“เลิร์นเอ็ด” ตัวช่วยเด็กไทย เก่ง 'วิทย์-คณิต’ โรงเรียนไหนสนใจ.. ยกมือขึ้น

28 Jun 2016
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกำลังถดถอย เพราะไม่สามารถพัฒนาทุนมนุษย์ได้ เป็นผลจากปัญหาคุณภาพการศึกษา โดยมีตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนชัดเจนอย่างผลประเมิน PISA 2012 ที่ไทยได้รับการจัดอันดับที่ 50 ของโลก ทั้งการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีผลประเมินต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานกลาง โดยเฉพาะคณิตศาสตร์มีค่าเฉลี่ยแตกต่างมากที่สุด และเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จากการประกาศผลคะแนนสอบโอเน็ตของนักเรียนระดับชั้น ม.3 ก็พบว่า เด็กไทยได้คะแนนเฉลี่ยคณิตศาสตร์ เพียง 32.40 และวิทยาศาสตร์ 37.63 แม้ปัญหาจะเข้าขั้นวิกฤติแต่ทีดีอาร์ไอมองว่า หากนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ จะช่วยแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาได้ ดังเช่นกรณีของ 'เลิร์นเอ็ดดูเคชั่น'
“เลิร์นเอ็ด” ตัวช่วยเด็กไทย เก่ง 'วิทย์-คณิต’ โรงเรียนไหนสนใจ.. ยกมือขึ้น

บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด กิจการเพื่อสังคมที่มุ่งยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยพัฒนาระบบการเรียนรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลเข้ามาช่วยครูจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน มีการทดลองติดตั้งเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนสหวิทย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี 2554 จากโรงเรียนที่กำลังเผชิญกับความท้าทาย เนื่องจากค่าเฉลี่ยผลคะแนนสอบโอเน็ตของโรงเรียนที่ถูกจัดอยู่ในลำดับท้ายๆ ของจังหวัด ประกอบกับครูทั้ง 2 วิชานี้ยังเป็นครูใหม่ที่เพิ่งรับเข้ามา แต่เมื่อนำระบบนี้มาใช้ พบว่า เด็กกระตือรือร้นที่จะเรียนและตั้งคำถามกับครูมากขึ้น และครูสามารถช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาในการเรียนได้ ส่งผลให้ผลการเรียนของเด็กดีขึ้น จนกระทั่งโรงเรียนมีคะแนนสอบโอเน็ตเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 ทั้งยังมีคะแนนเฉลี่ยวิทยาศาสตร์เป็นอันดับที่ 1 ของจังหวัดสุพรรณบุรีในเวลาเพียง 3 ปี

เช่นเดียวกับที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟ แม่แจ่ม โรงเรียนเอกชนสงเคราะห์ซึ่งรับแด็กชนเผ่าที่อาศัยบนดอยในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 3 ปีก่อนโรงเรียนเตรียมเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นครั้งแรก มาเซอร์มารีอักแนส สุวรรณา บัวทรัพย์ ผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงเรียนฯ เล่าว่า ขณะนั้นครูในโรงเรียนต่างรู้สึกกังวล แม้จะรับครูเข้ามาเพิ่มแต่ก็เป็นครูที่เพิ่งจบการศึกษา

เมื่อเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นเข้ามาสนับสนุนติดตั้งระบบให้ นักเรียนชั้น ม.1 รุ่นแรก 42 คน จึงได้เรียน 2 วิชานี้ผ่านระบบเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นไปพร้อมกับได้เรียนรู้การใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรก พวกเขาได้เรียนอย่างต่อเนื่องจนมาถึงชั้น ม.3 และเพิ่งสอบโอเน็ตไปเมื่อไม่นานนี้ สามารถทำคะแนนเฉลี่ยวิทยาศาสตร์ได้ 37.63 เทียบเท่ากับค่าเฉลี่ยระดับประเทศ และสูงกว่าเมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของโรงเรียนขนาดกลางทั่วประเทศและโรงเรียนที่ตั้งอยู่นอกเมืองทั่วประเทศ ขณะที่คะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์ได้ 27.56

เครื่องมือช่วยครูเพิ่มประสิทธิภาพการสอน

นายธานินทร์ ทิมทอง กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด อธิบายถึงผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ที่ดีขึ้น เกิดจากนวัตกรรมการเรียนแบบผสมผสานที่ประกอบด้วย เนื้อหา ทั้งส่วนที่เป็นสื่อดิจิทัลและส่วนที่เป็นตำราเรียน-แบบฝึกหัดรวมถึงคู่มือครู โดยเนื้อหาออกแบบตรงตามหลักสูตรแกนกลาง แต่ด้วยเทคนิคการสอนของครูที่อยู่ในสื่อดิจิทัล ภาพประกอบและกราฟฟิก ทำให้บทเรียนสนุกและเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งเด็กสามารถย้อนกลับมาดูในจุดที่ไม่เข้าใจได้ด้วย

ยังมี ซอฟต์แวร์การจัดการแกนกลาง ที่มีระบบทดสอบวัดความเข้าใจหลังคาบเรียนและระบบรายงานผลที่ทำให้ครูทราบว่าเด็กมีระดับความรู้ความเข้าใจในบทเรียนนั้นๆ มากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้วางแผนการให้แบบฝึกหัดเสริมได้ตรงจุดยิ่งขึ้น ยังมี ระบบฝึกอบรมและพัฒนาครู อาทิ การลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียนเพื่อให้คำปรึกษาไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง การจัดสัมมนาครู เพื่อให้ครูเกิดความมั่นใจในการใช้งานระบบมาสนับสนุนการสอนได้จริง

นายธานินทร์ กล่าวว่า ด้วยนวัตกรรมนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยใน 2 วิชาหลัก ซึ่งพบว่าเกิดขึ้นจากจำนวนครูไม่เพียงพอและคุณภาพของครู ซึ่งเป็นผลจากการขาดความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ โดยบางโรงเรียนเป็นครูจบใหม่ หรือบางโรงเรียนครูต้องรับภาระสอนหลายวิชา ทั้งยังมีภาระอื่นๆ จำนวนมาก ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนของเด็ก เห็นได้ชัดจากคะแนนโอเน็ตเฉลี่ย 2 วิชานี้ของทั้งประเทศที่อยู่ในระดับต่ำมาก

ระบบนี้จะช่วยลดภาระงานของครูลงให้มีเวลาใส่ใจดูแลเด็ก ส่งผลให้เด็กมีทัศนคติต่อการเรียนทั้ง 2 วิชาดีขึ้น และเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการเรียนให้สูงขึ้นได้ในที่สุด ที่ผ่านมาพบว่าโรงเรียนที่ใช้ระบบนี้ในระยะเวลาเกิน 2 ปีจะมีคะแนนโอเน็ตเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10อย่างไรก็ดี การเพิ่มผลคะแนนโอเน็ตให้สูงขึ้นในบางโรงเรียนอาจต้องใช้เวลา เนื่องจากพบว่ามีนักเรียนที่ความรู้พื้นฐานยังไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน "เราเจอเด็กที่จะขึ้นชั้น ม.1 บวกลบคูณหารไม่ได้ ก็ต้องไปทำคอร์สระดับประถมให้ เพื่อปรับพื้นฐานก่อน เด็กจะได้สามารถเรียนต่อกับระบบได้" นายธานินทร์กล่าว

ด้วยนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษานี้ ล่าสุดเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นได้รับรางวัลชนะเลิศ Social Venture Challenge Asia 2015 จัดขึ้นโดย National University of Singapore ร่วมกับ DBS Bank ซึ่งเป็นเวทีการประกวดกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย และรางวัลชนะเลิศ Thai Social Enterprise Award 2014 จัดขึ้นโดยสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ในปีก่อน

จับมือยุวพัฒน์ เข้าถึงโรงเรียนขยายโอกาส

ปัจจุบันมีโรงเรียนที่ติดตั้งระบบเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นแล้วร่วม 50 แห่ง ทั้งโรงเรียนเอกชน โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีกำลังซื้อ

