ตามที่ กรมประมงได้ประกาศให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ไปแล้วทุกลำมายื่นความประสงค์ขอนัดหมายเพื่อรับการตรวจสอบความถูกต้องในการทำประมง ตั้งแต่ 15 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ขณะนี้ (30 สิงหาคม 2559) มีผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ มายื่นความประสงค์ขอรับการตรวจสอบเรือที่ใช้ทำการประมง และเครื่องมือทำการประมง จำนวนทั้งสิ้น 7, 022 ลำ กรมประมงย้ำให้รีบมายื่นแสดงความประสงค์ขอนัดหมาย ณ ท่าเทียบเรือ 22 จังหวัดชายทะเล หรือศูนย์แจ้งเข้า –ออกในจังหวัดนั้นๆ
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมประมง มีประกาศลงวันที่ 4 สิงหาคม 2559 ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ไปแล้วเมื่อ 1 เมษายน 2559 ทุกลำ มายื่นขอนัดหมายเจ้าหน้าที่เพื่อนำเรือและเครื่องมือทำการประมง และอุปกรณ์อื่นๆ ตามที่ระบุไว้ในพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มารับการตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตไว้หรือไม่ โดยตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ ผ่านไปแล้ว 15 วัน ผลปรากฏว่ามีผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์มายื่นขอนัดหมายเจ้าหน้าที่แล้วทั้งหมด 7,022 ลำ แบ่งเป็น เรือ 10 – 30 ตันกรอส จำนวน 3,498 ลำ และ เรือ 30 ตันกรอสขึ้นไป 3,524 ลำ ทั้งนี้ เรือประมงพาณิชย์ที่ผ่านการตรวจโดยกรมประมงเรียบร้อยแล้ว จะได้รับสติ๊กเกอร์ติดไว้เป็นหลักฐานที่ตัวเรือว่าได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว
โดยผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ ขนาด 10 - 30 ตันกรอส สามารถยื่นแบบขอรับการตรวจได้ที่สำนักงานประมงจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเลและสำนักงานประมงอำเภอ ส่วนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ ขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป สามารถยื่นเอกสารแก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออกในจังหวัดนั้นๆ และนัดหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจเรือ โดยการดำเนินการทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่ายแต่ประการใด เพียงแต่ผู้ได้รับใบอนุญาตเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนและนำมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งเอกสารสำคัญประกอบด้วย
1. ใบอนุญาตใช้เรือ: ที่ระบุหมายเลขทะเบียนเรือ ชื่อเรือ ชื่อสกุลเจ้าของเรือ วันหมดอายุ หมายเลขเครื่องยนต์ และยี่ห้อเครื่องยนต์ให้ชัดเจน
2. ใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ต้นฉบับ ที่ได้รับจากกรมประมง ที่ระบุหมายเลขใบอนุญาต ประเภทของเครื่องมือทำการประมง ใบอนุญาตที่ติดภายในเรือประมง พร้อมบัตรอนุญาต เลขที่ QR-Code ซึ่งจะต้องตรงตามใบอนุญาตทำการประมงที่ประมงออกให้ โดย QR-Code ดังกล่าวจะต้องติดไว้กับเรือ
3. เครื่องมือประมง โดยชนิดและจำนวนเครื่องมือต้องถูกต้องตามใบอนุญาต รวมทั้งขนาดของตาอวน ขนาดความยาว ของเครื่องมือต้องเป็นไปตามกฎหมายด้วย
ส่วนในกรณีเรือขึ้นคานหรือไม่ได้ทำการประมง ให้นัดเจ้าหน้าที่ไปตรวจ ณ คานเรือ อู่ต่อเรือ สถานที่ซ่อมบำรุง หรือสถานที่จอดเรือโดยเอกสารสำคัญที่ต้องนำมาแสดงเช่นเดียวกับการตรวจเรือที่ทำการประมง ส่วนกรณีเรือ 30 ตันกรอสขึ้นไป ต้องมีหนังสือยืนยันรับรองการปิดเครื่องติดตามเรือประมงVMS จากกกรมประมง และหากถอดอุปกรณ์ไปแล้วให้นำอุปกรณ์มาให้ตรวจ ส่วนเครื่องมือประมงให้นำภาพถ่ายเครื่องมือมาแสดงด้วย
สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ ที่ไม่นำเรือมาให้ตรวจในเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรนั้น ถือเป็นผู้ไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการ กรมประมงจะออกหนังสือเรียกผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ชี้แจงและนำเรือมาตรวจพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ภายในเวลา 15 วัน นับจากได้หนังสือเรียก ซึ่งหากพ้นกำหนดไม่มารายงานตัว จะมีความผิดมาตรา 162 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 50,000 บาท ถ้าเป็นนิติบุคคลปรับ 100,000 – 1,000,000 บาท ซึ่งจะปรับกับผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ และกรมประมงจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่มีเรือทำประมงจริง จะดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ต่อไป
จึงขอความร่วมมือผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ ให้รีบมายื่นแบบขอรับการตรวจสอบ ภายในระยะเวลาที่กำหนด 15 กันยายน 2559 และนำเรือมาตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตไว้หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการนำสิทธิ์ของท่านไปลักลอบทำการประมงที่ผิดกฎหมาย และเพื่อความมั่นคง ยั่งยืนของทรัพยากรในท้องทะเลไทย
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เฉพาะกิจตรวจเรือประมงพาณิชย์ โทร. 0 2561 1418 หรือ สำนักงานประมงจังหวัดชายทะเล 22 แห่ง หรือwebsite : http ://www.fisheries.go.th/inspector
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit