ปภ.ประสาน 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมรับมือภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสมในระยะนี้

21 Jun 2016
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมรับมือภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสมในระยะนี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัย และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้น และฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมในระยะนี้ ขณะที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ปริมณฑลมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น ทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 17 จังหวัด แยกเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 7 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย และดินโคลนถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่านบริเวณชายฝั่งทะเล และพื้นที่เสี่ยงภัยของจังหวัดให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักและฝนตกสะสม พร้อมตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ท่อและทางระบายน้ำในเขตเมืองไม่ให้มีสิ่งอุดตัน สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อาทิ น้ำตก ชายฝั่งทะเล หากอยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยให้พิจารณาแก้ไขและสั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวชั่วคราว กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที หากมีความจำเป็นให้พิจารณาสั่งการอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยในทันที สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติจะได้อพยพหนีภัยทันท่วงที ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะ ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย และดินโคลนถล่ม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th