แผนที่วาดมือที่แต่งแต้มด้วยรูปภาพและสีสันสวยงามผืนใหญ่ของน่าน ถูกกางออกพร้อมโจทย์ "น่านวันนี้…ที่เราเห็น และเป็นไป" ที่เชิญชวนให้เด็กน่านกว่า 70 คน ในโครงการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชน ปี 2 ช่วยกันคิด ช่วยกันตอบ
อีก 10 ปี อยากให้ "น่าน" ของพวกเราเป็นอย่างไร? ละอ่อนน่านช่วยกันสะท้อนภาพฝันของพวกเขา
"อยากเห็นน่านเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และน้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์"
"อยากเห็นน่าเป็นเมืองที่สงบ มีธรรมชาติที่งดงาม"
"อยากให้บ้านเรามีความสะอาด….ไร้ขยะ"
"อยากเห็นลูกหลานน่าน สืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีต่อไป"
"แล้วน้องๆ รู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์น่านในวันนี้?"
"เดี๋ยวนี้เวลาใครมองน่านก็จะนึกถึงแต่ภูเขาหัวโล้น…รู้สึกเสียใจที่คนนอกมองคนน่านว่าเป็นคนกินป่า ทำลายป่า"
"รู้สึกเสียใจที่มนุษย์เป็นผู้ทำลายทรัพยากรที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จากป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์กลับน้อยลงทุกที"
"สมัยก่อนเรายังเห็นความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ลำคลอง ยังเห็นเด็กกระโดดเล่นน้ำได้ แต่ตอนนี้น้ำแห้งขอดไปมาก"
"ทรัพยากรป่าเมืองน่านที่สมบูรณ์บ้างก็ยังเหลืออยู่ บ้างก็ถูกทำลาย วัฒนธรรมและภูมิปัญญาบางอย่างก็หายไป คนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยให้ความสนใจ"
ความคิดและคำตอบของคนรุ่นใหม่ของน่านกว่า 70 คน ถูกนำไปปะติดบนแผนที่ผืนใหญ่ที่เตรียมไว้ โดยมีพี่เลี้ยงสรุปประเด็นและจัดกลุ่มออกมาเป็น "แผนที่ความคิด" (Mind Map) ก่อนที่จะปล่อยโจทย์สุดท้ายให้น้อง "เชื่อมโยง" สิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ว่ามีความเชื่อมโยงกับภาพฝันและสถานการณ์ปัจจุบันอย่างไร?
นายชวกร โพงไชยราช เยาวชนโครงการเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชุมชนบ้านหัวนา อำเภอสันติสุข จ.น่าน กล่าวว่า "…เราเป็นเยาวชนตัวเล็กๆ ที่ทำโครงการเกี่ยวกับอนุรักษ์ป่าในพื้นที่บ้านของตัวเอง มีความตั้งใจ ช่วยฟื้นฟูป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ และเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้คนนอกได้เข้ามาเรียนรู้ อย่างน้อยก็ช่วยปลูกจิตสำนึกให้คนนอกที่เข้ามาดูป่าบ้านเรานำกลับไปดูแล และฟื้นฟูป่าของเขาเอง …"
น.ส.จิรัชญา โลนันท์ สมากชิกในกลุ่มเสริมว่า "จากการที่เราเป็นเยาวชนรุ่นใหม่และได้ทำโครงการมาเป็นปีที่ 2 แล้ว เราจึงนำสิ่งที่เราได้ศึกษาเกี่ยวกับอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนไปเผยแพร่ให้เยาวชนเพื่อปลูกจิตสำนึกให้เด็กรุ่นใหม่ โดยเริ่มจากรุ่นเราไปสู่รุ่นน้อง"
น.ส.จิรัชยา ทากัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปี่ที่ 4 โรงเรียนนาหมื่นพิทยาคม เยาวชน โครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า(เป๋าเด้ง) กล่าวว่า "…ในฐานะละอ่อนน่านคนหนึ่งจึงอยากจะลุกขึ้นมาแก้ปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ โดยการเริ่มต้นแก้ไขจากจุดเล็กๆ ที่ตัวเราก่อน หนูเองทำโครงการเกี่ยวกับการนำเศษผ้าที่เหลือใช้มาเย็บเป็นกระเป๋าที่สร้างมูลค่าใหม่สร้างรายได้ให้ชุมชน อย่างน้อยโครงการที่เราทำก็มีส่วนช่วยลดขยะจากการเย็บผ้าที่เหลือทิ้งจากในชุมชน"
ในขณะที่ สามเณรศุภฤกษ์ กันทะกาลัง จากสามเณรมัคคุเทศก์วัดพระธาตุแช่แห้ง กล่าวว่า "..โครงการของเราศึกษาประวัติศาสตร์องค์พระธาตุแช่แห้ง ซึ่งโครงการเรามีประโยชน์ต่อเมืองน่าน ด้านการนำความรู้และความเป็นมาประวัติศาสตร์เผยแพร่ให้คนอื่นรับรู้ถึงวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของน่าน เป็นการช่วยรักษาคุณค่าด้านวัฒนธรรมไว้ให้สืบสานในรุ่นต่อไป"กิจกรรม "น่านวันนี้...ที่เราเห็นและเป็นไป" เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในวทีก้าวย่างไปข้างหน้า สำนึกคุณค่าเครือข่าย พลเมืองเยาวชนจังหวัดน่าน ในโครงการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชน จังหวัดน่าน (พลังพลเมืองเยาวชนจังหวัดน่าน) ปี 2 ซึ่งดำเนินงานโดยมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ (วัดโป่งคำ) โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อชวนเยาวชนมองทั้งทุกข์และทุน พร้อมทั้งเชื่อมโยง ให้เหล่าเยาวชนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าในการใช้ศักยภาพของตัวเขาร่วมคลี่คลายปัญหาบ้านเกิด ด้วยการลงมือปฏิบัติผ่านโครงการที่พวกเขาทำในชุมชนของตนเอง
พระครูสุจิณนันทกิจ เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ กล่าวว่า"…ขณะนี้คนมักเอาความโลภนำในการดำรงชีวิตจึงทำให้ทรัพยกร ธรรมชาติที่เป็นตัวเกื้อกูลในการดำรงชีวิตมันถูกทำลาย โครงสร้างอาหารก็หายไป เรื่องของวัฒนธรรมก็หายไป สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนพึ่งพิงปัจจัยภายนอก พึ่งพิงทุนเป็นหลัก ตราบใดที่เราไม่ปลูกฝังจิตสำนึกถึงจะมีความรู้ขนาดไหนก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้แบบยั่งยืน…ดังนั้น เราควรสร้างคนที่เป็นต้นกล้าขึ้นมาให้เขาจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีทั้งองค์ความรู้และเครื่องมือที่นำมาประยุกต์ใช้นำไปสู่การพัฒนาเมืองน่านได้ แล้วคนต้นกล้าเหล่านี้ก็ต้องกลับไปสร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่จะมารับช่วงต่อในการพัฒนาบ้านเมืองของตนเอง พระอาจารย์จึงพูดกับเด็กๆ เสมอว่า ของดีเมืองน่านมีมากมาย เราควรดูให้ดีว่าเรามีของดีอะไรบ้าง และเอาของดีมาทำให้เป็นโอกาสในการพัฒนาของคนเมืองน่าน เช่น เรามีแม่น้ำดี เราจะทำอย่างไรให้แม่น้ำอยู่กับเราไปนานๆ เรามีป่าดีเราจะทำอย่างไรให้มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ เรามีอาหารดีเราจะทำอย่างไรให้มีอาหารอยู่คู่กับชุมชนตลอดไป หากทำแบบนี้ได้ก็ถือว่าเป็นการพัฒนาคน 3 รุ่น เหมือนนวัตกรรมใหม่ในเรื่องของการสร้างหลักคิดของคนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ทั้งเรื่องขององค์ความรู้ ภูมิปัญญา และจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ…" พระครูสุจิณนันทกิจ เจ้าอาวาสวัดโป่งคำ กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการและของท่านอย่างมีความหวัง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit