1) นโยบายภาครัฐที่ผลักดันการใช้เอทานอลเพิ่มสูงขึ้นทุกปี: ผ่านการอุดหนุนราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ (ที่มีเอทานอลเป็นส่วนผสม) เพื่อให้โครงสร้างราคาแก๊สโซฮอล์อยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีความได้เปรียบด้านราคาอย่างชัดเจน จนจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันในกลุ่มแก๊สโซฮอล์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศระยะยาวปี 2558-2579 (Oil Plan 2015) ที่กำหนดเป้าหมายการใช้เอทานอลไว้ที่ 11.3 ล้านลิตร/วัน จากปัจจุบันที่ปริมาณการใช้เอทานอลผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.59 ล้านลิตร/วัน (ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559) เพื่อส่งเสริมการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรภายในประเทศและยกระดับรายได้เกษตรกรไทย
2) ความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น: โดยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณการใช้ก๊าซ LPG เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการขับขี่มีแนวโน้มลดลง นับตั้งแต่ราคาน้ำมันในประเทศปรับลดลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก จนทำให้ช่วงห่างระหว่างราคาน้ำมันกับก๊าซ LPG แคบลง ประเด็นนี้จูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมัน เพื่อการขับขี่รถยนต์ส่วนตัวเพื่อเดินทางทำงานหรือท่องเที่ยวมากขึ้น ประกอบกับกลุ่มผู้ใช้ก๊าซ LPG บางส่วน หันมาใช้น้ำมันทดแทน ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายน้ำมัน โดยเฉพาะในกลุ่มแก๊สโซฮอล์ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันในกลุ่มแก๊สโซฮอล์พุ่งไปอยู่ที่ 27.2 ล้านลิตร/วัน (+11.7%) ซึ่งกลุ่มที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มมากที่สุด ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ E10 ออกเทน 95 (+22.5%) รองลงมาคือ E20 (+17.7%) ตามลำดับ สวนทางกับปริมาณการจำหน่ายก๊าซ LPG ที่ลดลงมาอยู่ที่ 4.0 ล้านลิตร/วัน (-16.4%)
หากมองไปในระยะข้างหน้า ด้วยทิศทางราคาน้ำมันที่น่าจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการไว้ว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปี 2559 น่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 41 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ในขณะที่ปี 2560 นั้น ราคาน่าจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 48 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ในประเด็นนี้น่าจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาเติมน้ำมันที่มีราคาต่ำกว่า ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มแก๊สโซฮออล์ที่มีส่วนผสมของเอทานอลในสัดส่วนที่สูง อาทิ E20 หรือ E85 เป็นต้น ดังนั้น จึงคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันในกลุ่มแก๊สโซฮอล์น่าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
3) ปริมาณรถยนต์สะสมที่เพิ่มขึ้น: ปัจจุบันจำนวนรถจดทะเบียนสะสมที่ใช้น้ำมันเบนซิน (แม้ว่าจะจดทะเบียนใช้น้ำมันเบนซิน แต่ก็สามารถเลือกเติมน้ำมันได้ 2 ประเภท ทั้งในกลุ่มน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮออล์) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ย 4-5 แสนคัน/ปี โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 มียอดจดทะเบียนสะสมอยู่ที่ 25.36 ล้านคัน ดังนั้น จากอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถยนต์สะสม ก็เป็นปัจจัยที่บ่งชี้ได้ว่า ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งในส่วนของเบนซินและแก๊สโซฮฮล์ น่าจะมีทิศทางที่ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
จากปัจจัยดังกล่าวในข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปริมาณการใช้เอทานอลในปี 2559 น่าจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไต่ไปอยู่ที่ระดับ 3.7 ล้านลิตร/วัน และมีโอกาสขยับเพิ่มขึ้นเป็น 3.9-4.0 ล้านลิตร/วัน ในปี 2560 ตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น
อนึ่ง ประเด็นที่น่าจับตาในระยะต่อไป คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเกี่ยวกับเชื้อเพลิงของภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่น นโยบายยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ในปี 2561 หลังจากยกเลิกน้ำมันเบนซิน 91 ไปแล้วเมื่อปี 2556 ซึ่งจะทำให้ชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในไทยปรับลดลง และทำให้มีหัวจ่ายน้ำมันว่างและปรับเปลี่ยนไปเป็นหัวจ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 หรือ E85 แทน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความต้องการใช้เอทานอลในประเทศได้เพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อโรงงานผู้ผลิตเอทานอลที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 21 รายรวมกำลังการผลิต 4.44 ล้านลิตร/วัน และที่กำลังก่อสร้างอีก 2 ราย รวมกำลังการผลิต 1.22 ล้านลิตร/วัน โดยหากมีการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ตามแผนที่ได้วางไว้ ก็น่าจะทำให้มีผู้ใช้รถยนต์บางส่วนหันไปเติมแก๊สโซฮอล์ 95 รวมถึง E20 และ E85 เพิ่มขึ้น ตามความสะดวกในการหาสถานีบริการน้ำมัน รวมทั้งแรงจูงใจจากส่วนต่างราคาระหว่างน้ำมันแต่ละประเภท ทั้งนี้ หากผู้บริโภคหันไปใช้แก๊สโซฮอล์ในกลุ่มที่มีสัดส่วนของการผสมเอทานอลในปริมาณสูงอย่าง E85 หรือ E20 มากขึ้น ก็จะทำให้แผนการใช้เอทานอลที่ภาครัฐวางไว้ เข้าใกล้เป้าหมายได้เร็วขึ้น
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ การแข่งขันการพัฒนาเทคโนโลยีในตลาดรถยนต์ เพราะอาจมีผลกระทบต่อความต้องการใช้เอทานอลในอนาคต จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮฮล์เริ่มมีคู่แข่งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล รถยนต์ไฮบริด รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทในตลาดรถยนต์ในอนาคตซึ่งเป็นเทรนด์ทั่วโลก แต่กลุ่มนี้ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการในปัจจุบัน อาทิ ราคารถยนต์ สถานีบริการ ระยะเวลาในการชาร์จไฟฟ้า รวมถึงค่าบำรุงรักษา และฐานลูกค้ายังเป็นกลุ่มเฉพาะ (Niche Market) ทั้งนี้ แม้ว่าเทรนด์รถยนต์ในอนาคต จะไม่ใช่คู่แข่งที่เข้ามาตีตลาดหลักอย่างชัดเจน และส่งผลต่อความต้องการใช้เอทานอลในระยะสั้น แต่หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีจนลดข้อจำกัดต่างๆ ได้ จนทำให้เกิดความนิยมในรถยนต์ประเภทดังกล่าวมากขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่จูงใจให้เกิดการใช้รถยนต์ในกลุ่มนี้มากขึ้น อาทิ มาตรการทางภาษี เป็นต้น ในที่สุดแล้วก็อาจจะกระทบต่อความต้องการใช้เอทานอลในระยะถัดๆ ไป
ภายใต้ความต้องการใช้เอทานอลที่เพิ่มสูงขึ้น
แต่การวางแผนใช้วัตถุดิบอาจส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตของผู้ประกอบการที่แตกต่างกัน
แม้ว่าความต้องการใช้เอทานอลที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลบวกต่อผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการผลิตเอทานอล ในแง่ของการผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดได้ตามความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น แต่ศักยภาพในการเติบโตของผู้ประกอบการแต่ละรายอาจจะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการเลือกใช้วัตถุดิบ กล่าวคือ ปัจจุบันวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเอทานอลของไทย จะใช้กากน้ำตาลเป็นหลัก รองลงมาคือ มันสำปะหลังและน้ำอ้อย ตามลำดับ ทั้งนี้ หากมองแนวโน้มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบต่างๆ เพื่อผลิตเอทานอล จะพบว่า ในระยะสั้นสัดส่วนการใช้กากน้ำตาลเพื่อผลิตเอทานอล มีแนวโน้มปรับลดลง ในขณะที่สัดส่วนการใช้มันสำปะหลังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจาก
กากน้ำตาล ค่อนข้างได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ตามปริมาณผลผลิตอ้อยที่ลดลง และส่งผลให้ราคาปรับเพิ่มสูงขึ้น กดดันผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบกากน้ำตาลและน้ำอ้อยเพื่อการผลิตเอทานอลอยู่ไม่น้อย
ในขณะที่มันสำปะหลัง ก็กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ เนื่องจากตลาดหลักอย่างจีน ลดการนำเข้า จากมาตรการระบายข้าวโพดในสต๊อก กฎระเบียบใหม่ในการนำเข้าของจีนที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงคู่แข่งอย่างเวียดนาม ที่เข้ามาตีตลาด ทำให้การส่งออกมันสำปะหลังของไทย โดยเฉพาะมันเส้นมีแนวโน้มหดตัว แต่ภายใต้ความท้าทายนี้กลับส่งผลดีต่อผู้ผลิตเอทานอลที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบในการผลิตมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องประสบภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ และเกิดความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิต
แม้ว่าสัดส่วนการใช้กากน้ำตาลจะขยับเพิ่มมากขึ้นจากระดับ 64.7 ในปี 2558 มาอยู่ที่ร้อยละ 66.2 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากในช่วงต้นปีเป็นช่วงรอยต่อของฤดูการเก็บเกี่ยวและหีบอ้อย ทำให้มีผลผลิตมากกว่าช่วงอื่นๆ แต่คาดว่า ภายหลังจากที่กากน้ำตาลต้องเผชิญกับผลผลิตที่ลดลงจากภาวะภัยแล้ง ประกอบกับในช่วงปลายปีเมื่อถึงช่วงฤดูเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังออกมา และยอดการส่งออกมันสำปะหลังยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง สัดส่วนการใช้มันสำปะหลังเพี่อการผลิตเอทานอลภายในประเทศ น่าจะมีโอกาสปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2558
ดังนั้น หากวิเคราะห์การแข่งขันในตลาดในระยะสั้น ก็จะพบว่า การวางแผนใช้วัตถุดิบเพื่อการผลิต น่าจะส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการแต่ละรายที่แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ
กลุ่มที่คาดว่าจะมีศักยภาพในการแข่งขันสูง ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตหรือโรงงานที่สามารถปรับเปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิตได้ทั้งสองประเภท ไม่ว่าจะเป็นกากน้ำตาลหรือมันสำปะหลัง เนื่องจากมีความยืดหยุ่นสูงและได้เปรียบด้านวัตถุดิบ กล่าวคือ หากวัตถุดิบอย่างใดอย่างหนึ่งมีราคาต่ำ ก็สามารถปรับเปลี่ยน (Switching) มาใช้วัตถุดิบอีกอย่างหนึ่งทดแทนได้ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงนี้ที่กากน้ำตาลอยู่ในภาวะขาดแคลนและราคาปรับสูงขึ้น ก็สามารถปรับเปลี่ยนมาใช้มันสำปะหลังทดแทน เนื่องจากราคามันสำปะหลังอยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี เครื่องจักรที่ใช้ผลิตและความพร้อมในการจัดหาวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงาน
กลุ่มที่เผชิญความท้าทายด้านการแข่งขัน ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตหรือโรงงานเอทานอลที่ใช้กากน้ำตาล รวมถึงน้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีวัตถุดิบต้นน้ำ (โรงงานน้ำตาล) เป็นของตนเอง ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะต้องประสบกับราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในระยะถัดไป อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มผู้ผลิตหรือโรงงานที่มีสายการผลิตต้นน้ำเป็นของตนเอง ถือว่ายังค่อนข้างได้เปรียบมากกว่า เนื่องจากการตั้งราคามีความยืดหยุ่น
กลุ่มที่คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทในระยะถัดไป ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตหรือโรงงานเอทานอลที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ จะเห็นได้ว่า กลุ่มโรงงานผลิตเอทานอลที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เป็นกลุ่มที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต มีกำลังการผลิตสูงถึง 1.02 ล้านลิตร/วัน ซึ่งคาดว่าเมื่อสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการ น่าจะอยู่ในช่วงราคามันสำปะหลังยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้มีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิต
แต่หากวิเคราะห์ถึงศักยภาพในการแข่งขันในระยะยาวนั้น กลุ่มที่มีศักยภาพในการแข่งขันมากที่สุด ยังคงอยู่ในกลุ่มของผู้ผลิตหรือโรงงานที่มี By Product เป็นของตนเอง (โรงงานน้ำตาล ลานมัน) หรือกลุ่มที่มีทำเลที่ตั้งที่ใกล้แหล่งวัตถุดิบมากที่สุด รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตที่มีการสานสัมพันธ์หรือข้อตกลงทางธุรกิจกับผู้ผลิตกากน้ำตาล หรือมันสำปะหลัง ที่จะสามารถป้อนวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานได้อย่างสม่ำเสมอ เนื่องด้วยในการดำเนินธุรกิจเอทานอลนั้น ต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้น การเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ จะทำให้เกิดความได้เปรียบทางธุรกิจมากกว่า ทั้งในเรื่องต้นทุนการขนส่งที่ต่ำ และลดความเสี่ยงด้านวัตถุดิบที่จะป้อนเข้าสายการผลิต นอกเหนือจากปัจจัยด้านราคาวัตถุดิบที่จะมีผลต่อผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการในระยะสั้น
จะเห็นได้ว่า แม้ว่าราคาวัตถุดิบจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตให้แก่ผู้ผลิตหรือโรงงานเอทานอลที่สามารถปรับเปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิตได้ แต่ความได้เปรียบที่เกิดขึ้นถือเป็นความได้เปรียบในระยะสั้น เพราะหากมองถึงปัจจัยที่สร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันในธุรกิจเอทานอลในระยะยาวแล้ว พบว่า ยังขึ้นอยู่กับการเข้าถึงวัตถุดิบเพื่อรักษากำลังการผลิตให้ได้อย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ
นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว สิ่งที่ต้องติดตามในระยะต่อไปก็คือ การแข่งขันในตลาดที่อาจจะเพิ่มดีกรีความร้อนแรงมากขึ้น จากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ ในขณะเดียวกัน อาจจะต้องติดตามด้วยว่า ในระยะข้างหน้าหากเกิดอุปทานเอทานอลส่วนเกินมาก ผู้ประกอบการและภาครัฐจะผลักดันอุปทานส่วนเกินนี้ไปสู่ตลาดส่งออกหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ ก็กำลังเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการ และภาครัฐก็กำลังอยู่ในช่วงพิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเอทานอลของไทย (อาทิ ปริมาณผลผลิตส่วนเกินของแต่ละบริษัทยังน้อย การนำผลผลิตส่วนเกินเพื่อส่งออกเพียงลำพัง อาจไม่คุ้มกับต้นทุนการบริหารจัดการซึ่งรวมถึงค่าขนส่งและค่าเก็บสินค้ารอจัดส่ง จึงมีแนวคิดในการศึกษาการวมผลผลิตส่วนเกินจากหลายบริษัทเพื่อส่งออกร่วมกัน) ซึ่งหากสำเร็จ ก็คาดว่าน่าจะส่งผลเชิงบวกต่อผู้ประกอบการเอทานอล ที่จะสามารถขยายช่องทางการจำหน่ายไปสู่ตลาดต่างประเทศได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit