใครเดือนร้อน เพราะสิ่งค้นพบคือความสุขที่ยั่งยืน
ที่ไร่รวงข้าว นอกจากได้ฟังเสียงสะท้อนจากหัวใจที่กล้าแกร่ง ในการยืนหยัดทำเกษตรอินทรีย์ ให้ทุกคนได้มีสุขภาพดี ป้าลำพึงยังนำคณะเจ้าหน้าที่และผู้ร่วมกิจกรรมไปชมแปลงปลูก พร้อมอธิบายถึงวิธีการปลูก การดูแลให้น้ำ ให้ปุ๋ย รวมถึงการทำปุ๋ย น้ำหมักต่างๆ ขณะเดียวกันยังได้เห็นภาพการทำงานของเกษตรกร สองมือที่กำลังถอนหญ้าในแปลงอย่างเอาใจใส่ สะท้อนถึงความตั้งใจจริงในการผลิตอาหารอินทรีย์ให้ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ยิ่งได้ลิ้มชิมรสผักสลัด ที่ป้าลำพึงเก็บสดๆ จากสวน จัดเตรียมไว้ต้อนรับ ก็ทำให้ทุกคนสัมผัสได้ถึงความต่างของเกษตรอินทรีย์ได้โดยไม่ต้องอธิบายให้มากความ
ด้านคุณพรประไพ เสือเขียว หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมและเป็นลูกค้าประจำของตลาดสุขใจ บอกว่า โดยปกติเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว เวลาเลือกซื้ออาหารออร์แกนิก ก็จะถามแม่ค้าหรือดูตรารับรองมาตรฐานความปลอดภัยทุกครั้ง เพราะเราไม่รู้แหล่งที่มา กิจกรรมนี้ถือว่าดีมากๆ อย่างน้อยเราเองได้มารู้จักคนปลูกได้เห็นกระบวนการผลิตในพื้นที่จริง รู้ได้ถึงความยากลำบากของเกษตรกร ที่กว่าจะผลิตอาหารอินทรีย์ออกมาให้เราได้บริโภค แถมยังได้เกร็ดความรู้ในการเลือกซื้ออาหารปลอดภัยโดยเฉพาะเนื้อหมู ที่เราไม่เคยรู้ข้อมูลมาก่อน ถือเป็นหนึ่งวันที่คุ้มค่าและได้ประโยชน์อย่างมาก
จากการลงพื้นที่ด้วยตัวเอง เห็นการทำงานของเกษตรกรอินทรีย์ ได้ชิมรสชาติเกษตรอินทรีย์ แท้ๆ ความตระหนัก และความเชื่อมั่นใน โครงการสามพรานโมเดล จึงทำให้การเดินทางมา ตลาดสุขใจ ในสวนสามพราน จ.นครปฐม จุดแวะสุดท้ายของเส้นทางในวันนี้ จึงมีความมั่นใจที่จะเลือกชิม เลือกช็อป พืชผัก ผลไม้ เกษตรอินทรีย์ แบบไร้กังวล
"ยังมีคนปลายน้ำอีกมากมายที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ ในฐานะ คนกลางน้ำ ก็จะต้องหาทางน้ำ คนต้นน้ำ และปลายน้ำ มาเจอกันอีกอย่างต่อเนื่อง เพราะ สิบปากว่า ยังไงก็ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นก็ยังไม่เท่าได้ลงพื้นที่มาสัมผัสด้วยตนเอง" คุณอรุษ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit