คูโดสหนุนศักยภาพดีไซเนอร์รุ่นใหม่ มอบรางวัลชนะเลิศการประกวด KUDOS Faucet Design Award 2016

06 Sep 2016
คูโดส (KUDOS) ผู้นำธุรกิจอุปกรณ์ในห้องน้ำคุณภาพสูง ประกาศผลผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบก๊อกน้ำครั้งแรกในประเทศไทย KUDOS Faucet Design Award 2016 มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนในสังคมผ่านแนวคิดUniversal Design หรือ UD
คูโดสหนุนศักยภาพดีไซเนอร์รุ่นใหม่ มอบรางวัลชนะเลิศการประกวด KUDOS Faucet Design Award 2016

เพื่อเตรียมพร้อมรับการมาถึงของสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ คูโดสเชื่อว่า งานออกแบบและผลิตภัณฑ์ของใช้ในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้ ต้องการการคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนหลากหลายกลุ่ม การออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ ควรจะเอื้อให้คนทุกกลุ่มสามารถใช้ได้อย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ เด็ก ผู้หญิง ผู้พิการ ผู้บาดเจ็บ รวมถึงคนที่มีข้อจำกัดด้านร่างกายต่างๆ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของ แนวคิด UD ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับงานออกแบบในยุคปัจจุบัน ดังนั้น การประกวด Kudos Faucet Design Award 2016 รอบสุดท้าย ที่จัดขึ้นที่โรงแรมคอนราด ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ จึงไม่ได้เพียงแค่ต้องการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มในสังคมเท่านั้น แต่ยังเป็นการเสริมศักยภาพและเปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ได้พัฒนาทักษะผ่านการทำงานร่วมกับเหล่านักออกแบบมืออาชีพอีกด้วย

"เรามีความยินดีและตื่นเต้นเป็นอย่างมากสำหรับการประกวดออกแบบก๊อกน้ำในปีนี้ ซึ่งเราได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก และเราได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากนิสิตนักศึกษาและดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ซึ่งมีความกระตือรือร้นและพร้อมเรียนรู้เกี่ยวกับ UD ให้มากขึ้น การจัดการประกวดออกแบบก๊อกน้ำโดยใช้หลักUD นี้ นับเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของคูโดส ที่อยากถ่ายทอดความรู้แก่คนรุ่นใหม่ และช่วยสนับสนุนพวกเขาสร้างสังคมที่น่าอยู่สำหรับเราทุกคน" นายสันติ ศรีวิชาญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.ไอ.ที. จำกัด กล่าวในฐานะตัวแทนจากแบรนด์คูโดส ผู้จัดงานประกวดในครั้งนี้

"การสร้างสรรค์ผลงานออกแบบเป็นหัวใจสำคัญสำหรับผลิตภัณฑ์ของคูโดส และผมรู้สึกตื่นเต้นที่แนวความคิด Universal Design นี้ อาจได้รับการพัฒนาให้เป็นก๊อกน้ำสำหรับจำหน่ายในไทยและต่างประเทศ ซึ่งถ้าสำเร็จก็จะถือเป็นผลงานแห่งความภาคภูมิใจของนักออกแบบรุ่นใหม่ในไทย" นายสันติ กล่าวเสริม

ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทนิสิตนักศึกษา ได้แก่ นายชิษณุ นูพิมพ์ บัณฑิตหมาดๆ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับผลงานที่ใช้ชื่อว่า "L1" งานออกแบบก๊อกน้ำสไตล์โมเดิร์นที่รวมทั้งกระจก สบู่ล้างมือ และเครื่องเป่ามือไว้ในชิ้นเดียว ด้วยงานออกแบบรูปทรงตัวแอล กับความสูงเกือบ 1 เมตร พร้อมเทคโนโลยีแบบสัมผัสที่ช่วยให้ปรับระดับความแรงและอุณหภูมิของน้ำได้แค่ปลายนิ้ว จึงนับเป็นผลงานที่ปฏิวิติวงการก๊อกน้ำอย่างแท้จริง

"ผมอยากให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ เด็ก หรือผู้มีปัญหาทางด้านร่างกายต่างๆ สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผมออกแบบได้โดยง่าย" นายชิษณุ กล่าว"ผมหวังให้งานออกแบบของผมสามารถช่วยให้ชีวิตของผู้คนง่ายขึ้น โดยผสานเทคโนโลยีเข้ากับงานออกแบบที่ล้ำสมัย ต้องขอขอบคุณ Kudos Faucet Design Award 2016 ที่เปิดโอกาสให้ผมได้มาเรียนรู้จากอาจารย์และนักออกแบบชั้นแนวหน้าของไทย เป็นประสบการณ์ที่ดีมากครับ"

สำหรับผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทบุคคลทั่วไป ได้แก่ นายณัฐวุฒิ เตียวต่อสกุล นักออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งได้ผสานเทคโนโลยีจอทัชสกรีนเข้าไปในผลงานออกแบบก๊อกน้ำ ใช้ชื่อว่า "Rubinet" แม้ว่ารูปทรงจะดูเหมือนกับก๊อกน้ำทั่วไป แต่การเพิ่มจอทัชสกรีนเข้ามาเพื่อให้สามารถเปิดปิดและควบคุมอุณหภูมิน้ำได้โดยไม่ต้องใช้แรง ก็นับเป็นความพยายามที่จะตอบโจทย์งานออกแบบเพื่อให้คนทุกกลุ่มในสังคมสามารถใช้ก๊อกน้ำได้อย่างง่ายดาย

"ผมไม่เคยออกแบบก๊อกน้ำมาก่อนเลยครับ แต่คอนเซ็ปต์ของ UD หรือการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มในสังคม มันน่าสนใจสำหรับผมมาก บางครั้งผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร แต่หน้าที่ของดีไซเนอร์คือการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภค" นายณัฐวุฒิ กล่าวเสริม

ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 2 ประเภท จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท พร้อมทริปท่องเที่ยวและศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น มูลค่า 80,000 บาท

กว่าผู้ชนะเลิศทั้ง 2 คน จะฝ่าด่านมาถึงรอบสุดท้ายของการประกวด Kudos Faucet Design Award 2016 นี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยการคัดเลือกผู้สมัครจากทั่วประเทศเหลือเพียง 30 คนในรอบแรก เพื่อเข้าร่วมเวิร์คช็อปกับดีไซน์กูรูระดับโลกอย่าง มร. ซาโตชิ นาคากาว่า นักออกแบบผลิตภัณฑ์ และผู้ก่อตั้งบริษัท ไตรพอด ดีไซน์ (ประเทศญี่ปุ่น) ผู้ริเริ่มและส่งเสริมแนวคิด Universal Design ให้เป็นที่แพร่หลายในทวีปเอเชีย เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากนั้นจึงคัดเหลือเพียง 6 คนสุดท้ายที่ได้รับการขับเคี่ยวจากเหล่าอาจารย์และนักออกแบบมืออาชีพ ซึ่งได้ให้คำแนะนำในการออกแบบและพัฒนาชิ้นงานที่ตอบโจทย์ UD จนกลายเป็นผลงานขึ้นรูป 3 มิติ อย่างที่เห็นในรอบสุดท้ายนี้

คณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในสายงานออกแบบ อาทิ รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผศ.ดร.พงศ์พันธ์ อนันต์วรณิชย์ หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมด้านการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อาจารย์กิตติเศรษฐ์ เก่งการค้า ผู้จัดการศูนย์นวัตกรรมด้านการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อาจารย์นภกมล ชะนะ ประธานหลักสูตร สาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, อาจารย์ ดร. ไชยพิพัฒน์ ปกป้อง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ดร.เจน ชาญณรงค์ กรรมการบริหาร บริษัท คิว ทู เอส จำกัด และ นายไพบูลย์ เลิศวงศ์กรกิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี.ไอ.ที. จำกัด

"ผมมีความประทับใจกับผลงานของนักออกแบบรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยคุณภาพและไอเดียที่สดใหม่ พวกเขามีความกล้าคิดกล้าทำ ผมเองก็ได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ จากเหล่าผู้เข้าแข่งขันด้วย" ผศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต กล่าว "งานประกวดออกแบบก๊อกน้ำของคูโดสในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะสร้างความตระหนักให้แก่สังคมในประเด็นของ UD ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบของเราทุกคนที่จะช่วยกันสร้างสังคมให้น่าอยู่สำหรับคนทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น ผมหวังว่าการแข่งขันนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักออกแบบรุ่นใหม่ ให้มาสนใจในงานออกแบบผลิตภัณฑ์มากขึ้น และประสบความสำเร็จในเส้นทางสายงานออกแบบในอนาคต"

ในอนาคต ทางคูโดสได้เล็งเห็นโอกาสที่จะทำโครงการต่อยอดกับกลุ่มผู้เข้าประกวดเหล่านี้ โดยเตรียมวางแผนก่อตั้ง KUDOS DESIGN CENTERเพื่อเป็นศูนย์รวมการเรียนรู้สำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ส่งเสริมให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้พัฒนาทักษะร่วมไปกับแบรนด์ พร้อมผลักดันศักยภาพของนักออกแบบให้สร้างสรรค์งานเพื่อผู้อื่นและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ให้ผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง หรือสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์กับสังคมต่อไป

HTML::image( HTML::image( HTML::image(