นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยว่า ประเทศไทยต้องพึ่งพาแหล่งทรัพยากรน้ำจากธรรมชาติ โดยเฉพาะฝนซึ่งจะมีปริมาณมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ป่าเป็นที่อุ้มน้ำ เมื่อป่าถูกทำลาย ก็ไม่มีแหล่งต้นน้ำที่จะปล่อยน้ำเข้ามาในแม่น้ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และปี 2559 นี้ มีปัญหาภัยแล้งรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากป่าต้นน้ำที่มีไว้รักษาระบบนิเวศลดน้อยลงอย่างมาก กปภ.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมาผลิตน้ำประปาแจกจ่ายประชาชนทั่วทั้งประเทศ มีความตระหนักถึงวิกฤติการณ์ขาดแคลนทรัพยากรน้ำ จึงได้มีการกำหนดโครงการ กปภ.รักษ์สิ่งแวดล้อมและได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2555 โดยเริ่มจากปลูกจิตสำนึกของพนักงาน กปภ. และชุมชนโดยรอบให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ผืนป่า ทั้งนี้ กปภ.ได้ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวภายใต้แผนปฏิบัติการความรับผิดชอบต่อสังคม โดยในปี 2560 กปภ.ได้เริ่มโครงการ กปภ.ปลูกป่าต้นน้ำเพื่อแผ่นดิน เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถือเป็นโครงการสำคัญโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สร้างการมีส่วนร่วมแบบ "พลังประชารัฐ" ในการลดภาวะโลกร้อนและปลูกป่าต้นน้ำรักษาผืนป่าต้นกำเนิดทรัพยากรน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปี 2564 ปลูกป่า 2,000 ไร่ ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยจะนำร่องปลูกป่าต้นน้ำในปีแรก 500 ไร่ และทยอยปลูกจนครบ 2,000 ไร่ภายในปี 2564นายเสรี ศุภราทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กปภ.ขอเชิญชวนประชาชนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมปลูกป่าในโครงการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการรวมพลังกันแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อคืนความสมดุลสู่ธรรมชาติด้วยการพลิกฟื้นผืนป่าต้นน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit