ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ที่ปรึกษาสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมมือ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย จัดฝึกอบรมการสร้างสื่อดิจิทัลประเภท หนังสั้น ให้กับครู นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนบุคคลที่สนใจ เพื่อพัฒนาทักษะการสร้างสื่อการเรียนรู้ และจัดประกวดชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในปีนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 แล้ว โดยผลงานที่ส่งเข้าประกวด ซึ่งช่วยตอบโจทย์การขาดแคลนสื่อการเรียนรู้ดีๆ สำหรับคนไทย โครงการนี้ยังเป็นการจุดประกายการใช้ ICT ในทางสร้างสรรค์เป็นประโยชน์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทยอีกด้วย
สุพิชฌาย์ ชัยธัมมะปกรณ์ หัวหน้าโครงการฝึกอบรมและประกวดหนังสั้น มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ในปีนี้จัดการอบรม 2 แบบ คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการ มีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 135 คน ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้เทคนิคการสร้างและเล่าเรื่อง การแสดง การถ่ายทำ การใช้มุมกล้องเพื่อสื่อความหมาย การตัดต่อ การเรียงลำดับภาพ ใส่เสียงพากษ์และเสียงประกอบ ครบทุกขั้นตอน จนกระทั่งได้หนังสั้น 1 เรื่องภายในเวลาอบรม 4 วัน ส่วนการอบรมภาคทฤษฎี มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 375 คน เป็นการบรรยายเพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการและขั้นตอนการผลิตหนังสั้น การชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นของตัวอย่างหนังสั้นแต่ละเรื่อง เพื่อผู้เข้าอบรมนำไปปรับใช้ในการผลิตหนังสั้นได้
สำหรับการประกวดหนังสั้น เป็นกิจกรรมต่อเนื่องหลังการฝึกอบรม ในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด 82 ผลงาน ใน 5 หัวข้อเรื่อง ได้แก่ การส่งเสริมการเรียนรู้เท่าทันสื่อ ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดี ต่อต้านการใช้ความรุนแรง ต่อต้านการละเมิดทางเพศ และสื่อสร้างสรรค์สังคม มีผลงานผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ 15 ผลงาน โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านงานตัดสินรางวัลหนังสั้นมาแล้วหลายเวที ประกอบด้วย ผศ.บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ ประธานหลักสูตรมีเดียอาตส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, นิมิต พิพิธกุล กรรมการผู้จัดการMedia at Young Studio ,ปกรณ์ สันติสุนทรกุล ผู้บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์เด็กดีดอทคอม ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และอัศรินทร์ นนทิหทัย หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมสำนักงานอุทยานการเรียนรู้สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล รวมทั้งสิ้น 15 ผลงาน จะได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงพระราชทานแจกจ่ายให้แก่โรงเรียน แหล่งเรียนรู้ หรือทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย
ด.ช.ธนภัทร ศรีมาตร และ ด.ช.ภูมิรพี เรืองศรี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ เจ้าของผลงานเรื่อง "ทุกสิ่งทุกอย่างของลูก" ที่คว้า "รางวัลชนะเลิศ" กล่าวว่านี่เป็นรางวัลแรกในชีวิตที่ได้รับ รู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากที่ผลงานของโรงเรียนตนได้รับรางวัลที่ 1 และหนังสั้นที่ทำนี้จะได้นำไปเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนทั่วไปนางสาวจุฑามาศ บรรจบ คุณครูโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญกล่าวว่า แรงบันดาลใจของนักเรียนที่ผลิตผลงานชิ้นนี้ เกิดจากการเล็งเห็นว่าปัจจุบันยังคงมีภาพความรุนแรงออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวที่เป็นสถาบันแรกที่ใกล้ชิดกับเยาวชน ทำให้ทางโรงเรียนคิดว่าอยากสร้างสื่อที่ทำให้เด็กเห็นว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่สิ่งที่ดี ปลูกฝังไม่ให้ใช้ความรุนแรง รวมถึงผู้ปกครองที่ได้มาดู จะได้ชุกคิดถึงความสำคัญในความรักความเข้าใจของคนในครอบครัวมากขึ้น
"อยากให้โรงเรียนที่ยังลังเล ได้ลองสมัครโครงการนี้ในปีถัดไป เพราะทำให้ส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ให้เด็กๆ แล้ว โครงการนี้ยังมีเวิร์กช็อปที่สอนในรู้ขั้นตอนการสร้างสื่อที่สร้างสรรค์ออกมาด้วย"นายสุริยะ อุส่าห์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียน เจริญศิลป์ศึกษาโพธิ์คำอนุสรณ์ ที่นำ ผลงานเรื่อง "ทองดี" คว้ารางวัล "รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง" เปิดเผยว่าต้องการนำเสนอประเด็นของความเมตตากรุณาต่อเพื่อนร่วมโลกอย่างสัตว์ต่างๆ โดยในเรื่องคือสุนัขเพราะเข้าถึงคนได้ง่าย โดยเป็นเรื่องราวของเด็กผู้ชายหนึ่งคนที่ได้ช่วยเหลือสุนัขจรจัดตัวหนึ่ง แต่คนรอบข้างไม่สนับสนุนไม่เห็นด้วย แต่เขาไม่หยุดที่จะช่วยเหลือสุนัขตัวนั้น และใช้เทคโนโลยี โซเซียลเน็ตเวิร์กให้เป็นประโยชน์ในการระดมทุน อย่างที่ได้เห็นตามโซเซียลมีเดีย
"แนวคิดของผมยึดหลักตามพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแก่นของเรื่อง นั่นคือในเรื่องของการทำความดี ตามที่ว่า "การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญ และไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วงหรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อใดลงมือลงแรงกระทำแล้ว ถึงแม้จะมีใครร่วมมือด้วยหรือไม่ก็ตาม ผลดีจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน..." ซึ่งหนังสั้นนี้ผมอยากสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อเราตั้งใจจะความดีแล้ว จงทำให้ถึงที่สุด ถ้ามันไม่เดือดร้อนเรา ก็ไม่จำเป็นต้องรอคนอื่น"
ด้านนาย วรวิทย์ ไชยวงศ์คต อาจารย์ที่ปรึกษากล่าวว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก ทำให้ผู้ใหญ่ได้เห็นมุมมองของเด็ก จากหนังสั้นแต่เรื่องที่ทำมาสะท้อนให้เห็นว่าเด็กมีมุมมองต่อเรื่องนั้นๆ อย่างไร ซึ่งทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราเองเข้าใจเด็กมากขึ้นด้วย
ขณะที่นายต้น (นามสมมุติ) จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกรุณา ซึ่งคว้า "รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2" จากผลงานเรื่อง "บทเรียนที่ล้ำค่า" กล่าวว่าแนวคิดของหนังสั้นเรื่องนี้เกิดจากการที่ต้องการจะเปิดเผยประสบการณ์ความผิดพลาดและบทเรียนราคาแพงจากการยุ่งเกี่ยวกับสิ่งไม่ดีของเพื่อนๆ ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกรุณาที่ได้กระทำความผิด รวมถึงสะท้อนมุมมองของเด็กที่ทำผิดให้สังคมได้รับรู้ว่าบางครั้งการกระทำความผิดก็เกิดจากความจำเป็น แต่อย่างไรก็ตามการไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งไม่ดีถือว่าดีที่สุด
"ทางศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกรุณา ได้เข้าร่วมโครงการนี้เป็นปีที่สองครับ ปีที่แล้วก็ได้รางวัลรองชนะเลิศเหมือนกัน ถือว่าเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนได้ถ่ายทอดมุมมองที่คิดครับ ต้องขอบคุณคุณครูที่คอยผลักดันและสนับสนุนจนสามารถผลิตผลงานออกมาและทำให้รู้สึกภูมิใจในตนเองครับ"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit