พลเอก ฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีสำหรับเพาะปลูก กระทรวงเกษตรฯ ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการเชิญชวนเกษตรกรเข้ามาร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้นใช้เองในท้องถิ่น โดยให้รวมกันเป็นกลุ่มเรียกว่าศูนย์ข้าวชุมชน ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 1,650 ศูนย์ ซึ่งแต่ละศูนย์จะมีเนื้อที่ประมาณ 8,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ไข่แดงสำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี จำนวน 200 ไร่ และพื้นที่ไข่ขาว จำนวน 7,800 ไร่ สำหรับนำเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาเพาะปลูกต่อไป โดยสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีรวมกันได้ปีละประมาณ 100,000 ตัน ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสได้ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีมากขึ้น โดยในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาศูนย์ข้าวชุมชนเป็นจำนวนมากได้เติบโต และมีความเข็มแข็งมากขึ้นเป็นที่พึ่งในด้านเมล็ดพันธุ์ และยังเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น เนื่องจากศูนย์ข้าวชุมชนมีกระจายอยู่ในพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ อีกทั้งยังต้องการยกระดับให้เกษตรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถดำรงอยู่ในอาชีพได้อย่างมั่นคง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้เข้มแข็งขึ้น เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ทำการศึกษาวิจัยในเรื่องต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร เช่น การปรับปรุงพันธุ์ การพัฒนาเทคโนโลยี การถ่ายทอดความรู้ การแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการผลิตเมล็ดพันธุ์ดีให้พอเพียง เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว มีความมุ่งหวังที่จะต่อยอดการดำเนินงานของศูนย์ข้าวชุมชนทั้งหมดให้เข้าสู่ระบบการทำงานแบบนาแปลงใหญ่ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น จึงได้จัดให้มีการลงนาม "ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาข้าวและชาวนาไทย ระหว่างกรมการข้าวกับศูนย์ข้าวชุมชน" ในการสัมมนาครั้งนี้ด้วย เพื่อให้การพัฒนาข้าวและชาวนามีประสิทธิภาพสูงสุด และกระชับความร่วมมือในการทำงานกับศูนย์ข้าวชุมชนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งในระบบส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยจะได้จัดให้ผู้บริหารของกรมการข้าวในส่วนภูมิภาค คือ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวและผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวได้มีโอกาสพบปะกับประธานศูนย์ข้าวชุมชนในจังหวัด ที่ศูนย์รับผิดชอบ เพื่อสร้างความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนประสบการณ์และวางแผนการทำงานร่วมกัน
สำหรับในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมขยายผลการดำเนินงานใน 3 ส่วน ได้แก่ 1) การเกษตรแปลงใหญ่ โดยจะเพิ่มจำนวนแปลงให้ถึง 1,000 แปลง และเพิ่มประสิทธิภาพในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้ได้ร้อยละ 20 2)การปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรไม่เหมาะสมด้วย Agri-Map โดยการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวรอบแรก 0.57 ล้านไร่ การปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวรอบสอง 4.49 ล้านไร่ และการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชอื่น ๆ และ 3) การขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรแบบผสมผสาน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มีโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร อาทิ ในเรื่องนาแปลงใหญ่ โดยให้เกษตรกรมีการร่วมกลุ่มกันเพื่อสามารถกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ได้จำนวน 5 ล้านบาท มีอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.01% ระยะเวลาการชำระ 3 ปี อีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit