นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัยในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ นครพนม พิจิตร พังงา ขอนแก่น สระบุรี สิงห์บุรี นครสวรรค์ กำแพงเพชร และอุทัยธานี โดยจังหวัดเลย เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่อำเภอนาทม ประชาชนได้รับผลกระทบ 60 ครัวเรือน นาข้าวเสียหาย 400 ไร่ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร จังหวัดพิจิตร เกิดน้ำท่วมฉันพลันในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทับคร้อ อำเภอโพทะเล และอำเภอดงเจริญ ประชาชนได้รับผลกระทบ 221 ครัวเรือน บ้านเรือนเสียหาย 128 หลัง นาข้าวน้ำท่วม 726 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำยังคงทรงตัวที่ระดับ 30 เซนติเมตร จังหวัดพังงา เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกะปง และอำเภอตะกั่วป่า ปัจจุบันระดับน้ำลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังประมาณ 20 เซนติเมตร จังหวัดขอนแก่น เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอชุมแพ บ้านเรือนเสียหาย 6 หลัง ปัจจุบันระดับน้ำลดลงเหลือประมาณ 10 เซนติเมตร จังหวัดสระบุรี เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอพระพุทธบาท รวม 7 ตำบล ได้แก่ ตำบลธารเกษม ตำบลนายาว ตำบลหนองแก ตำบลเขาวง ตำบลพุกร่าง ตำบลห้วยป่าหวาย และตำบลพุคำจาน ประชาชนได้รับผลกระทบ 115 ครัวเรือน ปัจจุบันน้ำยังคงท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ คาดว่าสถานการณ์ จะเข้าสู่ภาวะปกติในวันนี้จังหวัดสิงห์บุรี เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่การเกษตรอำเภออินทร์บุรี ส่งผลให้นาข้าวได้รับความเสียหาย 500 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลงแล้วจังหวัดนครสวรรค์ เกิดน้ำไหลหลากลงคลองระบายน้ำ ริมถนนสายลาดยาว – หนองเบน ส่งผลให้คลองระบายน้ำเอ่อล้นท่วมถนนในพื้นที่อำเภอลาดยาว ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 2 - 3 วัน จังหวัดกำแพงเพชร เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่การเกษตรของอำเภอขาณุวรลักษบุรี และอำเภอคลองขลุง ประชาชนได้รับผลกระทบ 300 ครัวเรือน ปัจจุบันยังมีน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ลุ่มต่ำของอำเภอขาณุวรลักษบุรี และจังหวัดอุทัยธานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอสว่างอารมณ์ รวม 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลไผ่เขียว ตำบลบ่อยาง ตำบลพลวงสองนาง ตำบลสว่างอารมณ์ และตำบลหนองหลวง บ้านเรือนเสียหาย 122 หลัง พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วม 10,647 ไร่ บ่อปลา 49 บ่อ ถนน 8 สาย ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลงเหลือความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งเร่งตรวจสอบและสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ รวมถึงดำเนินการซ่อมแซมถนนและสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหาย ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ระยะนี้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกและฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดจันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกสะสม ส่งผลให้พื้นดินชุ่มน้ำ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย และดินถล่ม ปภ. จึงได้ประสาน 6 จังหวัดดังกล่าวแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน และพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก พร้อมจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวัง สถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว และเครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันทีที่เกิดสถานการณ์ภัย ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ศูนย์ฯ เขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 76 จังหวัด และสำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัดสาขา 30 สาขาใน 16 จังหวัด หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th