โดยภายหลังมีการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการครบทั้ง 14 ทีม แล้ว ผลปรากฎว่า 4 ทีมที่ได้รับทุนเพื่อต่อยอดนวัตกรรมสู่การนำไปใช้จริง ได้แก่ 1.ผลงาน "เว็บไซต์แนะนำการหางานสำหรับผู้พิการ" ของทีม Enabled จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างแพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลางช่วยหางานสำหรับผู้พิการ ให้ตรงกับความต้องการของผู้พิการและผู้จ้างงาน เพื่อพัฒนาคนพิการสู้ตลาดสากล 2. ผลงาน "เครื่อง ขอ.ขวด" เปลี่ยนขวดเป็นเงิน เพื่อเด็กกำพร้าและยากไร้ ของทีม CSMJU78 จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แพลตฟอร์มเพื่อสังคมด้วยการเปลี่ยนขยะขวดพลาสติกเป็นเงินด้วยเครื่อง "ขอขวด" เพื่อให้ประชาชนที่บริจาคขวดสามารถสะสมแต้มรับสินค้า รายได้ส่วนหนึ่งหักให้กับมูลนิธิแสงไทยดรุณเพื่อเด็กกำพร้า ยากไร้ 3. ผลงาน "วัคซีน พ๊อกเก็ต" (Vaccine Pocket) ของทีม Prime Soft จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย แอปพลิเคชันบันทึกการรับวัคซีนสำหรับเด็กวัย 1-3 ปี สำรองข้อมูลบนระบบคลาวด์ โดยสามารถแจ้งเตือนเมื่อครบกำหนดรับวัคซีนครั้งต่อไป และ 4. ผลงาน "Light Life" ของทีม You light up! my life จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น แอปพลิเคชันสำหรับป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการพยายามทำร้ายตนเอง พร้อมทั้งคำแนะนำในการปฏิบัติตนให้พ้นจากภาวะเสี่ยง บทความให้กำลังใจ รวมถึงสายด่วนสุขภาพจิตที่สามารถติดต่อขอรับการช่วยเหลือได้
นอกจากนั้นแล้วยังได้มีการมอบทุนๆ 20,000 บาทให้กับทั้ง 14 ทีมที่เข้าร่วมนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการในครั้งนี้ เพื่อนำไปเป็นทุนในการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ รวมมูลค่าทุนทั้งสิ้นกว่า 5 แสนบาทด้วย
นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า สวทช. สสส. โดยการสนับสนุนของตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ บริษัทไมโครซอฟต์(ประเทศไทย) จำกัด และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำโครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเทคโนโลฟยีเพื่อสร้างสรรค์สังคม: Active Citizen: Geek so Good" เป็นการบ่มเพาะนวัตกรรม พร้อมทั้งสร้างความตระหนักให้กับเยาวชนถึงปัญหาสังคม และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสังคม ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้าง Startup ในด้าน Social Enterprise ที่มีการนำเทคโนโลยีเป็นฐานในการประยุกต์ใช้กับการแก้ไขปัญหาสังคมมากขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการที่มีไอเดียดีๆ หลายด้าน ทั้งด้านการช่วยเหลือผู้สูงอายุ การป้องกันปัญหาทางสุขภาพจิต การเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย การวัดพฤติกรรมการขับขี่รถยนต์ รถโดยสารแบบเรียลไทม์ การให้ความช่วยเหลือผู้เดินทาง โดยเฉพาะกลุ่มสตรีเพื่อป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การส่งเสริมการจัดการขยะอัจฉริยะในมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่สมุดวัคซีนประจำตัวในมือถือ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้เข้าร่วมโครงการเล็งเห็นและนำเสนอออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีและแอปพลิเคชันให้ประชาชนในสังคมได้ใช้เทคโนโลยีที่สะดวก มาเป็นทางเลือกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมในปัจจุบัน
"ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนต่อยอดนวัตกรรมได้ ทั้ง 4 ทุน สวทช. มีกลไกการสนับสนุนให้ผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ อาทิ การนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดด้วยการร่วมงานแสดงสินค้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆ ในโครงการได้นำผลิตภัณฑ์เสนอออกสู่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รับคำติชมเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือเชื่อมโยงผลงานต่างๆ ในโครงการฯ เข้าสู่ศูนย์แห่งชาติของ สวทช. และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานออกแบบ วิเคราะห์ และทดสอบ ของ สวทช. ซึ่งถือเป็นการช่วยเสริมความเป็นเลิศด้านเทคนิคของผลิตภัณฑ์โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง นอกจากนั้นแล้วยังมีการให้คำปรึกษาแนะนำในด้านต่างๆ เช่น เพิ่มทักษะการนำเสนอสินค้า ในภาษาที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเข้าใจได้ง่าย เพื่อจูงใจและสร้างความสนใจในตัวสินค้าเพื่อการตัดสินใจซื้อ โดยจะมีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (BIC) เป็นพี่เลี้ยงในการเริ่มต้นธุรกิจให้กับน้องๆ ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ สวทช. เตรียมไว้เพื่อสนับสนุนโครงการ" ผู้ช่วย ผอ. สวทช. กล่าว
นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์ค และผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สวทช. กล่าวว่า โครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สังคม Active Citizen : Geek so Good นี้เป็นการบ่มเพาะนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยน่าอยู่ มุ่งเน้นผู้เข้าร่วมโครงการในกลุ่มนักเทคโนโลยีคนรุ่นใหม่ ให้สร้างนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งสอคคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของซอฟต์แวร์พาร์ค ที่ส่งเสริมให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมมาหลายปีอย่างต่อเนื่อง และยังสอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะได้รับการอบรม การให้คำปรึกษาเพื่อผลักดันให้ผลงานพร้อมที่จะขยายผลใช้งานได้จริง ที่สำคัญมีทุนสนับสนุนสำหรับผู้ได้รับการคัดเลือกในโครงการ เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาและช่วยแก้ไขปัญหาสังคมให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมสูงสุดด้วย
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. เชื่อว่าพลังพลเมืองสร้างสรรค์ของเหล่าเยาวชน หรือ Active Citizen ในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ โดยมีแอปพลิเคชันที่น่าสนใจและถูกริเริ่มด้วยแนวคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมโดยกลุ่มเยาวชน อาทิ แอปพลิเคชันโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งสร้างเครื่องมือเพื่อสังคมนักปั่นจักรยานที่รวบรวมทริปปั่นจักรยาน โดยผู้ใช้งาน สามารถสร้างเส้นทางปั่นจักรยานและแชร์ผ่านไปยังโซเชียลมีเดีย มีฟังก์ชั่นที่ช่วยติดตามผลการออกกำลังกายในแต่ละสัปดาห์ หรือ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่สร้างแอปพลิเคชันนับก้าว เพื่อช่วยให้การออกกำลังกายไม่ให้น่าเบื่ออีกต่อไป ด้วยการกระตุ้นให้ผู้ใช้งานได้ออกกำลังกายจากการเดิน เพราะเราเชื่อว่าสังคมเปลี่ยนแปลงได้จากพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน Active Citizen Project หรือติดตามได้ที่ FB/ThailandActiveCitizen
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit