ทั้งนี้ จากรายงานของระบบติดตามและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด รายงานการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่มีอาการทางจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2556-2558) มีผู้เข้ารับการรักษาใน รพ.สังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ เกือบ 4 พันรายต่อปี ปี 2556 จำนวน 3912 ราย ปี 2557 จำนวน 3980 ราย และ ปี 2558 จำนวน 3800 ราย อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวด้าน นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวว่า โรคจิตอันเนื่องมาจากการใช้สารเสพติดนั้น เกิดจากผู้เสพมีการใช้สารเสพติดมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง รวมถึงชนิดและความถี่ของการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "แอมเฟตามีนและสารระเหย" ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมอง ทำให้เกิดอาการจิตประสาทหลอนได้ง่าย โดยผู้เสพจะมีอาการ หลงผิด หวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน ซึ่งจะเป็นอยู่ครั้งคราวเมื่อมีการใช้สารเสพติดนั้น และหากมีการใช้เป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดอาการทางจิตอย่างถาวรได้ ซึ่งอาการจะคล้ายกับผู้ป่วย "โรคจิตเภท" คือนอกจาก หวาดระแวง มีหูแว่ว หลงผิด แล้วยังไม่สามารถรับรู้โลกความเป็นจริง มีความบกพร่อง ขาดการดูแลตนเองการดำรงชีวิตประจำวันอีกด้วย ทั้งนี้ "แนวทางสังเกตผู้ป่วยติดยาก่อนก่อเหตุรุนแรง" คือ "ชอบแยกตัว ไม่สุงสิงพูดจากับใคร หงุดหงิดง่าย พูดเสียงดัง โมโหง่าย บางรายมีอาการกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่ง บ่นพึมพำคนเดียว ประสาทหลอน ตลอดจนอาจมีอาการมาก เช่น เตรียมสะสมอาวุธ พูดบ่นคนเดียวว่าจะมีคนมาทำร้าย ระแวง กลัว หรือพูดบ่นจะทำร้ายผู้อื่น" หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยเร็วเพื่อให้รับการดูแลช่วยเหลือป้องกันการเกิดความรุนแรงจากอาการทางจิตจากการใช้สารเสพติดต่อไป สำหรับวิธีการรักษา นั้น จะต้องรักษาควบคู่กันทั้งอาการทางจิตและการบำบัดเพื่อป้องกันการกลับไปเสพสารเสพติด รวมถึง ความร่วมมือจากครอบครัว ญาติและสังคมเพื่อการให้โอกาสและกำลังใจ ไม่ควรพูดตำหนิ หรือดูถูก ควรให้เวลาและให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของการบำบัดอีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit