พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า จ.น่าน เป็นอีกจังหวัดที่ประสบปัญหาทรัพยากรป่าไม้อย่างหนัก มีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารเป็นจำนวนมาก เห็นได้จากป่า ภูเขา ที่มีสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น ทำให้พื้นที่ป่าของน่านที่มีกว่า 6 ล้านไร่ แต่ตอนนี้เหลือเพียง 4.6 ล้านไร่ ซึ่งร้อยละ 85 เป็นการบุกรุกเพื่อทำพื้นที่เกษตร และยังมีแนวโน้มการเข้าบุกรุกทำลายอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ ทส.จึงได้กำหนดมาตรการที่จะฟื้นฟูพื้นที่ป่าเป็น 2 ด้าน ด้านแรกคือการป้องกันไม่ให้มีการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ในจ.น่าน ไปมากกว่านี้ และด้านที่สองคือการเพิ่มพื้นที่ป่า โดยได้น้อมนำแนวทาง และพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาใช้ในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่าน อาทิ โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ โครงการปลูกป่า3อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น
"การดำเนินการในครั้งนี้คาดหวังว่าจะช่วยให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องรบกวนระบบนิเวศต้นน้ำ จะเป็นการแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าต้นน้ำได้แต่ความสำเร็จจริงๆอยู่ที่ประชาชนในพื้นที่ ภาครัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่กฎหมาย องค์ความรู้ และเรื่องหลักการการจัดการทรัพยากรต่างๆ หากประชาชนลุกขึ้นมาช่วยกันรักษาแล้ว จะช่วยรักษาป่าให้มีอยู่อย่างยั่งยืนแท้จริง" พล.อ.สุรศักดิ์กล่าว
นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า พื้นที่ป่าส่วนใหญ่ของจ.น่าน ถูกบุกรุกทำการเกษตรเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาทิ ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศป่าไม้รวมถึงแม่น้ำลำธารอย่างรุนแรง ทางกรมป่าไม้จึงได้ปฏิบัติตามนโยบายในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งกำหนดให้มีการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกป่า เน้นเป้าหมายที่กลุ่มนายทุน และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เพื่อคืนพื้นที่มาทำการปลูกป่าฟื้นฟูระบบนิเวศต้นน้ำต่อไป ซึ่งการดำเนินการนี้ ทำให้สามารถคืนพื้นที่มาได้แล้วประมาณ 300 ไร่
นายชลธิศ กล่าวต่อว่า โครงการนี้จะดำเนินการโดยเน้นตามแนวพระราชดำริ คือการปลูก 3 อย่าง ใช้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ต้นไม้ที่จะนำมาใช้เป็นอาหารได้ ต้นไม้เชื้อเพลิง และต้นไม้ใช้สอย โดยจะทำการปลูกหลากหลายชนิดกว่า 10 พันธุ์ จะแบ่งการปลูกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือการปลูกด้วยกล้าไม้ ในพื้นที่กว่า 100 ไร่ แบบที่สองเป็นพื้นที่สูงชันกว่า 200 ไร่ จะใช้วิธีโปรยเมล็ดพันธุ์ไม้ท้องถิ่นหลากชนิด โดยได้รับความร่วมมือจากชมรมนักเล่นพารามอเตอร์ จ.น่าน กว่า 40 คน ช่วยกันบินโปรยเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว โดยนำดินมาหุ้มเมล็ดพันธุ์ให้มีน้ำหนัก เพื่อป้องกันเมล็ดติดคาอยู่บนต้นไม้ ดินจะผสมปุ๋ยละลายช้า (Osmocote) เพื่อให้เมล็ดพันธุ์เจริญเติบโตได้ดียิงขึ้น และจะมีการปลูกถั่วมะแฮะ เพื่อปรับสภาพดินให้ดีขึ้น
"กรณีที่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 กรมป่าไม้กำลังหาแนวทางให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้โดยไม่กระทบระบบนิเวศ ซึ่งรูปแบบการจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำจ.น่าน จะเป็นรูปแบบหนึ่งที่จะนำเสนอให้เป็นแบบอย่างของพื้นที่อื่นๆ โดยรูปแบบนี้เรียกว่าวนประชารัฐ จะทำให้คนในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารสามารถอยู่ในพื้นที่ และสามารถทำเกษตรกรรมได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการและเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนด ซึ่งบริเวณที่เป็นแปลงปลูกป่าแบบวนประชารัฐนั้น ราษฎรสามารถมาใช้ประโยชน์ เช่นเก็บผักผลไม้ พืชสมุนไพร ของป่าต่างๆ รวมถึงการปลูกพืชกินได้เพื่อเป็นแหล่งรายได้อีกหนึ่งทางของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในโครงการสร้างป่าสร้างรายได้" อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit