พลเอก ธนะศักดิ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้นำเสนอ (ร่าง) แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการของแผนแม่บทดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ปลูกสร้างพฤติกรรมรักการอ่านที่เข้มแข็งให้กับคนทุกช่วงวัย อาทิ การส่งเสริมบทบาทพ่อแม่อ่านกับลูกก่อนวัยเรียน สนับสนุนการจัดกิจกรรมสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กวัยเรียน ส่งเสริมการพัฒนาทักษะการอ่านและสืบค้นข้อมูลให้กับคนวัยเรียน และวัยทำงาน 2.อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชนทั้งในชุมชนเมืองและภูมิภาค อาทิ กำหนดนโยบายบังคับหรือจูงใจให้กรุงเทพมหานครและองค์กรท้องถิ่นจัดมุมหนังสือหรือห้องสมุดหนังสือดีสำหรับบริการแก่ประชาชน ส่งเสริมให้หน่วยราชการและสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมหมุนเวียนหนังสือมือสอง สนับสนุนให้โรงเรียนและท้องถิ่นในพื้นที่ห่างไกลมีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านร่วมกับชุมชน 3.ยกระดับคุณภาพแหล่งเรียนรู้และสื่อการอ่านเพื่อการเรียนรู้ อาทิ พัฒนาและยกระดับบทบาทของหอสมุดแห่งชาติ และห้องสมุดประชาชนให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการอ่าน ส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนจัดตั้งห้องสมุดสาธารณะหรือมุมอ่านหนังสือในพื้นที่สาธารณะ โดยการใช้มาตรการลดหย่อนภาษีหรือรางวัลเกียรติคุณจูงใจ ส่งเสริมให้สำนักพิมพ์จัดพิมพ์หนังสือดีมีคุณภาพและราคาถูกออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่องและ4.สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน อาทิ ส่งเสริมให้คนมีชื่อเสียงในสังคมของวงการต่างๆ มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นประจำและต่อเนื่อง รณรงค์ให้ทุกองค์กรในสังคม เข้ามามีบทบาทสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับคนไทย เบื้องต้น ได้ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยว ปรับแผนการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ จากผลสำรวจพฤติกรรมการอ่านของไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยมีแนวโน้มการอ่านเพิ่มขึ้นและมีระยะเวลาในการอ่านเพิ่มขึ้น โดยในปี 2558 คนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป อ่านหนังสือคิดเป็นร้อยละ 77.7 หรือ 48.4 ล้านคน ซึ่งวัยเด็กและเยาวชนมีสัดส่วนการอ่านสูงสุดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 90 และผู้ที่อ่านหนังสือส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยมีแนวโน้มการอ่านเพิ่มขึ้น และในปี 2558 คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปใช้เวลาอ่านเฉลี่ย 66 นาทีต่อวัน ซึ่งทุกวัยใช้เวลาอ่านเพิ่มขึ้น เนื่องจากการสำรวจได้เพิ่มการอ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์/SMS/E-mail ด้วย โดยวัยเยาวชนใช้เวลานานกว่าวัยอื่น ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 96 ยังอ่านผ่านสื่อรูปเล่มหนังสือ รองลงมา ร้อยละ 45.5 อ่านสื่อสังคมออนไลน์ และประเภทของสื่อที่อ่านกันค่อนข้างมาก ได้แก่ หนังสือพิมพ์ (ร้อยละ67.3) ข้อความในสื่อสังคมออนไลน์/SMS/E-mail (ร้อยละ 51.6) และหนังสือ/บทความที่ให้ความรู้ทั่วไป (ร้อยละ 50.2) ทั้งนี้ คนไทยกว่าร้อยละ 54 อ่านข้อความในสื่อสังคมออนไลน์/SMS/E-mail ทุกวัน ในขณะที่เนื้อหาสาระที่อ่านมีแนวโน้มการอ่านข่าวลดลง แต่สนใจอ่านสารคดี/ความรู้ทั่วไปและบันเทิงเพิ่มมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปี 2556