มรภ.สงขลา พัฒนาศักยภาพท่องเที่ยวชุมชน 5 จว.ชายแดนใต้ เตรียมปั้นเส้นทางใหม่ขายผู้ประกอบการ-ประเทศเพื่อนบ้าน

02 Sep 2016
วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มรภ.สงขลา จัดอบรมพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้ คัด 10 ชุมชนนำร่องโชว์จุดเด่นทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายวัฒนธรรม เตรียมเฟ้นหาเส้นทางท่องเที่ยวแห่งใหม่เสนอขายผู้ประกอบการ ประเทศเพื่อนบ้านดร.ธวัชชัย ศรีพรงาม อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) วิทยาเขตสตูล เปิดเผยถึงกิจกรรมภูมิวัฒนธรรมเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เป็นการจัดอบรมเตรียมความพร้อมชุมชน ในการพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนกับแหล่งท่องเที่ยวหลักของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนเสนอขายเส้นทางท่องเที่ยวให้กับผู้ประกอบการ สื่อมวลชนทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากที่ผ่านมาสถานการณ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนพัฒนาต่อเนื่อง ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ดำเนินโครงการส่งเสริมเทศกาลและกิจกรรมตามภูมิวัฒนธรรมในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน มีชุมชนที่ได้รับคัดเลือก 10 แห่ง ประกอบด้วย จ.สตูล 3 ชุมชน คือ บากันเคย บากันใหญ่ และควนโพธิ์ (พญาบังสา) จ.สงขลา 1 ชุมชน คือ วิถีพุทธคลองแดน จ.ปัตตานี 2 ชุมชน คือ บางปู และทรายขาว จ.ยะลา 2 ชุมชน คือ หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 กับหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 และ จ.นราธิวาส 2 ชุมชน คือ วัดชลธาราสิงเห และหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ให้เป็นที่รู้จักของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
มรภ.สงขลา พัฒนาศักยภาพท่องเที่ยวชุมชน 5 จว.ชายแดนใต้ เตรียมปั้นเส้นทางใหม่ขายผู้ประกอบการ-ประเทศเพื่อนบ้าน

อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มรภ.สงขลา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีจำนวนมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนที่มีศักยภาพซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นที่รู้จักของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวยิ่งขึ้น จึงมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมภูมิวัฒนธรรมเครือข่ายการท่องเที่ยวฯ เพื่อนำเสนอชุมชนท่องเที่ยวแห่งใหม่ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยกระดับชุมชนท่องเที่ยวเดิมเข้าสู่ตลาดการท่องเที่ยวในรูปแบบท่องเที่ยววิถีไทย เพื่อสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยในการจัดกิจกรรมดังกล่าวสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.สตูล ได้เชิญนักวิชาการในสังกัดวิทยาลัยนวัตกรรมฯ นำโดย ดร.นราวดี บัวขวัญ รักษาราชการแทนคณบดีวิทยาลัยฯ พร้อมด้วยคณาจารย์ ดร.วนิดา เพ็ชรลมุล ดร.ทวีสินธุ์ ตั้งเซ่ง เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ และ ดร.ธวัชชัย ศรีพรงาม เป็นทีมวิทยากรกระบวนการ

"พื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเมืองชายแดนที่มีพื้นที่ติดกับประเทศมาเลเซีย มีทรัพยากรท่องเที่ยวที่สำคัญ ประกอบด้วย ทรัพยากรทางธรรมชาติ ได้แก่ พื้นที่ภูเขา ทะเล ที่ราบ พื้นที่ชุ่มน้ำ ทะเลสาบ ป่าพรุ ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นไม่เหมือนกัน นอกจากความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแล้ว ยังมีความหลากหลายของผู้คนที่ประกอบด้วย ไทยพุธ ไทยมุสลิม และไทยจีน ซึ่งมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน ผูกพันเชื่อมโยงวิถีชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ต่างๆ ก่อให้เกิดทรัพยากรทางการท่องเที่ยวในรูปแบบของงานกิจกรรมประเพณีที่น่าสนใจมากมาย" ดร.ธวัชชัย กล่าว

HTML::image( HTML::image( HTML::image(