ปธ.สมาพันธ์ฯผู้เลี้ยงกุ้งไทย พร้อมนายกสมาคม ผู้แทนสหกรณ์ ชมรมต่างๆ ในคลัสเตอร์กุ้งไทย ตบเท้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกตู่ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง วอนขอให้ช่วยกู้ภาพ เสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมกุ้งของ ปท. ด่วนที่สุด ก่อนยากจะแก้ไข/ล่มสลาย

22 Jun 2016
ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ถ.พิษณุโลก - ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และทุกภาคส่วนในสายห่วงโซ่การผลิตกุ้งของประเทศ ได้แก่ สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมกุ้งตะวันออกไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมอาหารสำเร็จรูป สมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย พร้อมตัวแทนสหกรณ์ ชมรม และทุกภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตกุ้งของประเทศ จาก 15 จังหวัด จำนวนกว่า 100 คน นำโดย นายบรรจง นิสภวาณิช ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอให้ช่วยกอบกู้ เสริมสร้างภาพพจน์ และภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอุตสาหกรรมกุ้งไทย และคลัสเตอร์กุ้งของประเทศที่ผลิตกุ้งมาตรฐานอาหารปลอดภัย ปราศจากสารตกค้าง และปราศจากโรคฯ ด่วนที่สุด มี นายยศพงษ์ งามรัตนไพบูลย์ นิติกรประจำศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับมอบจดหมายเปิดผนึก
ปธ.สมาพันธ์ฯผู้เลี้ยงกุ้งไทย พร้อมนายกสมาคม ผู้แทนสหกรณ์ ชมรมต่างๆ ในคลัสเตอร์กุ้งไทย ตบเท้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกตู่ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง วอนขอให้ช่วยกู้ภาพ เสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมกุ้งของ ปท. ด่วนที่สุด ก่อนยากจะแก้ไข/ล่มสลาย

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ในภาคการผลิตกุ้งของไทย โดยเฉพาะในส่วนของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกำลังเผชิญกับปัญหาการเลี้ยง อันเนื่องจากการระบาดของอาการโรคตายด่วน หรือ อีเอ็มเอส (EMS) ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงและส่วนเกี่ยวข้องก็ได้พยายามกันอย่างเต็มที่ เพื่อผลิตกุ้งให้ได้ ซึ่งว่ายากแล้ว แต่ปัจจุบัน เป็นที่น่าห่วงอย่างยิ่งว่าภาพพจน์ที่ดีๆของกุ้งไทยโดยรวมของประเทศที่สร้างสมมา ที่นานาประเทศทั่วโลกยอมรับ ในการเป็นสินค้าอาหารที่มีความปลอดภัย (Food Safety) คุณภาพสูง ได้จากการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล จากระบบการเลี้ยงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเป็นสินค้าที่มี Local Content กว่าร้อยละ 80 ที่เคยทำรายได้เข้าประเทศจากการส่งออก ปีละกว่าแสนล้านบาท กำลังถูกทำลายย่อยยับ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีการพยายามนำเสนอข้อมูล ภาพข่าว ทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหวในสื่อต่างๆอย่างต่อเนื่อง ในปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าชายเลน ส่วนใหญ่เน้นนำเสนอข่าวการเข้าบุกจับกุมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง (ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์/ขาดความชัดเจนในข้อมูลความถูกต้อง-กรรมสิทธิ์ที่ดิน) ในพื้นที่เลี้ยงกุ้งในจังหวัดสำคัญ ส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งโดยรวมอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างหนักต่อภาคการส่งออก และส่วนเกี่ยวข้อง เพราะจะถูกต่างประเทศใช้ประเด็นสิ่งแวดล้อม มาโจมตี กีดกันกุ้งไทย ซึ่งหากมีการประชาสัมพันธ์ข่าวนี้ออกไป ยากที่จะแก้ไขได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมกุ้งตะวันออกไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย มีความห่วงใยและเป็นกังวลใจอย่างยิ่ง เห็นว่าเพื่อให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยอยู่รอดอย่างยั่งยืน และสังคมเข้าใจถูกต้องในข้อเท็จจริง ว่าการเพาะเลี้ยงกุ้งโดยรวมของประเทศเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนา ภายใต้ระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ จึงได้พร้อมใจกันมายื่นจดหมายเปิดผนึก ถึงท่านผู้มีอำนาจ คือ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มาขอความกรุณาจากท่านช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุด ในการกอบกู้และเสริมสร้างภาพพจน์/ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอุตสาหกรรมกุ้ง/คลัสเตอร์กุ้งของประเทศ และเพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมให้กับอุตสาหกรรม/คลัสเตอร์กุ้งไทย ดังนี้

1. ขอให้สั่งการยุติการนำเสนอข่าวที่เป็นลบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศโดยทันที ในประเด็น การบุกเข้าจับกุมฯ …(เรื่องนี้สำคัญ ด้วยเป็นข้อท้วงติงมาจากผู้นำเข้ากุ้งต่างประเทศ)

2. เร่งปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้ากุ้งไทย-ที่มีความสด สะอาด ปลอดภัย รสชาติดี ปราศจากสารตกค้าง และปราศจากโรคฯ

3. รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้พลเมืองไทย ในประเทศ หันมาบริโภค/กินกุ้งอย่างกว้างขวาง ขอความอนุเคราะห์ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เป็นพรีเซ็นเตอร์กิตติมศักดิ์

4. มีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อสนับสนุนตลอดห่วงโซ่การผลิตฯ โดยการช่วยลดต้นทุนการผลิต ให้กับเกษตรกร และส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ ค่าไฟฟ้า การนำเข้าวัตถุดิบผลิตอาหารกุ้งฯ รวมถึง การให้กู้ยืมเงินปลอดดอกเบี้ย/อัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

5. การเร่งหาตลาดกุ้งส่งออกเพิ่มเติมจากที่มีอยู่

6. ปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อป้องกัน/แก้ปัญหาข้อกีดกันการค้าต่างๆ เช่น การใช้แรงงานเด็ก/ค้ามนุษย์จีเอสพี ต่อต้านการทุ่มตลาด สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

"เราสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมกุ้งตะวันออกไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย รวมถึง สหกรณ์ และชมรม ที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนและเห็นด้วยกับนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดนี้อย่างเต็มที่ ที่ตั้งใจในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติของชาติอย่างจริงจัง ในแนวทางที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อให้ฟื้นฟูกลับมาสมบูรณ์เป็นสมบัติอันล้ำค่าของพวกเราทุกคนและลูกหลานสืบต่อไป แต่ต้องไม่กระทบกับภาพพจน์/ภาพลักษณ์ที่ดีโดยรวมที่สั่งสมมายาวนานของประเทศ ของภาพรวมอุตสาหกรรม/คลัสเตอร์กุ้งไทย" นายบรรจง กล่าวทิ้งท้าย