ทั้งนี้ในการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลให้เป็นไปในเชิงรุก สำนักงาน คปภ.ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความรู้ และสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในขณะเดียวกันเลขาธิการคปภ.ในฐานะนายทะเบียนประกันภัยได้อนุมัติแบบกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรให้ได้มากที่สุดอีกด้วย
นอกจากนี้สำนักงานคปภ.ยังได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศ และจัดทำโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง จำนวน 8 ครั้ง ได้แก่ พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี พิษณุโลก เชียงราย และพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แก่วิทยากรเครือข่ายที่เข้ารับการอบรมถึงกว่า 1,500 คน โดยวิทยากรเหล่านี้ได้ขยายผลในการไปถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยข้าวนาปีอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้การประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60 เป็นไปตามเป้าหมายและตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการความเสี่ยงด้านการผลิตผ่านการประกันภัยอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของการรับทำประกันภัยข้าวนาปี เลขาธิการ คปภ. ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ 100/54 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2559 กำชับให้ผู้อำนวยการ คปภ.ภาค/จังหวัด ดำเนินการประสานความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่เพื่อติดตามและส่งเสริมให้เกษตรกรจัดทำประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ไว้
ทั้งนี้จากการดำเนินการในเชิงรุกตามนโยบายของรัฐบาลและจากความร่วมมือระหว่างสำนักงาน คปภ.กับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทำให้ยอดการประกันภัยข้าวนาปีในปีนี้มียอดฉลุย โดยข้อมูลการรับประกันภัยข้าวนาปี ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2559 ปรากฏว่ามีเกษตรกรทำประกันภัยข้าวนาปี รวมทั้งสิ้น 1,508,146 ราย มีพื้นที่เอาประกันภัย จำนวน 26.09 ล้านไร่ รวมค่าเบี้ยประกันภัยกว่า 2,609 ล้านบาท ซึ่งพื้นที่ที่มีการทำประกันภัยข้าวนาปีสูงสุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีการทำประกันภัยข้าวนาปีสูงสุด ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ จังหวัดนครราชสีมา ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีความเชื่อมั่นในระบบประกันภัยมีการทำประกันภัยข้าวนาปีเกินกว่าพื้นที่เป้าหมายที่กำหนด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี สระแก้ว และนครปฐม
"การทำประกันภัยข้าวนาปีในครั้งนี้ แม้ว่าจะยังไม่ทะลุเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ 30 ล้านไร่ โดยคิดเป็นร้อยละ 86.97 ของพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งอาจเป็นเพราะเพิ่งเปิดตัวโครงการไม่นานและมีช่วงระยะเวลาการรับประกันภัยสั้น โดยพบว่าเกษตรกรบางพื้นที่ปลูกข้าวก่อนเริ่มโครงการรับประกันภัยข้าวไปแล้ว แต่ยอดการทำประกันก็สูงถึง 26 เท่า ของการประกันภัยข้าวในปีที่แล้ว โดยเป็นยอดที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทยตั้งแต่มีการรับประกันภัยข้าว จึงนับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง และเป็นการใช้ระบบประกันภัยช่วยเหลือชาวนาในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ จึงต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ และเชื่อว่าในปีต่อไปก็จะมีการปรับปรุงโครงการให้ดียิ่งขึ้นๆต่อไป
อย่างไรก็ตามการที่มีเกษตรกรทำประกันภัยถึงกว่า 1.5 ล้านราย ก็หมายถึงว่าจะต้องเตรียมการรองรับบริการหลังการขาย หรือระบบการเคลมให้กับเกษตรกรเหล่านี้ หากเกิดภัยตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งในส่วนของสำนักงานคปภ.ได้เตรียมการรองรับโดยมีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัยไว้แล้วในส่วนกลาง แต่เกรงว่าจะรองรับไม่เพียงพอจึงได้ประสานงานกับทาง ธ.ก.ส. และสมาคมประกันวินาศภัยไทยให้เตรียมระบบไว้รองรับให้ทั่วถึงในส่วนภูมิภาคด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรที่ทำประกันภัยได้รับความสะดวกและเกิดความเชื่อมั่นในระบบประกันภัย" ดร.สุทธิพล เลขาธิการ คปภ. กล่าวย้ำ
อนึ่งกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) มีอัตราเบี้ยประกันภัย 100 บาทต่อไร่ โดยเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้สามารถซื้อกรมธรรม์นี้ได้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2559 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th