เลิร์นเอ็ดดูเคชั่นยังมีนโยบายเข้าไปติดตั้งโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้แก่โรงเรียนห่างไกลและด้อยโอกาส คิดเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนโรงเรียนที่มีกำลังซื้อ เช่น โรงเรียนเซนต์โยเซฟ แม่แจ่ม โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดสวนดอก ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผู้สนใจติดตั้งระบบให้แก่โรงเรียนด้อยโอกาส ทั้งภาคเอกชน ผู้บริจาครายบุคคล รวมถึงองค์กรสาธารณประโยชน์ เช่น กองทุนคนไทยใจดี และมูลนิธิยุวพัฒน์ ซึ่งทำงานด้านการส่งเสริมการศึกษาให้แก่เยาวชนที่ขาดโอกาสด้วยการให้ทุนการศึกษามากกว่า 20 ปี ทั้งยังมีโครงการพัฒนาเยาวชน และโครงการพัฒนาครู

ล่าสุดเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นได้ร่วมมือกับมูลนิธิยุวพัฒน์ ดำเนิน "โครงการนำร่องระบบการเรียนคณิตรูปแบบใหม่ ผ่านสื่อดิจิทัล เพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ระยะเวลาร่วมโครงการ 3 ปี (พ.ศ. 2559-2561)" โดยตั้งเป้าหมายเข้าถึงโรงเรียนประถมขยายโอกาสและโรงเรียนมัธยมขนาดกลางที่มีนักเรียนขาดโอกาส 100 แห่งทั่วประเทศ

นางสาวโมนา ศิวรังสรรค์ ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า จากที่มูลนิธิฯ มีโอกาสไปเยี่ยมนักเรียนทุนในโรงเรียนต่างๆ พบว่าครูมีภาระงานมาก ต้องสอนหลายวิชา ทำให้ขาดแคลนครูที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พอได้รู้จักกับเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นซึ่งมีเครื่องมือแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงสนใจสนับสนุนเครื่องมือนี้ให้โรงเรียนที่มีเด็กขาดโอกาสและขาดแคลนงบประมาณ ได้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพการเรียนการ และจากการสอบถามโรงเรียนส่วนใหญ่ พบว่าเด็กมีปัญหาการเรียนคณิตศาสตร์มากกว่า จึงเริ่มจากวิชานี้ปีที่ผ่านมามูลนิธิยุวพัฒน์ได้ริเริ่มโครงการนำร่องสนับสนุนโรงเรียน 4 แห่งให้ติดตั้งระบบเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นเพื่อสอนคณิตศาสตร์ โดยมูลนิธิฯ สนับสนุนงบประมาณให้ 3 โรงเรียน และช่วยคัดสรร 1 โรงเรียนให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนรวมคนไทยใจดี

"เราจะลงพื้นที่ไปสำรวจโรงเรียน คุยกับผู้อำนวยการ ครูสอนคณิตศาสตร์ ครูสอนไอที ครูฝ่ายวิชาการ เพื่อให้แน่ใจว่าโรงเรียนมีความสนใจนำระบบนี้ไปใช้พัฒนาการศึกษาจริงๆ" นางสาวโมนากล่าว

โรงเรียนบ้านเกาะรัง อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เป็นโรงเรียนที่ได้รับการเชื่อมต่อจากมูลนิธิยุวพัฒน์ ให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 610,000 บาท จากกองทุนรวมคนไทยใจดี เพื่อติดตั้งระบบสอนคณิตศาสตร์ให้แก่นักเรียนระดับม.1 และ ม.2 จำนวน 200 คนคุณครูพัชรนันท์ มาอยู่วัง ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์แก่นักเรียนชั้น ม.2 กล่าวถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่า "แม้แต่เด็กที่บกพร่องในการเรียนรู้ก็ทำข้อสอบได้ ตอบคำถามได้ นี่คือสิ่งที่ครูผู้สอนชอบ เพราะเด็กสามารถเรียนรู้ตามศักยภาพของเขาเอง ในช่วงพักกลางวันก็มาขออนุญาตไปเรียนเอง นอกจากเด็กปกติได้ เด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ก็ได้ ไม่มีผลการเรียนที่ติดศูนย์ในวิชาคณิตศาสตร์"

ปีนี้โรงเรียนบ้านเกาะรังจึงตั้งใจหาทุนมาสนับสนุนให้นักเรียนกลุ่มเดิมได้ใช้ระบบอย่างต่อเนื่อง จากความตั้งใจของโรงเรียนบ้านเกาะรังจุดประกายให้มูลนิธิยุวพัฒน์เดินหน้าสนับสนุนโรงเรียนในเครือข่ายให้ได้รับโอกาสนี้ด้วยเช่นกัน โดยมีเงื่อนไขว่า โรงเรียนที่เข้าร่วมต้องมีสัญญาผูกพัน 3 ปี เนื่องจากคาดหวังให้เกิดการสร้างการมีส่วนร่วมกับโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนเข้ามาสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กๆ ด้วย

โดยปีแรกมูลนิธิยุวพัฒน์สนับสนุนงบประมาณทั้งหมด ได้แก่ ค่าระบบเซิร์ฟเวอร์ 150,000 บาท/โรงเรียน ค่าเนื้อหา (สื่อดิจิทัล) สำหรับนักเรียนชั้น ม.1-ม.2 คิดเป็น 1,284 บาท/คน/ปี และค่าหนังสือเรียน สำหรับนักเรียนชั้น ม.1-ม.2 คิดเป็น 400 บาท/คน/ปี ในปีที่ 2 ไม่มีค่าเซิร์ฟเวอร์แล้ว มูลนิธิยุวพัฒน์ยังคงสนับสนุนค่าเนื้อหาสำหรับนักเรียนชั้น ม.1-ม.3 แต่ให้โรงเรียนรับผิดชอบค่าหนังสือเรียน จนถึงปีที่ 3 คาดหวังให้โรงเรียนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยโรงเรียนรับผิดชอบค่าหนังสือเรียน และสร้างการมีส่วนร่วมกับครอบครัวและชุมชนให้มาสนับสนุนค่าเนื้อหา จากนั้นเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นจะเป็นผู้สนับสนุนค่าเนื้อหาให้ในปีที่ 4-6

"ปีแรกอาจเป็นปีที่มาลองดูว่าระบบนี้เวิร์คไหม ปรับตัวอย่างไร ผลเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าเด็ก ครู ผู้บริหารโรงเรียนจะพอใจกับผลที่ได้รับ พอเห็นผลแล้ว ปีที่ 2 ก็อยากให้โรงเรียนทำให้ผู้ปกครองเห็นว่าระบบนี้มีคุณค่าในการสอนเด็ก และจูงใจให้ผู้ปกครองหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาสนับสนุนในปีต่อๆ ไป"นางสาวโมนากล่าว

ด้านนายธานินทร์กล่าวว่า ตอนนี้บริษัทเดินหน้าประสานงานทุกช่องทางเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนที่ต้องการติดตั้งระบบ อาทิ โรงเรียนที่ไม่พร้อมในส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็มีการทำงานเชื่อมโยงกับบริษัทเอกชน ที่ต้องการบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ยังใช้งานได้ดี หรือมีการเข้าประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้โรงเรียนในสังกัดได้รับการสนับสนุน เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งได้รับการตอบรับแล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเลย ทั้งนี้บริษัทคาดหวังว่าจะสามารถขยายการเข้าถึงโรงเรียนต่างๆ ได้ 1,000 โรงเรียนในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะโรงเรียนรัฐบาลขนาดกลาง

ร่วมแก้ปัญหาสังคม และกระตุ้นให้เด็กเรียนต่อ

นายธานินทร์กล่าวว่า แม้คะแนนโอเน็ตจะเป็นเรื่องที่คนให้ความสำคัญ ทว่าสิ่งที่พวกเขาตั้งใจทำให้มากกว่าเรื่องผลสัมฤทธิ์ คือการที่ครูสามารถใช้เวลากับนักเรียนได้อย่างคุ้มค่า สามารถถ่ายทอดทัศนคติที่ดีต่างๆ จากการที่มีภาระงานลดลง รวมไปถึงการสอดแทรกเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และการประยุกต์ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันสอดคล้องกับความเห็นของมาเซอร์มารีอักแนส สุวรรณา ผู้อำนวยการโรงเรียนเซนต์โยเซฟ แม่แจ่ม กล่าวว่า "สิ่งที่เราเห็นคือเด็กมีความสุขในการเรียน รอที่จะเรียน ได้เห็นประโยชน์ของการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี และยังเห็นอีกว่าเขาสามารถเชื่อมโยงความรู้ที่เรียนมากับวิชาอื่นๆ ได้ดี"

ด้านนางสาวโมนากล่าวเสริมว่า "เนื่องจากระบบนี้ยังมีการทดสอบท้ายชั่วโมงเรียน ทำให้เด็กที่ได้คะแนนดีมีความมั่นใจ ส่วนเด็กที่คะแนนน้อยก็รู้ตัวเร็วขึ้น เขาก็จะไปขอครูเรียนใหม่ ซึ่งเรามองว่านี่คือคุณค่ามากที่สุด ที่เด็กเปลี่ยนจากการเป็นผู้รับเข้ามามีส่วนร่วมจัดการการเรียนของตัวเองได้ดีขึ้น เมื่อเห็นว่าตัวเองยังไม่เก่ง ยังไม่เข้าใจ เขาอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น"

จากประสบการณ์ของเลิร์นเอ็ดดูเคชั่นที่ได้เข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียนต่างๆ ยังพบว่า ปัญหาด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นในแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่างกันไป เช่น โรงเรียนบางพื้นที่มีปัญหาอัตราการลาออกของครูสูง ทำให้ครูขาดแคลนส่งผลต่อการรักษาคุณภาพด้านวิชาการ บ้างเจอปัญหาการอ่านออกเขียนได้ รวมถึงระดับความรู้พื้นฐานที่ยังไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หรือบางพื้นที่เด็กมีความตั้งใจสูงแต่ผู้ปกครองไม่ส่งเสริมให้เรียนต่อ ยังมีปัญหาสังคมอื่นๆ ด้วย เช่น เด็กไม่มีผู้ปกครองดูแลเพราะต้องไปทำงานในพื้นที่อื่น

"สิ่งที่อยากทำเพิ่มเติมอีก 2 ส่วน คือ เนื้อหาที่แก้ปัญหาสังคม เช่น เรื่องคอร์รัปชัน ยาเสพติด ครอบครัว รวมถึงเรื่องการแนะแนวให้เขาเห็นทางเลือกในชีวิตว่ามีอาชีพอะไรในสังคมบ้าง เพื่อให้เขาคุณค่าของการศึกษาและมีแรงจูงใจที่จะเรียนต่อ ไม่ใช่แค่สอดแทรกเนื้อหาแต่เป็นการทำคอนเทนต์เรื่องเหล่านี้ให้เขาเอาไปใช้ได้เลย" นายธานินทร์กล่าวทิ้งท้ายถึงเนื้อหาที่จะพัฒนาต่อไป เพื่อในที่สุดจะเกิดภาพที่ทุกคนอยากเห็นการศึกษาไทยสามารถสร้างคนดีและคนเก่งให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง

“เลิร์นเอ็ด” ตัวช่วยเด็กไทย เก่ง 'วิทย์-คณิต’ โรงเรียนไหนสนใจ.. ยกมือขึ้น “เลิร์นเอ็ด” ตัวช่วยเด็กไทย เก่ง 'วิทย์-คณิต’ โรงเรียนไหนสนใจ.. ยกมือขึ้น “เลิร์นเอ็ด” ตัวช่วยเด็กไทย เก่ง 'วิทย์-คณิต’ โรงเรียนไหนสนใจ.. ยกมือขึ้น