ปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ วิทยาการหุ่นยนต์(Robotics) ได้เข้ามามีบทบาทในสังคมและเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เพื่อรองรับต่อความต้องการในอนาคตและเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรทางด้านวิทยาการเหล่านี้ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นสถาบันอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยที่ได้ริเริ่มเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่มีการเรียนการสอนแบบโมดูลขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการใช้บุคลากรเทคโนโลยีด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) กล่าวว่า ฟีโบ้จัดตั้งขึ้นมากว่า 20 ปี มีความเชี่ยวชาญทางด้าน Robotics และ Automation เริ่มต้นจากการเน้นทำวิจัย และงานบริการวิชาการ กระทั่งเปิดสอนหลักสูตร FIBO Robotics and Automation (FRA) ในระดับปริญญาโทและเอก ตั้งแต่ปี2546 จนล่าสุดฟีโบ้ได้เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติขึ้น ถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของไทยที่เปิดหลักสูตรให้ปริญญาเฉพาะทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติครบทั้งระดับปริญญาตรี-โท และเอก เพื่อสร้างกำลังคนด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม บริการ และสังคมที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นสอดรับกับยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ของประเทศ
"ผลสำรวจระดับประเทศจากภาคอุตสาหกรรม 4 กลุ่มหลัก ยานยนต์ การแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์และอาหาร พบว่าจากปัจจัยค่าแรงงานที่สูงขึ้น ปัญหาแรงงานต่างชาติ ฯลฯ ทำให้หลายแห่งต้องการสร้างระบบอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้าไปใช้งานในภาคการผลิต โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความรู้พื้นฐานทั้งด้านไฟฟ้า เครื่องกล อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญสามารถทำงานข้ามสายได้ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากหากต้องการออกแบบระบบใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองทันต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรม จึงชัดเจนว่าแนวโน้มความต้องการบุคลากรด้านวิศวหุ่นยนต์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์มีมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะนอกจากวิทยาการหุ่นยนต์สำหรับการเพิ่มผลผลิตหรือ Robotics for Productivity แล้ว ยังมีหุ่นยนต์อีกกลุ่มที่มีแนวโน้มจะสร้างมูลค่าสูงได้ คือวิทยาการหุ่นยนต์เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น หรือ Robotics for Life ที่เราเริ่มเห็นกันมากขึ้น อาทิ หุ่นยนต์ดูดฝุ่นอัตโนมัติ หุ่นยนต์ต้อนรับ หุ่นยนต์บริการ หุ่นยนต์สำรวจ หุ่นยนต์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์เพื่อความบันเทิง และการศึกษา เป็นต้น" ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่สามารถบูรณาการสหวิทยาการด้านไฟฟ้า เครื่องกลและคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ หรือเป็น Innovative System Integrator in Robotics and Automation Engineering ซึ่งทางฟีโบ้มีความพร้อมในเรื่องบุคลากรและสถานที่ที่จะเป็นที่บ่มเพาะความรู้และประสบการณ์ด้านนี้แก่นักศึกษาของหลักสูตร
ด้าน ดร.อาบทิพย์ ธีรวงศ์กิจ รองผู้อำนวยฝ่ายการศึกษา กล่าวว่า หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของฟีโบ้เป็นหลักสูตรใหม่ที่เพิ่งเปิดมาได้ 2 ปี เริ่มขึ้นเมื่อปี 2557 มีรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Project-Based Learning โดยบูรณาการความรู้ ด้านวิศวกรรมเครื่องกล ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ ในรูปแบบโมดูล (เป็นการแบ่งรายวิชาออกเป็นโมดูลต่าง ๆ) มีทั้งหมด 10 โมดูล ใน 8 ภาคการศึกษา (ตั้งแต่ปีที่ 1 - 4 ) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นกลไกให้นักศึกษาได้เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่เรียนในแต่ละภาคการศึกษา โดยในการวางแผนและพัฒนาแต่ละโมดูล อาจารย์ในแต่ละรายวิชาภายใต้โมดูลเดียวกันจะได้ออกแบบโมดูลร่วมกัน ทำให้เกิดความสอดคล้องและการเชื่อมโยงของเนื้อหาในแต่ละรายวิชาซึ่งอาจไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการจัดการเรียนการสอนในลักษณะโมดูล โดยในแต่ละโมดูลจะประกอบไปด้วย 2 - 3 รายวิชาในภาคการศึกษาเดียวกัน และนักศึกษาจะได้ทำโครงงานอย่างน้อย 1 โครงงานในแต่ละโมดูลเพื่อให้นักศึกษาได้ฝึกทักษะการนำความรู้ที่เรียนในแต่ละวิชามาบูรณาการทำความเข้าใจเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่เรียนในแต่ละเทอมเพื่อไปประยุกต์ใช้จริงผ่านการทำโครงงานในโมดูล
ดร.อาบทิพย์ กล่าวเสริมว่า ข้อดีของการจัดการเรียนการสอนแบบโมดูลทำให้เด็กได้เห็นภาพการเรียงร้อยความสัมพันธ์และความเกี่ยวเนื่องกันของแต่ละวิชา เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง การสำรวจโลกของวิทยาการหุ่นยนต์ ไล่มาถึงการออกแบบและสร้างแผงวงจรไฟฟ้าประยุกต์ร่วมกับการอ่านแบบและเขียนแบบทางวิศวกรรม การใช้อุปกรณ์เครื่องมือทางกลและทางอิเล็กทรอนิกส์ และการเขียนโปรแกรม เพื่อสร้างหุ่นยนต์ตัวแรก หรือMy First Robot ในชั้นปีที่ 1 การเขียนซอฟท์แวร์ การประยุกต์ใช้ Sensors และ Actuators ประยุกต์เข้ากับการออกแบบทางกลที่ซับซ้อน เพื่อสร้างนวัตกรรมที่มีกระบวนการออกแบบโดยมีผู้ใช้เป็นศูนย์กลางในชั้นปีที่ 2 การสร้างชิ้นงานที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยประยุกต์รวมกับเทคโนโลยีการประมวลผลภาพ ปัญญาประดิษฐ์ และทฤษฎีขั้นสูงด้านวิทยาการหุ่นยนต์ผลิตออกมาเป็นแผนธุรกิจ รวมถึงการเตรียมศักยภาพของนักศึกษาเพื่อทำงาน R&D ในระดับโรงงานอุตสาหกรรมได้ ซึ่งเป็นระบบกลไกที่ซับซ้อนมากขึ้นในชั้นปีที่ 3 และ 4 โดยในแต่ละโมดูลจะมีกิจกรรมที่ให้นักศึกษาทำโครงงานร่วมกันในทุกเทอม จึงเหมือนเป็นการขมวดปมวิชาที่เรียนมาตลอดทั้งเทอมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งโครงงานที่สามารถประเมินผลร่วมกันได้ในหลายวิชา ทำให้เด็กมีเวลาทุ่มเทในการทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่ทำให้เด็กเกิดความเครียดหรืออ่อนล้าจากการทำงานหนักที่ต้องทำโครงงานหลาย ๆ วิชาเหมือนการเรียนแบบเดิม ๆ และในช่วงปิดเทอมใหญ่หลังจบชั้นปีที่ 3 ทางฟีโบ้มีแผนจัดส่งนักศึกษาเข้าฝึกงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย
"หลักสูตรนี้ถูกออกแบบโดยแนวคิด Outcome-based Education ที่เน้นการสร้างความมีส่วนร่วมของนักศึกษาในชั้นเรียนเป็นสำคัญและเทคนิคการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับนักศึกษาในศตวรรษที่21 ซึ่งเปลี่ยนจากการเน้นการป้อนเนื้อหาวิชาความรู้ให้นักศึกษาอย่างเดียว เป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ที่นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับการเรียนรู้มากขึ้น ฟีโบ้จึงมีหลักในการจัดการเรียนการสอน 3 อย่าง ได้แก่ 1.การสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ (The will to learn) 2.การบูรณาการการเรียนรู้ (Integrative Learning) และ 3.การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by Doing)"
ด้านนายนัศรุน หะยียามา หรือน้องนัด อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 กล่าวถึงความรู้สึกว่า "ตนเองนั้นอยากลองทำหุ่นยนต์มานานแล้ว เพราะชอบดูสารคดีทำให้มีความฝันว่าอยากจะสร้างหุ่นยนต์สำรวจมาตั้งแต่เด็ก พอจบมัธยมปลายสายวิทย์-คณิต จากโรงเรียนสาธิต มอ.ปัตตานี ก็อยากเรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ พอรู้ว่าฟีโบ้มีเปิดหลักสูตรเฉพาะทางด้านหุ่นยนต์ จึงตัดสินใจสมัครสอบเข้ามาเรียนที่ฟีโบ้ทันทีโดยไม่ได้เลือกที่อื่นเลย
"จากที่ได้เรียนมาตลอด 1 ปี รู้สึกดีใจและคิดไม่ผิดที่ได้มาเรียนที่นี่ เพราะการเรียนที่จัดแบบโมดูลนี้ ทำให้เราได้ทำอะไรหลายอย่าง ได้ลงมือทำ ได้ลองออกแบบเอง ทำให้รู้ว่าการต่อวงจรแบบนี้ผลที่ได้จะออกมาเป็นอย่างไร รู้ขั้นตอนและระบบทุกอย่างของหุ่นยนต์ตัวนั้น ผลจากที่ได้นำความรู้จากที่เรียนมาประยุกต์ทดลองใช้ทำให้เรามีประสบการณ์ทำจริง มีการจัดระบบความคิดได้ดีขึ้น ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราไม่วางแผนไม่วางระบบความคิดแล้วออกแบบผิดก็จะผิดทั้งหมดเพราะอิเล็กทรอนิกส์มีรายละเอียดมากถ้าพลาดเพียงนิดเดียวก็จะผิดพลาดไปทั้งหมด ต่างจากเดิมที่เคยเรียนแต่ทฤษฎีในห้องเรียนซึ่งเราก็คิดแค่ว่าท่องจำไปสอบเท่านั้น แต่พอเราได้ลงมือทำเองแล้ว ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าในโลกของความเป็นจริงมีหลาย ๆ อย่างที่ไม่ตรงกับสิ่งที่คิดไว้ ก็ต้องมานั่งแก้ไขอย่างพวกวงจรก็เหมือนกัน กับเพื่อน ๆ ที่นี่เก่งกันทุกคนและทุกคนก็คอยช่วยเหลือกันดี ยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดเวลา อย่างตอนทำหุ่นยนต์ตัวแรก หรือ My First Robot เพื่อนๆ ในกลุ่มก็ช่วยเหลือกันดี มีการเสนอความคิดกันว่าอันนี้ดีกว่าไหม พอสุดท้ายก็นำมารวมกันจนสามารถสร้างหุ่นยนต์ขึ้นได้สำเร็จ ซึ่งก็ยังได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมด้วย"
สำหรับหลักสูตรระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินี้ FIBO เปิดรับสมัครนักศึกษามาแล้ว 2 รุ่น โดยได้รับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปี 2557 และในปีการศึกษา 2559 ถือเป็นรุ่นที่สาม ซึ่งจะเปิดภาคการศึกษาแรกในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ พร้อมกับเตรียมเปิดรับสมัครนักศึกษาที่จะเข้าศึกษาต่อในปีการศึกษา 2560ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ โครงการเรียนดี เปิดรับสมัครเดือน ต.ค.- ธ.ค., โครงการActive Recruitment เปิดรับสมัครเดือน ต.ค.- เม.ย.,โครงการคัดเลือกตรง (GAT/PAT) เปิดรับสมัคร เดือน ธ.ค.- ก.พ. และระบบกลาง (Admission) เปิดรับสมัครเดือน พ.ค.- ก.ค. โดยจะเปิดรับสมัครเพียงปีละ 80 คน นักเรียนที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: FIBO หรือเว็บไซต์ http://fibokmutt.wix.com/fiboedu โทร.02-470-9715-6
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit