นายสัตวแพทย์ นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า จากการที่ได้ดำเนินโครงการนำร่องการเลี้ยงไก่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะตั้งแต่ปี 2557 ได้ผลประสบความสำเร็จที่น่าพอใจ สอดคล้องตามนโยบายของบริษัทฯ มีแนวทางการผลิตเนื้อสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ พร้อมเดินหน้าให้ความรู้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรายย่อย (คอนแทร็กฟาร์ม) นำหลักการเลี้ยงไก่ปลอดยาปฏิชีวนะไปใช้ทุกฟาร์ม ตั้งเป้าฟาร์มทุกแห่งทั่วประเทศปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะภายในปี 2561
"ซีพีเอฟ พบว่าหลักการการเลี้ยงไก่เนื้อปลอดยาปฏิชีวนะ ที่ได้จากโครงการนำร่องเป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงไก่เนื้อของไทย เพราะช่วยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของเนื้อไก่ไทยให้สูงขึ้น และยังมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง ปัจจุบันกระบวนการผลิตไก่เนื้อของไทยได้มาตรฐานระดับโลกและมีการใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นภายใต้การควบคุมของสัตวแพทย์อยู่แล้ว ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวด" น.สพ.นรินทร์กล่าว
ปัจจุบัน ฟาร์มทุกแห่งของบริษัทฯ และฟาร์มของเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพฯ ใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ใช้เพื่อการรักษาเฉพาะกรณีที่สัตว์ป่วยเป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) และอยู่ภายใต้การดูแลและควบคุมโดยสัตวแพทย์ และจะหยุดการใช้ตามข้อกำหนดระยะหยุดยาจนไก่ปลอดจากสารตกค้างก่อนส่งเข้ากระบวนการผลิตเพื่อแปรรูปต่อไป ผ่านการตรวจสอบและรับรองว่าปลอดภัยจากเชื้อดื้อยา จากกรมปศุสัตว์ และประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง เป็นประเทศที่มีความเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยของอาหารสูงมาก และประเทศไทยกับคู่ค้ามีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องระบบการป้องกันการใช้ยาปฏิชีวนะและการตรวจสอบสารตกค้างในอาหาร
หลักการเลี้ยงไก่ปลอดยาปฏิชีวนะ เกษตรกรต้องเริ่มต้นที่การคัดแยกลูกไก่จากฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ มีอายุไข่ที่เหมาะสม มีการฆ่าเชื้อไข่ฟัก การจัดการโรงฟักที่ดี จนถึง การบริหารจัดการไก่ภายในโรงเรือนก็เป็นปัจจัยสำคัญต้องมีระบบป้องกันโรค (Biosecurity) ที่เข้มงวด มีการล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรงเรือนก่อนนำไก่เข้าเล้า มีการตรวจสอบเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับแกลบหรือวัสดุที่ใช้รองพื้นเล้า ระหว่างการเลี้ยง ต้องดูแลอุณหภูมิในโรงเรือนต้องเหมาะสมและทั่วถึงไก่ทุกตัว มีการเก็บอาหารสัตว์ในที่มิดชิดป้องกันสัตว์และสิ่งปนเปื้อน มีระบบการตรวจสอบที่เข้มงวด
"หัวใจสำคัญของการเลี้ยงไก่ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะ เกษตรกรต้องเพิ่มการดูแลไก่ในโรงเรือนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น รวมถึงต้องไม่ละเลยข้อปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการปนเปื้อนทุกอย่าง ที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ดูแลไก่ในโรงเรือนอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าเกษตรกรสามารถทำได้ และในส่วนของบริษัทฯเอง ยังเน้นการไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในพ่อแม่พันธุ์ เพื่อให้มั่นใจว่า ลูกไก่มาจากพ่อแม่พันธุ์ที่ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะอีกด้วย" น.สพ.นรินทร์กล่าวย้ำ
ขณะเดียวกัน เกษตรกรต้องต้องมีระบบป้องกันที่ดี มีวิธีการช่วยลดแบคทีเรียก่อโรค และเพิ่มแบคทีเรียที่มีประโยชน์ เป็นการดูแลสุขภาพไก่อย่างดีที่สุด เสริมความสามารถในการย่อยและดูดซึมอาหารของไก่ เพื่อไม่ให้อาหารที่ย่อยและดูดซึมไม่หมดต้องตกค้างจนกลายเป็นอาหารให้เชื้อแบคทีเรียก่อโรค เช่น อีโคไล ซาลโมเนลล่า หรือ คลอสตริเดียม เป็นการป้องกันทุกวิถีทางไม่ให้ไก่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อใดๆ ทำให้ไก่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และสามารถดำรงสุขภาพอย่างแข็งแรงได้ตั้งแต่ฟักเป็นตัวกระทั่งเข้าสู่โรงงานแปรรูป โดยตลอดเส้นทางแม้จะไม่มีการใช้ยาแต่ บริษัทฯ ก็ยังคงต้องตรวจสอบยาปฏิชีวนะตกค้าง เพื่อยืนยันให้แน่ใจว่าไม่พบสารตกค้างใดๆ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
ในปี 2559 นี้ ทีมเทคนิคและวิชาการของบริษัทฯ เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าหน้าที่ประจำฟาร์ม และเกษตรกรในโครงการส่งเสริมฯ ทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจหลักการการเลี้ยงไก่เนื้อโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ มั่นใจว่าในปี 2561 จากหลักการและแนวทางที่ดำเนินการกับฟาร์มนำร่องจะช่วยให้ฟาร์มทุกแห่งทั่วประเทศของบริษัทและฟาร์มของเกษตรกรในโครงการสามารถปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะได้อย่างแน่นอน
"บริษัทฯ ยังนำความสำเร็จของโครงการนี้ เป็นแนวทางปฏิบัติกับธุรกิจเลี้ยงไก่เนื้อในทุกประเทศที่บริษัทไปลงทุน เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไก่เนื้อให้สูงขึ้น และเป็นที่ยอมรับและมั่นใจของผู้บริโภคทั่วโลก" น.สพ.นรินทร์ย้ำ
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit